ไม่พบผลการค้นหา
รสนิยมของคอมพิวเตอร์อาจจะกลายเป็นสิ่งที่มนุษย์โปรดปราน เมื่อบริษัทผลิตน้ำหอมยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง ‘ซิมไรส์’ จับมือกับ ‘ไอบีเอ็ม’ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยี และคอมพิวเตอร์ เพื่อร่วมกันสร้างผลิตภัณฑ์น้ำหอมในมิติใหม่ ภายใต้โมเดลการผลิตแบบดิจิทัล

โปรเจกต์ดังกล่าวมีชื่อว่า ‘ฟิไรลา’ (Philyra) ทำงานโดยอาศัยปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์สูตรการปรุงน้ำหอม 1.7 ล้านกลิ่น ซึ่งอิงจากฐานข้อมูลของ ‘ซิมไรส์’ (Symrise) โดยฟิไรลาสามารถปรุงน้ำหอมที่คาดว่าจะได้รับความนิยมในหมู่ลูกค้า แถมยังสามารถออกแบบกลิ่นที่นักปรุงน้ำหอมมืออาชีพไม่คาดคิดมาก่อนได้อีกด้วย 

เอคิม ดอบ (Achim Daub) ประธานบริษัทของซิมไรส์ กล่าวว่า “ศิลปะและวิทยาศาสตร์ในการสร้างสรรค์น้ำหอม เป็นสิ่งที่พวกเราทำมากว่า 200 ปี แต่การเข้ามาของปัญาประดิษฐ์ ทำให้นักปรุงสามารถวิเคราะห์ และมองเห็นความเป็นไปได้ในการปรุงน้ำหอมที่พิเศษราวกับหลุดออกมาจากนวนิยาย”

เริ่มแรกซิมไรส์มอบสูตรการทำน้ำหอมแก่ ‘ไอบีเอ็ม’ (IBM) ซึ่งข้อมูลประกอบด้วย ความนิยมของผู้บริโภค น้ำหอมกลิ่มขายดี แถมซิมไรส์ยังใช้ข้อมูลเพิ่มเติมทางการตลาดที่บันทึกมาก่อนหน้านี้ใส่ลงไปในสมการด้วย เช่น ข้อมูลของผู้บริโภค หรือกลิ่นที่บุคคลแต่ละช่วงอายุชื่นชอบ ทำให้น้ำหอมที่ปัญญาประดิษฐ์ปรุงออกมามีแนวโน้มว่าจะตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น 

“ระบบนี้สามารถเรียนรู้การสร้างน้ำหอมได้ราวกับเด็กฝึกงาน” คือคำนิยาม ‘ฟิไรลา’ จาก ริชาร์ด กู๊ดวิน (Richard Goodwin) นักวิจัยจากไอบีเอ็ม ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าว 

กู๊ดวินกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ฟิไรลาเหมือนกับเด็กฝึกงานที่กำลังเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำความเข้าใจส่วนผสม และวัตถุดิบ มันรู้ว่าอะไรเป็นตัวแทนที่ดีของน้ำมันจากส้ม รู้ว่าเมื่อไรควรจะใส่น้ำมันจากกุหลาบแทนที่เลมอน”

ครั้งหนึ่งฟิไรลาถูกร้องขอให้ปรุงน้ำหอมสำหรับ Boticário บริษัทเครื่องสำอางที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศบราซิล ภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องเป็นกลิ่นที่คนรุ่นมิลเลนเนียลจากแดนแซมบ้าชื่นชอบ 

น้ำหอมที่พัฒนาจากการอัลกอริทึมครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 กลิ่นด้วยกัน เดวิด อาเพล (David Apel) นักปรุงน้ำหอมอาวุโสของซิมไรส์บอกว่า กลิ่นแรกให้ความรู้สึกราวกับอาหารที่แปลกใหม่ หอมอบอวลด้วยเมล็ดลูกซัด เมล็ดแครอท ฝักกระวานสีเขียวที่ห่อหุ้มด้วยนม และเนย 

ขณะที่อีกกลิ่นหนึ่งมีความสดใสจากผลไม้ และดอกไม้ ผสานกับชาหอมหมื่นลี้ (Osmanthus tea) อุดมด้วยลิ้นจี่ และแพทชูรี ซึ่งอาเพลคิดว่าเหมาะกับผู้หญิงมากกว่ากลิ่นแรก แถมยังให้คำนิยามน้ำหอมกลิ่นดังกล่าวว่า บริสุทธิ์ เป็นประกาย และมีชีวิตชีวา

ด้านประธานบริษัทของซิมไรส์บอกว่า น้ำหอมทั้ง 2 กลิ่นได้เสียงตอบรับยอดเยี่ยมในการทดสอบกับกลุ่มเป้าหมาย และยังอยู่ในระดับต้นๆ เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำหอมยี่ห้ออื่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากกลุ่มมิลเลนเนียลของบราซิล

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจในรสนิยมของมนุษย์สำหรับปัญญาประดิษฐ์คล้ายกับดาบสองคม โดยเฉพาะกับนักปรุงน้ำหอมมืออาชีพ แม้กรณีดังกล่าวจะสร้างลูกมือชั้นเยี่ยมแก่อุตสาหกรรมน้ำหอม แต่แนวโน้มที่อาชีพของพวกเขาอาจถูกแย่งชิงคล้ายกับกำลังใกล้เข้ามาเต็มที

แถมประธานบริษัทซิมไรส์ยังสมทบประเด็นด้วยท่าทีไม่สู้ดีนักว่า “เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์กังวลว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาแทนพวกเขา แต่เราไม่ได้บอกว่า พรุ่งนี้ฟิไรลาจะมาแทนที่นักปรุงน้ำหอม ปัญญาประดิษฐ์ไม่ได้เกี่ยวกับการตลาด แต่เป็นความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพ และความเร็วในการทำงานต่างหาก”

ที่มา:

On Being
198Article
0Video
0Blog