ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อพรรคก้าวไกลเริ่มผลักดันร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททั้งหมดเข้าสู่รัฐสภา พุ่งเป้าไปที่มาตรา 112 ร่างแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 และร่างแก้ไข พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพื่อคุ้มครองและประกันเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนตามหลักการขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กตอบทุกข้อโต้แย้งค้านการยกเลิก มาตรา 112 ในคำถามประเด็นที่ว่า มาตรา 112 ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

'ปิยบุตร' ตอบว่า มาตรา 112 เป็นความผิดทางอาญา คนละเรื่องกับ มาตรา 6 ที่เป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่รับรองสถานะของกษัตริย์ว่า “เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ กษัตริย์ต้องดำรงสถานะเป็นกลางทางการเมือง ไม่ได้ใช้อำนาจบริหารโดยแท้ และไม่ต้องรับผิดชอง แต่มีรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจเป็นคนรับผิดชอบแทน

แนวความคิดแก้ไขมาตรา 112 ได้กลายเป็นกระแสร้อนแรงในทันที แม้แต่ ส.ส.ในพรรคก้าวไกล บางคนยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112

การรณรงค์ให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 เมื่อประชาชนที่เข้าชื่อ จำนวน 26,968 คน ยื่นต่อรัฐสภาเพื่อเสนอให้แก้ไขความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ในมาตรา 112 ตามข้อเสนอของนักวิชาการคณะนิติราษฎร์

กิจกรรมเข้าชื่อเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) เกิดขึ้นภายใต้การขับเคลื่อนของ คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นำโดยนักวิชาการอาวุโส ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ _190816_0014.jpg
  • ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เคยเป็นผู้นำภาคประชาชนผลักดันร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา

เมื่อร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เสนอเข้าสู่รัฐสภา ปลายปี 2555 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรส่งหนังสือลงวันที่ 11 ต.ค. 2555 มายัง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ระบุว่า สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่ ครก.112 นำเสนอเพื่อให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวด้วย หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จึงไม่ใช่กฎหมายที่ประชาชนจะมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอได้ ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ 2550 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่อาจเสนอร่างกฎหมายนี้ให้รัฐสภาพิจารณาได้

ด้าน ยุกติ ย้ำหลังรัฐสภาไม่รับร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาว่า ไม่ได้หมายความว่าเมื่อกฎหมายใดเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์แล้ว จะไม่เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่เสนอต่อประธานรัฐสภานั้น เป็นกฎหมายในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย เพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี ก็เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย

นอกจากนี้ ยังเห็นได้ว่า อัตราโทษของความผิดตามบทบัญญัติในมาตรา 112 ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำอันเป็นความผิด จึงขัดหรือแย้งกับหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักสัดส่วนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 อีกทั้งในแง่การบังคับใช้ ก็ยังพบว่าคดีมาตรา 112 เป็นคดีที่ผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการประกันตัวน้อยกว่าคดีอื่นๆ เป็นกฎหมายที่ถูกนำไปใช้กลั่นแกล้งทางการเมือง ไม่ได้นำกฎหมายไปใช้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง ครก.112 จึงเห็นว่าร่างแก้ไขมาตรา 112 น่าจะแก้ปัญหาได้ และมีเนื้อหาที่เข้ากับหมวด 3 แห่งรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน

เป็นครั้งหนึ่งที่ภาคประชาชนและนักวิชาการเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐสภาแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ยิ่งย้อนไปช่วงปี 2555 ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 112 ไม่ได้ข้ดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  06.jpg

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 28-29/2555 เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2555 คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ขณะนั้น ซึ่งมี วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ เป็นประธาน ได้พิจารณาคำร้องที่ศาลอาญาส่งคำโต้แย้งของจำเลย รวม 2 คำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211

โดยคำร้องที่หนึ่ง พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง สมยศ พฤกษาเกษมสุข เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 มาตรา 59 และมาตรา 112 

ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลอาญาโต้แย้ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บัญญัติให้ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปีนั้นเป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะของการกระทำความผิดคล้ายกับการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326  

อีกทั้งการบัญญัติกฎหมายและกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนไม่สอดคล้องกับหลักพอสมควรแก่เหตุตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และการจัดความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระงอค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้ในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักการบัญญัติกฎหมาย เพราะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงที่เป็นเรื่องกระทบต่อการดำรงอยู่ของราชอาณาจักรหรือประเทศชาติเท่านั้น 

การบัญญัติกฎหมายลักษณะดังกล่าวจึงไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนุญ ขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 พร้อมขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 29 หรือไม่

คำร้องที่สอง พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง เอกชัย หรือเอก หงส์กังวาน เป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และประกอบกิจการจำหน่ายวิดีทัศน์ โดยทำเป็นธุกิจหรือได้ประโยชน์ตอบแทน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาตรา 91 และมาตรา 33 พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวิดีทัศน์ พ.ศ.2551

โดยจำเลยโต้แย้งว่าความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการกำหนดบทลงโทษสูงเกินจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนในการลงโทษ กระทบต่อสิทธิของประชาชน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และอัตราโทษดังกล่าวยังกำหนดไว้เกินกว่าที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 มุ่งหมายที่จะคุ้มครองพระมหากษัตริย์เป็นกรณีพิเศษเพียงผู้เดียว จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ศาลอาญาเห็นว่าคำโต้แย้งของจำเลยทั้งสองคำร้องเป็นกรณีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าวนี้ จึงส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

โดยศาลรัฐธรรมนูญขณะนั้นได้วินิจฉัยประเด็นที่โต้แย้งว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 โดยเห็นว่า "รัฐธรรมนูญ มาตรา 2 เป็นบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป บัญญัติรองรับว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรูปแบบการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยมีมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย

แม้ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใน พ.ศ.2475 มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ จนถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน ก็ยังคงไว้ซึ่งรูปแบบการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ อันแสดงถึงความเคารพยกย่องและเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสูงสุดของปวงชนชาวไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่อง"

"โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) พระประมุของค์ปัจจุบันทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ทรงเยี่ยมเยียนประชาชนและพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในด้านต่างๆ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน"

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ โดยวรรคหนึ่งบัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันที่เป็นเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และวรรคสองบัญญัติว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติรับรองสถานะของพระมหากษัตริย์ว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ และด้วยสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและสถาบันหลักของประเทศ รัฐจึงให้ความคุ้มครองว่า ผู้จะละเมิดกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้

ส่วนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี เป็นบทบัญยัติที่สอดคล้องรองรับให้รัฐธรรมนูญ มาตรา 8 มีผลใช้บังคับอย่างแท้จริง จึงไม่มีมูลกรณีจะอ้างว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 8 ได้

ศาลรัฐธรรมนูญยังตีความว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดการกระทำความผิดและกำหนดอัตราโทษแก่ผู้ที่กระทำการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หากผู้ใดกระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ก็จะต้องได้รับโทษทางอาญา เพระาเหตุแห่งการกระทำนั้น หลักการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติรับรองว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุุข และมาตรา 8 ที่บัญญัติรับรองและคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของรัฐและเป็นสถาบันหลักของประเทศ

"การกำหนดบทลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดจึงเป็นไปเพื่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามหลักนิติธรรม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงเป็นบทบัญญัติที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม มิได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง"

ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นแตกต่างกับมาตรา 326 ที่ว่าด้วยบทบัญญัติการหมิ่นประมาทต่อบุคคลธรรมดา

"เพื่อพิทักษ์ ปกป้องพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชแทนพระองค์ มิให้ถูกล่วงละเมิดโดยการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงควาามอาฆาตมาดร้ายได้โดยง่าย จึงไม่มีการบัญญัติเหตุยกเว้นความผิดหรือยกเว้นโทษไว้ในทำนองเดียวกันกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และมาตรา 330"

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย้ำว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปไม่ได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และไม่ได้กระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 วรรคหนึ่งแต่ประการใด เพราะบุคคลทุกคนยังมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้ภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา  29 และมาตรา 45 วรรคหนึ่งและวรรคสอง

มาตรา 112 สถาบัน 201217_17.jpgมาตรา 112  สยามพารากอน 424.jpg
  • กระแสการณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ในช่วงปลายปี 2563

ปี 2555 รัฐสภาไม่อาจรับร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่ประชาชนจะมีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอได้ ตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญ 2550 

ขณะเดียวกันในปีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า มาตรา 112 ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ปิยบุตร พริษฐ์ ประจักษ์ สมยศ 112 32-F0D8-4A80-A3A6-FE941FB777D6.jpeg

ส่วนปี 2564 การขับเคลื่อนของฝ่ายค้านที่นำโดย 'พรรคก้าวไกล' ก็จะคิกออฟเข้าชื่อกันในฐานะ ส.ส.เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกครั้ง

คณะก้าวหน้าเริ่มการอ่านเกมในรัฐสภาว่าการแก้ไขให้สำเร็จนั้นอาจทำได้ยากยิ่ง แม้ครั้งนี้จะเป็นการผลักดันของผู้แทนราษฎร

แม้แต่ 'ปิยบุตร' ยังย้ำถึงแนวคิดดังกล่าวว่า "สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว เสียงสนับสนุนให้ยกเลิก 112 มีมากกว่าเดิมเยอะ ประชาชนจำนวนมากพร้อมสนับสนุน และ อนาคตของชาติ พร้อมเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้กับ ส.ส."

"ผมทราบดีว่า แม้ ส.ส.จะร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ. ยกเลิก 112 แล้ว ก็อาจต้องใช้เวลานานกว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร อาจเจอกลยุทธ์เตะถ่วงไม่ใช่ญัตติด่วนต้องต่อแถวญัตติอื่นๆจนสภาหมดอายุก็ยังไม่ได้พิจารณา แต่อย่างน้อย การเสนอร่างฯ เข้าไปก่อน ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับการรณรงค์ กดดันต่อเนื่องต่อไป” ปิยบุตร ย้ำทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง