คาร์ลอส รามอส ผู้ตัดสินหรือแชร์อัมไพร์ในการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลม ยูเอสโอเพน รอบชิงชนะเลิศหญิงเดี่ยว ซึ่งจัดขึ้นที่นครนิวยอร์กในสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ให้สัมภาษณ์กับสื่อโปรตุเกสเป็นแห่งแรก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. โดยยอมรับว่าเขาต้องหลีกเลี่ยงการเดินในที่สาธารณะหลังการแข่งขันนัดสุดท้ายของยูเอสโอเพ่น เพราะเกรงจะเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากที่เขาตักเตือนเซเรนา วิลเลียมส์ นักเทนนิสชื่อดัง มือวางอันดับ 16 และอดีตแชมป์แกรนด์สแลมยูเอสโอเพ่นหลายสมัย ฐานละเมิดกฎระหว่างการแข่งขัน ทั้งยังตัดแต้มและสั่งปรับเงิน 17,000 ดอลลาร์ หลังจากเธอกล่าวว่าเขา 'โกหก' เพราะเตือนว่าเธอและโค้ชละเมิดกฎที่ส่งสัญญาณในระหว่างแข่งขัน
อย่างไรก็ตาม รามอสยืนยันว่าเขายังสบายดี และในวันศุกร์ 14 ก.ย.ที่จะถึงนี้ เขาจะปฏิบัติหน้าที่แชร์อัมไพร์อีกครั้งหนึ่งในการแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพที่เมืองซาดาร์ ประเทศโครเอเชีย เพื่อดูแลการแข่งขันระหว่างนักเทนนิสสหรัฐฯ และโครเอเชีย
เว็บไซต์เทเลกราฟ สื่ออังกฤษ รายงานว่าสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ITF) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 10 ก.ย. สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของรามอสในการแข่งขันนัดดังกล่าว โดยระบุว่าเขารับมือได้ดีและน่าประทับใจ แม้ว่าสถานการณ์รอบด้านจะเป็นเรื่องที่น่าลำบากใจ เนื่องจากเซเรนายังกล่าวหาว่าเขาเป็น 'ขโมย' อีกด้วย หลังจากที่ตัดแต้มของเธอไป ทั้งยังย้ำอีกหลายครั้งว่ารามอสจะต้องเป็นฝ่ายขอโทษเธอ
ขณะที่ 'นาโอมิ โอซากา' นักเทนนิสหญิงวัย 20 ปี เชื้อสายญี่ปุ่น-เฮติ ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ชนะการแข่งขันแกรนด์สแลม ยูเอส โอเพน แถลงรับถ้วยรางวัลพร้อมกับร้องไห้ไปด้วย โดยเธอระบุว่า การแข่งกับเซเรนาเป็นความฝันของเธอมาตลอด วันนี้ทำได้สำเร็จก็ดีใจมาก แต่ก็รู้ดีว่า แฟนๆ จำนวนมากมาที่นี่เพื่อดูการเล่นของเซเรนา เธอรู้สึกเสียใจและขอโทษที่การแข่งขันจบลงในรูปแบบนี้
"กฎต้องเป็นกฎ"
แม้ว่าสหพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ITF) ซึ่งเป็นต้นสังกัด จะแถลงสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคาร์ลอส รามอส แต่แคทรินา อดัมส์ ประธานสมาคมเทนนิสแห่งสหรัฐฯ (USTA) และ สตีฟ ไซมอน ประธานสมาคมนักเทนนิสหญิงแห่งสหรัฐฯ (WTA) ให้สัมภาษณ์โจมตีการทำหน้าที่ของรามอสในนัดชิงแกรนด์สแลมว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่มีความคิด 'เหยียดเพศ' เพราะถ้านักเทนนิสชายทำแบบเดียวกันก็คงจะไม่โดนเหมือนเซเรนา
ก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ก่อนแล้วว่าผู้เกี่ยวข้องกับวงการเทนนิสส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติกับนักเทนนิสหญิง เช่น เซเรนา เคยถูกห้ามใส่ชุดแข่งขันที่เป็นกางเกงแนบเนื้อขายาวในการแข่งขันเทนนิสเฟรนช์โอเพ่น เพราะไม่เหมาะสม ทำให้เธอประชดด้วยการนุ่งกระโปรงบัลเลต์ในการแข่งขันยูเอสโอเพ่น
ส่วนอลิส คอร์เน็ต นักเทนนิสหญิงอีกรายหนึ่ง ถูกเตือนว่าละเมิดกฎเพราะเปลี่ยนเสื้อข้างสนาม แต่นักเทนนิสชายไม่เคยโดนตักเตือนด้วยเรื่องนี้
ยูเอสเอทูเดย์ สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่า การเลือกปฏิบัติต่อนักเทนนิสหญิงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงการแข่งขันระดับโลก แต่กรณีของคาร์ลอส รามอส อาจจะเป็นคนละเรื่องกัน เพราะสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นการปฏิบัติตามกฎจริงๆ พร้อมระบุว่า ต่อให้เป็นนักเทนนิสชายก็อาจจะโดนรามอสตัดสินไม่ต่างจากเซเรนา
แชร์อัมไพร์อาจโดดเดี่ยวกว่าที่คิด
สื่อสหรัฐฯ เผยสถิติว่า ที่ผ่านมา รามอสเป็นแชร์อัมไพร์ในการแข่งขันหลายนัด และเขาได้ตักเตือนนักเทนนิสชายที่ละเมิดกฎด้วยมาตรฐานเดียวกัน โดยการแข่งขันเฟรนช์โอเพนในปี 2560 รามอสเคยตัดสินว่า ราฟาเอล นาดาล ละเมิดกฎ เพราะถ่วงเวลา
ครั้งนั้น นาดาลได้ตอบโต้รามอส (แบบเดียวกับเซเรนา) ด้วยการกล่าวว่า รามอสจะไม่มีวันได้เป็นกรรมการตัดสินการแข่งขันนัดที่เขาเป็นผู้เล่นอีก
ครั้งล่าสุด คือ การแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รามอสตัดสินว่า โนวัค ยอโควิช ละเมิดกฎระหว่างการแข่งขัน เพราะแสดงกิริยาไม่สมกับเป็นนักกีฬา หลังจากที่เขาขว้างแร็กแก็ตลงกับพื้น และยอโควิชเป็นคนหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรามอสและวิลเลียมส์ โดยระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และเขาเข้าใจเซเรนาที่เผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันรอบชิง และคำตัดสินของรามอสส่งผลให้บรรยากาศของเกมเปลี่ยนไป แต่ก็กล่าวทิ้งท้ายว่า เขาเข้าใจว่าผู้ตัดสินก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองเช่นกัน
นอกจากนี้ แม้รามอสจะถูกผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ทั่วโลกประณาม แต่ผู้ตัดสินที่เป็นเพื่อนร่วมงานใน ITF อีกหลายคนได้ร่วมกันส่งกำลังใจ และประกาศสนับสนุนการทำหน้าที่ของรามอส โดยมีบางรายระบุว่า ตำแหน่งผู้ตัดสินการแข่งขันไม่ได้รับการสนับสนุนหรือคุ้มครองอย่างใดเป็นพิเศษจากต้นสังกัด เพราะกว่า ITF จะมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการก็ผ่านไปแล้วเกือบ 48 ชั่วโมง
อีกทั้งที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีการอนุญาตให้จัดตั้งสหภาพแรงงานกลางของกลุ่มผู้ตัดสิน จึงแทบจะไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้ดำรงตำแหน่งนี้อย่างแท้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง