การประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum (WEF) ที่จัดขึ้น ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 23-26 มกราคม ที่ผ่านมา มีผู้นำทั้งภาคธุรกิจและภาครัฐจากประเทศต่างๆ ต่างเน้นย้ำถึงการจัดการศึกษาสำหรับอนาคต เพราะมีจำเป็นต้องพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่ให้รอบด้าน โดยเฉพาะทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยให้มนุษย์มีความแตกต่างจากหุ่นยนต์ และจะทำให้มนุษย์ก้าวข้ามอุปสรรคในการทำงานในอนาคตได้
ขณะที่ สถาบันโลกศาสตร์แมคคินซี เคยประเมินว่า ภายในปี 2573 หุ่นยนต์จะสามารถทำงานแทนมนุษย์ได้มากถึง 800 ล้านงาน บนเวที WEF ปีนี้ จึงได้มีการพูดถึงการพัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่สำหรับอนาคต
'แจ็ค หม่า' ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ปเน้นย้ำถึงการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กได้มีทักษะที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ โดยเขากล่าวว่า ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการสอนตั้งแต่ตอนนี้ อีก 30 ปีข้างหน้า เราจะพบกับอุปสรรค เพราะความรู้ที่เราสอนกันมา 200 ปี จะใช้ไม่ได้ในรุ่นลูกหลานของเรา พวกเขาจะไม่สามารถแข่งขันกับหุ่นยนต์ได้ เด็กควรได้รับการพัฒนาทักษะที่แตกต่างออกไป เช่น การคิดนอกกรอบ ค่านิยม และการทำงานเป็นทีม
'มิโนเช ชาฟิก' ผู้อำนวยการจาก London School of Economics หรือ LSE สหราชอาณาจักรอังกฤษ ให้เห็นว่า สิ่งใดที่ทำเป็นประจำ หรือทำซ้ำๆ มันจะกลายเป็นหุ่นยนต์อ��ตโนมัติ ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับซอฟท์ สกิล ซึ่งหมายถึงทักษะด้านการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การบริหารอารมณ์ รวมถึงทักษะการค้นคว้าวิจัย ความสามารถในการค้นหาข้อมูล การวิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ รวมไปถึงการคิดที่แตกต่าง
นอกจากนี้เธอยังกล่าวอีกว่า การยกเครื่องระบบการศึกษาสำหรับคนรุ่นใหม่จะเป็นการอุดรอยแตกร้าวที่เกิดขึ้นในสังคมและเป็นเกราะป้องกันให้กับแนวคิดประชานิยม (populism)
"มันไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ประชาชนที่มีการศึกษาระดับต่ำจะลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่เป็นประชานิยม ไม่ใช่เพราะพวกเขาโง่ แต่เพราะพวกเขาฉลาด เพราะพวกเขาได้แสดงความเห็นกับระบบที่พวกเขาไม่ชอบออกมา" ชาฟิกกล่าว
ขณะที่ 'ซีเนส เบอร์กี' นักกิจกรรมผู้ที่มีความผิดปกติทางด้านร่างกายชาวไอริช กล่าวในเวทีส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นอีกเวทีหนึ่งของการประชุมWEFว่า "การศึกษาจะนำพาเราให้หลุดพ้นจากความยากจนและการถูกกดขี่ทางสังคม"
'ฟาบิโอลา เกียนอตติ' นักฟิสิกส์อนุภาคและผู้อำนวยการองค์การเซิร์นกล่าวว่า "เราต้องสร้างวัฒนธรรมการข้ามศาสตร์ หลายคนมักจะจับเอาวิทยาศาตร์และมนุษยศาสตร์ หรือ วิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างความอยากรู้อยากเห็นและความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ให้แสดงออกมาได้อย่างมากที่สุด"
เพราะสำหรับตัวเธอนั้น เคยเป็นเด็กที่มีความอยากรู้อยากเห็นมากๆ และต้องการรู้คำตอบของทุกสิ่ง เช่น จักรวาลมีกลไกการทำงานอย่างไร ขณะที่การเรียนทางด้านมนุษยศาสตร์และดนตรี ก็หล่อหลอมให้เธอเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์ในทุกวันนี้"
ส่วน 'จัสติน ทรูโด' นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่า การศึกษาแบบวิทยาศาสตร์มีส่วนทำให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และหน้าที่นายกรัฐมนตรีของตน ไม่ได้ทำตามคำสั่งที่ถูกเขียนมา แต่การเข้าใจกระบวนการทำงาน และการเข้าใจในพื้นฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญในการทำงานในฐานะนายกรัฐมนตรี
บนเวทีเดียวกันนี้ 'มาลาลา ยูซาฟไซ' นักกิจกรรมชาวปากีสถานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิมาลาลาเน้นย้ำถึงความสำคัญของการให้การศึกษากับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงในสังคม ว่า ฉันไม่สามารถส่งเด็กผู้หญิงทุกคนไปโรงเรียนได้ เพราะมันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือ ฉันจะส่งพวกเค้าไปโรงเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และพยายามเข้าหาผู้คนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ องค์กรของรัฐ เพื่อผลักดันให้พวกเขามาลงทุนกับการศึกษาของผู้หญิง และเพื่อทำให้พวกเขาเหล่านั้นเห็นว่า เขาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งนี้ได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นสื่อนักธุรกิจหรือรัฐบาลก็สามารถที่จะเข้ามาร่วมได้
"มันเป็นความรับผิดชอบที่เราทุกคนต้องตระหนักถึงในการจัดการศึกษาและมาเข้าร่วมเพื่อที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้" ยูซาฟไซ กล่าว
ที่มา 6 quotes from Davos on the future of education
ภาพ - AP