ไม่พบผลการค้นหา
ในรอบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสร้อนทางการเมืองที่หนีไม่พ้นคือ กระแสเรียกร้องของพรรคการเมืองไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ปลดล็อกกฎเหล็ก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้

ภายหลัง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2560 

ขณะเดียวกันยังมี ประเด็นร้อนที่ถูกเปิดจาก "วีระ สมความคิด" ถึงยุทธศาสตร์ 2 ขาของ คสช. เพื่อชิงมวลชน ด้วยการเตรียมใช้พรรคพลังชาติไทย เป็นพรรคการเมืองหลักในการดึงอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยมาร่วมสังกัด

กระแสร้อนทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ โดยมี 4 ฉบับที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจะต้องจัดทำส่งสภานิติบัญญัตติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนครบกำหนด 240 วัน หรือภายในวันที่ 4 ธันวาคม 2560

ซึ่งขณะนี้เหลือกฎหมายอีก 2 ฉบับเท่านั้น คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.

หากกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับประกาศใช้ครบทั้งหมด เสียงระฆังเลือกตั้งจะเกิดขึ้นทันทีภายใน 150 วัน

เมื่ออำนาจ ของ คสช.ในการควบคุมการปกครองประเทศกำลังค่อยๆนับถอยหลังลงเรื่อยๆ

ปัจจัยทั้งหมดนี้ จึงนำไปสู่การจุดพลุ "โยนหินถามทาง" หยั่งเสียงอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ผ่านคำถาม 6 ข้อ

ประหนึ่ง เพื่อเลี่ยงกระแสกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ถาโถมเข้าใส่ รัฐบาล คสช.ในช่วงนี้

ประหนึ่ง เพื่อเช็คเสียงของประชาชนด้วยว่าจะเลือกแนวทางการปฏิรูป เดินหน้ายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้มีรัฐบาลที่แตกต่างจากในอดีตหรือไม่

1 ใน 6 คำถามที่เปิดหน้าออกมาตรงๆของ "บิ๊กตู่" คือ คำถามข้อ 2 "การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคการเมืองใด ก็ถือเป็นสิทธิของ คสช.ใช่หรือไม่ ? เพราะนายกฯก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่แล้ว"

เกิดขึ้นภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาปฏิเสธว่าไม่เคยได้ยินชื่อ "กลุ่มพลังชาติไทย"


"ผมไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ถ้าจะมาอ้างว่าทำพรรคเพื่อ คสช. ไม่จำเป็นหรอก พรรค คสช.ไม่มี วันนี้มีหลายพรรค ทั้งจดทะเบียนใหม่ พรรคทางเลือกใหม่ เราต้องให้ประชาชนเลือก อย่าไปส่งเสริมสนับสนุนเดิมๆอยู่ตลอดไป แล้วมันก็จะพันอยู่แบบเดิมๆ"

ยังไม่นับรวมปฏิกิริยาของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้านี้ แม้นายกฯจะประกาศท่าทีจะให้มีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2561

ทว่ากระแสกดดันฝ่ายการเมืองยังคงมีออกมาเรื่อยๆ

ถ้อยคำว่า “ขอให้บ้านเมืองสงบก่อน” ไม่ได้เพิ่งออกมาในช่วงนี้ 

แต่หากเคยออกมาเมื่อครั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพิ่งประกาศใช้

23 พฤษภาคม 2560 “พล.อ.ประยุทธ์” ส่งสัญญาณเตือนทุกฝ่ายว่า 

"ผมบังคับใครไม่ได้ในการเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย ขอร้องว่าอย่ามาอ้างกลับไปกลับมาเสียเวลาเปล่า รัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าอย่างไรก็ว่าตามนั้น ระยะเวลาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องอะไรบ้างก็ยังเป็นไปตามนั้นทุกอย่าง เว้นแต่บ้านเมืองไม่สงบสุข"

31 ตุลาคม 2560 "พล.อ.ประยุทธ์"ประกาศอย่างชัดเจนว่า

“ในฐานะเป็นหัวหน้า คสช.ได้ให้หลักการว่า บ้านเมืองต้องสงบเรียบร้อยปลอดภัยไม่เกิดความวุ่นวายเพราะการเมือง ต้องดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ขอให้เชื่อมั่น ผมรู้และคำนึงถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว ซึ่งก็เห็นอยู่แล้วว่า วันนี้ยังไม่เรียบร้อยยังมีการพูดจาให้ร้ายกันเยอะแยะไปหมด ท่านหยุดสิ เพื่อให้ทุกคนสบายใจ"

