ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประมงพื้นบ้านจับมือกับองค์กรแรงงาน เสนอให้รัฐบาลแก้ปัญหาแรงงานประมงที่ยังไม่สามารถแก้ไขเรื่องสิทธิต่างๆ ได้ รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ที่ยังคงมีการใช้อวนลากและเครื่องปั่นไฟในการจับสัตว์น้ำ

เครือข่ายประมงพื้นบ้านร่วมมือกับองค์การภาคประชาสังคมด้านแรงงาน เปิดเผยผลการวิจัย 2 ชุด สะท้อนปัญหาสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมการประมงของไทย พร้อมข้อเสนอให้ภาครัฐและภาคธุรกิจ ร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

งานวิจัยชิ้นแรก รายงานสิทธิแรงงาน พบว่า 1 ใน 5 ของแรงงานบนเรือประมงไทย ทำงานเกิน 14 ชั่งโมงต่อวัน นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงานร้อยละ 92 ทำงานบนเรือยังต้องมาทำงานต่อบนฝั่งอีกราว 5 ชั่วโมงในวันที่นำเรือออก ซึ่งปัญหาดังกล่าว ภาคประชาสังคมมองว่า เป็นช่องโหว่ที่ภาครัฐควรเข้ามาตรวจสอบชั่วโมงการทำงานให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้น 

งานวิจัยยังพบว่า แรงงานร้อยละ 62 ไม่ได้เก็บเอกสารสำคัญหรือพาสปอร์ตไว้ที่ตัวเอง ส่วนใหญ่ถูกนายจ้างหรือนายหน้าเก็บเอาไว้ และบางส่วนไม่ได้รับสำเนาสัญญาการจ้างงานจากนายจ้าง


sds_1.jpg

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN)

สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่า ตามที่เราได้เก็บข้อมูลมาได้เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดต่อสาธารณชน และสื่อมวลชนวันนี้ ล้วนแต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน อาทิ เรื่องเอกสารติดตัว คนงานก็ต้องถือเองเก็บเอง และเรื่องชั่วโมงการทำงาน ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่คนงานยังมีความยากลำบาก และทำงานอย่างหนัก และไม่ได้รับความยุติธรรมเท่าที่ควร รัฐบาลเองต้องฟังเสียงที่เราสะท้อนออกไปวันนี้ และแก้ไขปัญหา เพื่อไปช่วยลดปัญหาภาวะลดหน้าตาของประเทศชาติของเราที่ถูกมองว่ายังเป็นประเทศที่ยังเอารัดเอาเปรียบแรงงานอยู่ ลดสายตาจากต่างประเทศที่มองเราไม่ดี 

สำหรับข้อเสนอที่ต้องให้รัฐบาลรวมถึงภาคเอกชนร่วมกันแก้ไข คือ ออกกฎหมายห้ามการเก็บค่านายหน้าจากแรงงานข้ามชาติ, ปรับปรุงการร้องเรียนจากแรงงานในอุตสาหกรรมประมง, ปรับปรุงเรื่องการสื่อสารกับแรงงาน , ร่วมมือกับประชาสังคมในท้องถิ่นจัดตั้งศูนย์สวัสดิการ , เปิดโอกาสให้ประชาสังคมเข้าสังเกตการณ์งานของหน่วยงานภาครัฐที่ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก และสนับสนุนให้คนงานเข้าถึงกลไกการร้องเรียนรวมถึงมีตัวแทนทางกฎหมาย 

ส่วนงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้น รายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจของการประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยนายบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีการทำประมงด้วยอวนลากและอวนล้อมปั่นไฟกลางคืน สร้างความเสียหายอย่างมากต่อทะเลไทย เพราะอวนทั้ง 2 ประเภทเป็นเครื่องมือหลักในการจับลูกปลาเศรษฐกิจกว่า 74 ชนิด ไปเป็นส่วนประกอบในการผลิตอาหารสัตว์ แทนที่จะปล่อยให้ลูกปลาโตเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่จะมีมูลค่าสูงกว่า 145 ล้านบาท

นอกจากนี้นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ยังมองภาพรวมการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย หรือ IUU ของรัฐบาล น่าจะสำเร็จร้อยละ 50 เท่านั้น เนื่องจากในทางปฏิบัติยังทำไม่ได้จริง 

sdb_1.jpg

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย

ด้าน บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า ยังไม่แน่ใจว่าเราจะได้ใบแดงหรือไม่ เพราะเรายังมีปัญหาที่แก้ไม่ได้ ทั้งเรื่องเรือเถื่อน เรือสวมทะเบียน ฯลฯ ข้อเสนอคือการจะพัฒนาท้องทะเลไทยที่ยั่งยืนมันไม่ใช่แค่การดูแค่เรื่องเรืออย่างเดียว ต้องดูเรื่องพันธุ์สัตว์น้ำ กับเครื่องมือด้วย การคำนวณพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลยังเป็นปัญหา รัฐบาลต้องปรับ 

ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาลบริหารจัดการทรัพยากรทะเลโดยคำนึงถึงสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมถึงเรียกร้องไปยังวงหารือ Seafood Task Force ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ ไม่สนับสนุนธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ปลาบ่น ที่เกิดจากการนำสัตว์น้ำวัยอ่อนที่ติดมากับอวนมาผลิต อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย กล่าวว่า จะนำข้อเสนอทั้งหมดส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี 

 ข่าวเกี่ยวข้อง :