โครงการหอจดหมายเหตุของมาร์เกซดำเนินการโดย ‘แฮร์รี แรนสัม เซ็นเตอร์ (Harry Ransom Center)’ หน่วยงานรวบรวมเอกสารหายาก วรรณคดี และผลงานศิลปวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน สหรัฐฯ โดยเก็บคอลเลกชันสุดพิเศษของมาร์เกซทั้งที่เป็นเอกสาร นวนิยายต้นฉบับ สมุดบันทึก ไดอารีส่วนตัว บทภาพยนตร์ และรูปถ่าย รวมแล้วมากกว่า 27,000 ชิ้น
หลังจากมาร์เกซ นักประพันธ์โคลอมเบีย ผู้โด่งดังด้วยผลงานนวนิยายชิ้นเอกแห่งศตวรรษที่ 20 ‘หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude)’ เสียชีวิตลงเมื่อเดือนเมษายน 2014 ด้วยวัย 87 ปี การจัดซื้อคลังข้อมูลราคากว่า 2.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ก็เกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน โดยทางครอบครัวของมาร์เกซตัดสินใจขายให้กับมหาวิทยาลัยเท็กซัส ออสติน เพื่อนำไปสร้างเป็นหอจดหมายเหตุ จนทำให้ ‘มาเรียนา การ์เซส (Mariana Garces)’ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศโคลอมเบีย ออกมากล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวเป็นความสูญเสียของโคลอมเบีย แต่ทางด้านครอบครัวของนักเขียนดังได้ตอบโต้กลับไปว่า เพราะรัฐบาลโคลอมเบียไม่ได้เข้าหาพวกเขา
นอกจากนั้น หอจดหมายเหตุยังรวบรวมผลงานที่ไม่เคยเผยแพร่มาก่อน เช่น ข้อความ 32 หน้า ของนวนิยายขนาดสั้นที่ยังไม่เคยตีพิมพ์จวบจนปัจจุบัน แต่ตอนนี้ทุกคนสามารถค้นหาข้อมูลดังกล่าวทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาสเปน บนเว็บไซต์ www.hrc.utexas.edu ได้จากทุกมุมโลกที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
"มารดา พี่ชาย และตัวผมเอง มุ่งมั่นที่จะเก็บรักษาข้อมูลของบิดา เพื่อให้ผู้คนเข้าถึงได้มากที่สุด และโครงการนี้ทำให้ผลงานของบิดาสามารถเข้าถึงชุมชน นักศึกษา และนักวิชาการทั่วโลก ได้กว้างขวางมากขึ้น" ร็อดริโก การ์เซีย บุตรชายของมาร์เกซกล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ‘จูลเซียน บาลโล (Julcianne Ballou)’ บรรณารักษ์ผู้ดูแลโครงการมานานกว่า 18 เดือน กล่าวว่า "เนื้อหาที่เก็บรวบรวมไว้สะท้อนให้เห็นพลัง และวินัยของมาร์เกซ พร้อมกับเปิดเผยมุมมองที่สนิทสนมกับครอบครัว มิตรภาพ และการเมืองของเขา”
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของมาร์เกซที่นำมาเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของผลงานที่เขาสร้างสรรค์มาทั้งชีวิตเท่านั้น เพราะผลงานบางส่วนยังอยู่ภายใต้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ และปัจจุบันทางแฮร์รี แรนสัม เซ็นเตอร์ ยังไม่มีแผนที่จะแปลงผลงานเหล่านั้นเป็นไฟล์ดิจิทัล
ที่มา AFP