6 คำถามล่าสุด ไม่ใช่ "กลยุทธ์ใหม่" ที่ "นายกฯ"เพิ่งโยนขึ้นมา

หากแต่ก่อนหน้านั้น "นายกฯ"ที่มาจากผู้นำคณะรัฐประหารคนนี้ก็เคยใช้มาแล้ว 

โดยเคยโยนหิน 4 คำถามเพื่อวัดเสียงจากประชาชน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 

คำถามข้อ 1 ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่  

ข้อ 2 หากไม่ได้จะทำอย่างไร

ข้อ 3 การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวที่ไม่คำนึงถึงอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ เช่น ประเทศจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้นถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง

ข้อ 4 ท่านคิดว่ากลุ่มการเมืองที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่

คำถาม 4 ข้อเดิมที่เคยถามเมื่อกลางปี 2560 กับ คำถาม 6 ข้อที่กลับมาถามประชาชนอีกครั้งในปลายปี 2560 

ล้วนพุ่งเป้าชกไปที่ นักการเมืองอาชีพหน้าเดิมโดยตรง 

4 คำถามแรก กับ 6 คำถาม ยังหลังล้วนเกี่ยวพันกับ "การเลือกตั้ง"ที่จะเกิดขึ้นในปี 2561

คำถามทั้งหมดนี้ ยังเป็นการถามดังๆไปยังประชาชนว่าจะเห็นด้วยกับนักการเมืองหน้าเก่าให้กลับคืนสู่สนามอีกหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลยุทธ์ 6 คำถามล่าสุดที่เกิดขึ้นนั้น 

เป็นการโยนหินขึ้น ภายหลัง กรุงเทพโพลล์ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,216 คน จากทั่วประเทศในหัวข้อ "ประเมินผลงาน 3 ปี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

ประเด็นร้อนที่กระทบต่อรัฐบาลโดยตรง คือ ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจลดลงทุกด้าน เฉลี่ย 5.27 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 โดยลดลงจากเดิม 0.56 คะแนน

ส่วนผลการปฏิบัติหน้าที่ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชาชนให้คะแนน

ความพึงพอใจเฉลี่ย 7.00 คะแนน ลดลงจากเดิม 0.40 คะแนน โดยมีความพึงพอใจลดลงทุกด้าน เช่นกัน

ผลสำรวจความเห็นดังกล่าว จึงเป็นเสียงสะท้อนที่ดังพอสมควรให้ "คสช."ได้เงี่ยหูฟัง ว่า คะแนนนิยมของรัฐบาล คสช.ในช่วงปีที่ 3 กำลังอยู่ในช่วงขาลง

ช่วงขาลงของรัฐบาล ผนวกกระแสกดดันให้รัฐบาลเร่งจัดการเลือกตั้ง 

ทำให้ "บิ๊กตู่"ต้องงัด 6 คำถามที่มีเนื้อหาคล้ายกับ 4 คำถามแรกขึ้นมาดับกระแสร้อน

เมื่อ คสช.มีสิทธิสนับสนุนพรรคการเมืองใด

พรรคการเมืองนั้น ย่อมหลีกหนีคำว่า "พรรค คสช."ไม่ได้ด้วย

ขณะที่ชื่อของ “พล.อ.ประยุทธ์” ยังถูกคาดหมายว่าจะถูกปูทางให้มาเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัยภายหลังการเลือกตั้ง

6 คำถามดังกล่าว ถือเป็นการทิ้งไพ่ใบสำคัญ  

อีกทั้งยังใช้โอกาสวัดเสียงตอบรับจากประชาชน-นักการเมือง

 ถ้า คสช.จะอยู่เบื้องหลังพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือจะอยู่ยาวในอำนาจผ่านกลไกกติกาของรัฐธรรมนูญ จะยอมรับกันได้หรือไม่

6คำถามดังกล่าวยังเกิดขึ้นในช่วงที่ “มรสุมฝ่ายการเมือง” กดดันให้ ผู้นำคณะรัฐประหาร เร่งคืนประชาธิปไตยโดยเร็ว

เพราะทุกฝ่ายก็คิดไม่ต่างจาก "พล.อ.ประยุทธ์" ที่ระบุในท้ายคำถาม 6 ข้อที่ว่า 

"อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ อยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ"