ทันทีที่สัญญาณการเลือกตั้งมีความชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่ได้เห็นกันคือ 'อาการ' ของรัฐบาลที่เริ่ม 'อยู่ไม่ติด' โดยนอกจากจะพยายามวาง 'หมากเกม' ทางการเมืองเพื่อให้ได้ 'แต้มต่อ' ให้ได้มากที่สุดแล้ว ในเรื่องของการขับเคลื่อนนโยบายทางด้านเศรษฐกิจ ก็ล้วนแต่ออกมาตรการเพื่อเรียก 'คะแนนนิยม' แทบทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 'ไทยนิยมยั่งยืน' ภายใต้กลไกกระทรวงมหาดไทย โครงการ 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' ที่ดำเนินการโดยกระทรวงการคลัง โครงการ 'ธงฟ้าประชารัฐ' ของกระทรวงพาณิชย์ โครงการ 'ท่องเที่ยวเมืองรอง' ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของกระทรวงอุตสาหกรรม โครงการ 'เน็ตประชารัฐ' ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ แม้แต่การอุ้มราคาน้ำมันช่วยผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างของทางกระทรวงพลังงาน
นอกจากปัจจัยเร่งจากการเลือกตั้งที่งวดเข้ามาเรื่อย ๆ แล้ว อีกมุมหนึ่ง ก็ต้องบอกว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับภาวะความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ตกอยู่ในห้วงยามของ "สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ" ที่ยืดเยื้อ จนผลกระทบเริ่มลุกลามมาถึงเศรษฐกิจไทย โดยตัวเลขส่งออก ณ เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา หดตัว ติดลบร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 19 เดือน แม้หน่วยงานภาครัฐอย่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะชี้ว่า เป็นผลกระทบในกรณีพิเศษจาก 'ทองคำ' และ 'รถยนต์' ซึ่งไม่เกี่ยวกับสงครามการค้า
อย่างไรก็ดี ทาง สศค. ก็มองว่า ถ้าแนวโน้มสงครามการค้ายังยืดเยื้อไม่จบ ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
ปัจจัยเหล่านี้ ยิ่งทำให้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการอัดฉีดงบประมาณลงสู่ระบบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะให้มีเม็ดเงินลงไปถึงมือชาวบ้านระดับรากหญ้าที่เป็น 'เสียงส่วนใหญ่' ในช่วงไตรมาสสุดท้ายปีนี้ ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกปี 2562
โดยในปีงบประมาณ 2562 นี้ (ต.ค.2561-ก.ย.2562) เป็นปีแรกที่รัฐบาลตั้งวงเงินรายจ่ายประจำปีไว้สูงถึง 3,000,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่า เมื่อย้อนไปดูผลงานการเบิกจ่ายปีงบประมาณ 2561 ที่เพิ่งจบไป ถือว่าเป็นปีที่การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ "ไม่มีประสิทธิภาพ" นัก โดยภาพรวมเบิกจ่ายทำไปได้ร้อยละ 92 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งสิ้น 2,900,000 ล้านบาท เทียบกับปีงบประมาณ 2560 แล้ว ลดลงไปร้อยละ 2.6 และยิ่งดูที่การเบิกจ่ายงบลงทุน พบว่า เบิกจ่ายได้ 373,034 ล้านบาท ของวงเงินรายจ่ายลงทุนทั้งหมด 659,781 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 56.5 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ 2560 ที่เบิกจ่ายได้ร้อยละ 65.9 ถือว่าลดลงไปถึงร้อยละ 9.4
ไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 ต้องเบิกจ่ายให้ได้เดือนละ 9 แสนล้านบาท
'เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา' ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า ปีที่ผ่านมา ส่วนราชการที่เบิกจ่ายล่าช้ายังอ้างถึงพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐว่ามีผลกระทบ แต่ถึงตอนนี้ ต้องถือว่ากฎหมายดังกล่าวบังคับใช้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ทุกหน่วยงานจึงน่าจะปรับตัว เข้าใจกระบวนการรายละเอียดมากขึ้น และน่าจะเร่งรัดเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมาย ประกอบกับคาดว่าในปีงบประมาณนี้ ร่าง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ได้ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว น่าจะมีผลบังคับใช้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งจะส่งให้ทุกส่วนราชการจะต้องเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้หมดภายในปีงบประมาณ ไม่สามารถกันเงินไปเบิกเหลื่อมปีได้ และหากโครงการไหนใช้เงินไม่หมดก็จะถูกพับไป
ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ย้ำว่า รัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรก (ต.ค.-ธ.ค. 2561) ให้ได้ราวร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้งหมด 3,000,000 ล้านบาท หรือตกเดือนละประมาณ 9 แสนล้านบาท ในภาพรวมทั้งรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน
ขณะที่ ในไตรมาส 2 (ม.ค.-มี.ค. 2562) ตั้งเป้าเบิกจ่ายให้ได้อีกร้อยละ 25 ดังนั้นช่วง 6 เดือนแรก เป้าหมายเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมจึงอยู่ที่ราว 1,500,000 ล้านบาท
โดยในส่วนของรายจ่ายลงทุนนั้น ในปีนี้มีวงเงินรวมกว่า 6 แสนล้านบาท ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ บอกว่า ก็จะต้องพยายามเร่งรัดเบิกจ่ายให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะที่เป็นรายการงบประมาณปีเดียว วงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีจะมีวงเงินงบประมาณส่วนนี้กว่า 200,000 ล้านบาท
"ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ (ต.ค.2561-มี.ค.2562) ควรมีการเบิกจ่ายให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 โดยถ้าเป็นรายจ่ายลงทุนก็ต้องเร่งจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก" ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณระบุ
กรมบัญชีกลางซักซ้อมข้าราชการเร่งรัดจัดหาพัสดุ
ด้าน 'ญาณี แสงศรีจันทร์' โฆษกกรมบัญชีกลาง บอกว่า ในปีงบประมาณ 2562 กรมบัญชีกลางได้เร่งทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง และคล่องตัวขึ้น ทั้งนี้ ได้มีการซ้อมความเข้าใจและกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อเร่งรัดจัดการหาพัสดุฯ ไปแล้วก่อนที่กฎหมายงบประมาณประจำปีจะผ่าน สนช.
"หากหน่วยงานสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างได้ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ จะช่วยให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้ ทางกรมบัญชีกลางจะให้แต่ละหน่วยงานตั้งคณะทำงานดูแล ติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน และแจ้งปัญหาอุปสรรค เพื่อให้สามารถแก้ไขได้อย่างทันท่วงที" โฆษกกรมบัญชีกลางกล่าว
'วโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล' ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า สศค. ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจไทยปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.3-4.7 ต่อปี ซึ่งได้ปรับสมมติฐานด้านการเบิกจ่าย โดยปรับลดคาดการณ์เบิกจ่ายลงทุนภาครัฐลงเหลือขยายตัวที่ร้อยละ 5.6 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.9 เนื่องจากเม็ดเงินรายจ่ายลงทุนมีการเบิกจ่ายได้ต่ำกว่าที่คาดไว้ รวมถึงการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจก็ออกมาต่ำกว่าคาดเช่นกัน
ดังนั้น จากภาพทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า สถานการณ์เบิกจ่ายภาครัฐ แทนที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเหมือนที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนในทางปฏิบัติจะไม่เป็นอย่างที่รัฐบาลตั้งไว้ ดังนั้นหลังจากนี้ คงได้เห็นกุนซือเศรษฐกิจ อย่าง 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' ออกมา 'ตีปี๊บ' กระตุ้นให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายอย่างเต็มที่
เหมือนอย่างที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ 'สมคิด' เพิ่งเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงการคลัง เพื่อสั่งการให้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ ในช่วงโค้งสุดท้ายนี้ อาทิ สั่งให้กรมบัญชีกลางเพิ่มงบประมาณดูแลคนชรา ผ่าน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' โดยมีการระบุว่า ให้กันงบประมาณเพิ่มเป็นพิเศษในปี 2562 เพื่อให้กองทุนมีเงินเพิ่มเป็นระดับ 100,000 ล้านบาท
ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจ หากจะเห็นว่า โครงการที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญ เร่งรัดเบิกจ่าย จะเป็นบรรดาโครงการที่จะช่วยให้มีเม็ดเงินสะพัดลงไปสู่ 'รากหญ้า' อย่างพวกโครงการในตระกูล 'ประชารัฐ' ทั้งหลาย ซึ่งจะถูกเน้นย้ำมากขึ้นนับจากนี้