ไม่พบผลการค้นหา
กรมปศุสัตว์ เปิดศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ที่ จ.มุกดาหาร ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หลังเป็น 1 ใน 16 จังหวัดเสี่ยงสูงต่อการระบาดโรคเข้าประเทศ

ที่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 ตำบลบางทรายใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เป็นประธานพิธีส่งมอบและเปิดศูนย์อำนวยความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ตามโครงการความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ

ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า จ.มุกดาหาร เมืองชายแดนริมฝั่งแม่น้ำโขง เป็นประตูสู่อินโดจีน โดยมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2 มุกดาหาร-สะหวันนะเขต เชื่อมระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว มีพื้นที่ทั้งหมด 4,407ตารางกิโลเมตร มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศ ความยาวประมาณ 72 กิโลเมตร มีอำเภอชายแดน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองมุกดาหาร อำเภอหว้านใหญ่ และอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงสุกรประมาณ 60,000 ตัว การเลี้ยงสุกรมีทั้งระบบปิด ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการเลี้ยงสุกรที่ดี จากกรมปศุสัตว์ และการเลี้ยงสุกรระบบเปิด ของเกษตรกรรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค เนื่องจากระบบการจัดการและการป้องกันโรคยังไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งหากเกิดการระบาดของโรค จะสร้างความเสียหายมูลค่าหลายสิบล้านบาท

จากการรายงานของปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เป็นหนึ่งใน 16 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดของโรคเข้าประเทศ กรมปศุสัตว์ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้เลือกจังหวัดมุกดาหาร ในการก่อสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการระบาดของโรคเข้าสู่ประเทศ

ด้านนายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่ออุตสาหกรรมการผลิตปศุสัตว์ของประเทศไทย จะมีมูลค่ามหาศาลนับแสนล้านบาท และยังไม่นับรวมผลกระทบ ด้านสังคม และความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ที่จะเกิดขึ้นหากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ African Swine Fever หรือ ASF ระบาดเข้ามาสู่ประเทศไทย ดังนั้นจึงต้องมีแผนการรับมือที่ดีเพราะจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี

p 5 (1).jpg

ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ซึ่งมีภารกิจหลัก ในการดูแลเรื่องสุขภาพสัตว์ และผลผลิตด้านปศุสัตว์ของประเทศ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระบาดเข้าสู่ประเทศไทยขึ้นและการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคการพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ตามความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์และสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงเป็นมาตรการที่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรเข้าสู่ประเทศได้ และเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรของประเทศไทย และอนุมัติแผนดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ

"ขอความร่วมมือมายังทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยกันไม่ให้โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ระบาดเข้าสู่ประเทศไทย และขอขอบคุณแขวงทางหลวงมุกดาหาร ที่อนุเคราะห์พื้นที่ในการก่อสร้าง ขอบคุณสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ที่สนับสนุนงบประมาณ เพื่อใช้ในการก่อสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะบรรทุกสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2562 และแล้วเสร็จพร้อมเปิดใช้งาน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ที่ผ่านมา ใช้งบประมาณการก่อสร้างทั้งสิ้น 2 ล้านบาท" อธิบดีกรมปศุสัตว์ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :