ไม่พบผลการค้นหา
นิด้าโพล เผยผลสำรวจประชาชนในวาระครบรอบ 4 ปี ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พบว่าส่วนใหญ่ระบุนายกฯ ทำงานค่อนข้างดี แต่ยังแก้เรื่องเศรษฐกิจไม่ได้ อีกทั้งรัฐบาลยังไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เนื่องในการทำงานครบรอบ 4 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล”สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “4 ปี ของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา”ทำการสำรวจความพึงพอใจต่อการทำงานของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและคณะรัฐมนตรี            

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการดำรงตำแหน่งครบ 4 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชน ร้อยละ 22.15 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ดีมาก เพราะ มีการแก้ไขปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานได้ดี มุ่งหวังพัฒนาประเทศ และพร้อมจะช่วยเหลือประชาชน ขณะที่บางส่วนระบุว่า มีผลงานหลายอย่างที่ประสบความสำเร็จและเห็นเป็นรูปธรรม เช่น บ้านเมืองสงบเรียบร้อยขึ้น ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนร้อยละ 48.96 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯได้ค่อนข้างดี เพราะ มีความชัดเจนในการบริหาร มีนโยบายช่วยเหลือประชาชน เอาจริงเอาจังและมีความเป็นผู้นำ ขณะที่บางส่วนระบุว่า ทำงานดี บริหารบ้านเมืองได้ดี ไม่วุ่นวาย สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งลงได้ ในขณะที่ร้อยละ 18.28 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่ค่อยดี เพราะ การทำงานยังมีจุดบกพร่อง เศรษฐกิจไม่ดี ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ รัฐบาลไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และมีการปกป้องพวกพ้อง ร้อยละ 9.53 ระบุว่า ทำงานในตำแหน่งนายกฯ ได้ ไม่ดีเลย เพราะ บ้านเมืองยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การบริหารงานต่าง ๆ ล่าช้า ไม่สามารถทำตามโรดแมปได้ มีการเลือกพวกพ้อง ไม่มีความเสมอภาค และเศรษฐกิจย่ำแย่ และร้อยละ 1.08 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า เมื่อรวมสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ทำงานได้ค่อนข้างดีและดีมาก พบว่า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ทำงานได้ไม่ค่อยดี จนถึงระดับไม่ดีเลย มีสัดส่วนลดลง  

เมื่อถามถึงลักษณะการทำงานในรอบ 4 ปี ของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในด้านต่าง ๆ พบว่า ด้านอุดมการณ์ในการทำงานของพล.อ.ประยุทธ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.46 ระบุว่า มีอุดมการณ์และความตั้งใจทำงานเพื่อชาติและประชาชน รองลงมา ร้อยละ 18.90 ระบุว่า ไม่มีอุดมการณ์ คิดแต่จะทำงานเพื่อรักษาอำนาจของตนเองและ คสช. เท่านั้น และร้อยละ 3.64 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือน ก.พ. 2561 พบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ ระบุว่า มีอุดมการณ์เพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีอุดมการณ์ มีสัดส่วนลดลง

ด้านความกล้าตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.61 ระบุว่า มีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ ขณะที่ ร้อยละ 19.60 ระบุว่า ไม่มีความกล้าตัดสินใจในประเด็นทางการเมืองและการบริหารที่สำคัญ และร้อยละ 2.79 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือน ก.พ. 2561 พบว่า มีสัดส่วนของ ผู้ที่ระบุว่า มีความกล้าตัดสินใจเพิ่มขึ้น ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า ไม่มีความกล้าตัดสินใจ มีสัดส่วนลดลง

ด้านบุคลิกภาพผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.52 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหาร รองลงมา ร้อยละ 15.10 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตย ร้อยละ 8.29 ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบก้ำกึ่ง ทั้งผู้นำ แบบประชาธิปไตยและผู้นำแบบทหาร และร้อยละ 2.09 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบทหารมีสัดส่วนลดลง ซึ่งในขณะที่ผู้ที่ระบุว่า มีบุคลิกภาพผู้นำแบบประชาธิปไตย  และมีบุคลิกภาพผู้นำแบบก้ำกึ่ง ทั้งผู้นำแบบประชาธิปไตยและผู้นำแบบทหาร มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ด้านประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.93 ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ ขณะที่ ร้อยละ 29.13 ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศ และร้อยละ 2.94 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 พบว่า มีสัดส่วนของ ผู้ที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า ไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน มีสัดส่วนลดลง

ด้านความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในการทำงานของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.19 ระบุว่า การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ขณะที่ ร้อยละ 29.28 ระบุว่า การทำงานไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และร้อยละ 10.53 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในเดือน ก.พ. 2561 พบว่า มีสัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า การทำงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่ระบุว่า การทำงานไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ มีสัดส่วนลดลง

ข้อเสนอแนะที่อยากให้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดิน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 36.48 ระบุว่าเป็นเรื่อง เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ปัญหาปากท้อง ความเป็นอยู่ หนี้สินของประชาชน และราคาพืชผลทางการเกษตร รองลงมา ร้อยละ 16.20 ระบุว่าเป็นเรื่อง การทำงานของภาครัฐ มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมาภิบาลและมีกลไกป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ร้อยละ 9.91 ระบุว่าเป็นเรื่อง การให้บริการของภาครัฐ ต้องสะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ชีวิตประชาชน ร้อยละ 4.03 ระบุว่าเป็นเรื่อง การปลดล็อคทางการเมือง จัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ร้อยละ 3.10 ระบุว่าเป็นเรื่อง ระบบบริหารงานบุคคลที่สามารถดึงดูด สร้างและรักษาคนดีคนเก่งไว้ในภาครัฐได้ ร้อยละ 2.71 ระบุว่าเป็นเรื่อง โครงสร้างภาครัฐกะทัดรัด ปรับตัวได้เร็วและระบบงานมีผลสัมฤทธิ์สูง ร้อยละ 2.09 ระบุว่าเป็นเรื่อง ระบบข้อมูลภาครัฐมีมาตรฐาน ทันสมัย และเชื่อมโยงกัน ก้าวสู่รัฐบาลดิจิทัล ร้อยละ 1.55 ระบุว่าเป็นเรื่อง กำลังคนภาครัฐมีขนาดที่เหมาะสมและมีสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ร้อยละ 5.34 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การคมนาคม การส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ การบังคับใช้กฎหมาย การปฎิรูปองค์กรตำรวจและองค์กรส่วนท้องถิ่น ขณะที่บางส่วนระบุว่า การพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ และร้อยละ 18.59 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ   

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความประทับใจในการทำงานของคณะรัฐมนตรี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 5 อันดับแรก พบว่า อันดับ 1 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.88 ระบุว่า ประทับใจในการทำงานของ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 48.80 ระบุว่าเป็น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 3 ร้อยละ 48.49 ระบุว่าเป็น นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อันดับ 4 ร้อยละ 47.02 ระบุว่าเป็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และร้อยละ 46.09 ระบุว่าเป็น พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน