ไม่พบผลการค้นหา
ปรากฎการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นช่วงหลังเที่ยงคืน 27 ก.ค. ถึงรุ่งเช้า 28 ก.ค. ทั้งยังเป็นช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ไกลจากโลกมากที่สุดในรอบปี และคราสจะเต็มดวงนานเกือบ 2 ชั่วโมง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ชวนชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ค.นี้ โดยระบุว่าจะมี 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สำคัญเกิดขึ้น ได้แก่ (1.) ดาวอังคารอยู่ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (2.) จันทรุปราคาเต็มดวงนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และ (3.) ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปี 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. เปิดเผยว่า ช่วงหลังเที่ยงคืนวันที่ 27 ก.ค. จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 28 ก.ค. 2561 ดาวอังคารจะอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ ที่ระยะห่าง 57.8 ล้านกิโลเมตร และจะมองเห็นดาวอังคารสีส้มแดงสุกสว่างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และมีขนาดใหญ่กว่าปกติ สามารถสังเกตด้วยตาเปล่าได้ตลอดคืน

ขณะที่จันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงหลังเที่ยงคืนของวันที่ 27 ก.ค. คราสจะเต็มดวงกินเวลา 1 ชั่วโมง 43 นาที เมื่อเวลา 02.30 – 04.13 น. นับเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงที่ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 และดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 406,086 กิโลเมตร

ในขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ผู้รอชมจึงจะเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงที่ดวงจันทร์มีขนาดเล็กที่สุดในรอบปี และยังจะเห็น 'ดาวอังคารสีแดง เคียงดวงจันทร์สีแดง' ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

ขณะที่ สดร. จะจัดถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ที่ www.facebook.com/NARITpage ตั้งแต่เวลา 00.14 น.เป็นต้นไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: