ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา สังคมไทยคาดหวังว่าการลงมติอภิปรายไม่ไว้วาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงบางอย่าง อย่างน้อยก็ผ่อนกระแสความไม่พอใจต่อการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19
สุดท้าย โครงสร้างอำนาจเดิมยังคงตั้งตระหง่าน หลายคนถอดใจพักการต่อสู้ ตั้งหน้ารอวันวันเวลาการเลือกตั้งในอนาคต แต่กับสมบัติไม่ใช่
เขาบอกว่าจะช้าหรือเร็วการเลือกตั้งเป็นพื้นฐานที่ต้องมาถึง ทว่าระหว่างเส้นทาง ยังสร้างแรงกดดันเพื่อให้เกิดจุดพลิกผันได้
“เรามีสมมติฐานว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา และการโหวตนั้นเป็นการโหวตที่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชน เรายังเชื่อว่าประชาชนไม่ได้คิดแบบที่ผู้แทนฯ คิดตอนนี้ และก็มีประชาชนจำนวนมากที่ไม่พอใจการบริหารงานของพล.อ.ประยุทธ์ สมมติฐานนี้เป็นสมมติฐานที่เราเชื่อ”
สมบัติมองว่าการที่สภาฯ ส่วนใหญ่โหวตรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุด ไม่ได้ต่างจากการตบหน้าประชาชนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง จากปรากฏการณ์นี้หากประชาชนไม่แสดงปฏิกิริยาเลยก็อาจจะเป็นการกำหนดมาตรฐาน ซึ่งชนชั้นปกครองกำหนดมาตรฐานนี้มานานแล้ว คือ ใครมีอำนาจ ใครมีปืน หรือในระบบรัฐสภา คือใครมีเสียงในสภาเกินกึ่งหนึ่ง ก็จะเป็นคนที่กำหนดทิศทางไปได้เลยโดยไม่ต้องสนใจข้อเท็จจริงกับความรู้สึกของประชาชนภายนอก
เขาเห็นว่าบรรทัดฐานตรงนี้ต้องขยับหรือถูกปฏิเสธ แม้โดยหลักการจะยังเคารพเสียงในสภา เคารพวิธีการลงคะแนนในสภา แต่กระบวนการนี้ต้องเป็นการลงคะแนนที่สอดคล้องกับผู้แทนฯ เข้าใจได้ เสียงไม่ควรเคลื่อนไปตามทิศทางของ ‘กล้วย’
“เรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ ดังนั้นมันก็เหลือแต่เจ้าของเสียง หรือเจ้าของอำนาจอธิปไตยจริงๆ เพราะว่าผู้แทนฯ เป็นเพียงแค่ผู้แทนของราษฎร เป็นผู้แทนของเสียง หรือคนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ส.ส. ไม่ได้มีอำนาจในตัวเขาเอง เขามีอำนาจผ่านกระบวนที่มีเสียงประชาชนเป็นส่วนประกอบ”
สมบัติชี้ว่า ความจำเป็นที่จะต้องมีกิจกรรมทางการเมืองบนท้องถนน เพราะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ทั่วโลกต่างใช้พื้นที่นี้ในการแสดงอำนาจอธิปไตยทางตรง จับต้องได้ การที่คนเดินทางออกจากบ้าน มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในที่ใดที่หนึ่งเพื่อส่งเสียง เป็นการแสดงออกที่ตรงไปตรงมา และถ้ามีจำนวนที่มากพอก็ย่อมมีนัยสำคัญ และนัยสำคัญนั้นต้องสัมพันธ์กับปริมาณที่มีอยู่
การสะสมกำลังและปริมาณจากการจัดการชุมนุมนับเป็นการสื่อสารแนวระนาบ สำหรับสมบัติ มันเป็นไปเพื่อสื่อสารกับผู้คนว่า พวกเรามีความคิดแบบนี้ หากคุณคิดเหมือนกันก็เข้ามาร่วมมือกัน และหากปริมาณของผู้คนที่ออกมาบนท้องถนน สามารถก้าวไปถึงปริมาณที่เรียกว่า Critical Mass (จุดผกผัน) ก็อาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพราะการสะสมกำลังในเชิงปริมาณ จะเป็นสิ่งที่เพิ่มแรงกดดันเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ แต่นั่นก็ไม่ได้การันตีว่าจะบรรลุเป้าหมายทุกครั้งไป โดยเฉพาะกับการเมืองไทยซึ่งโครงสร้างทางอำนาจ และโครงสร้างทางวัฒนธรรมที่ฝั่งรากลึกมานาน
“การสะสมปริมาณจะต้องเดินทางไปถึงจุดถึงหนึ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เหมือนน้ำ ถ้าคุณจะทำให้มันเปลี่ยนไปสู่จุดผกผัน คุณต้องสะสมอุณหภูมิให้ถึง 100 องศา น้ำจึงจะเปลี่ยนสถานะเป็นไอน้ำได้ ดังนั้นความยากระหว่างการสะสมปริมาณเพื่อไปถึงจุดผกผันมันมีความตึงเครียดอยู่ในกระบวนการ นี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย”
การเคลื่อนไหวทางการเมืองนับจากปี 2563 เป็นต้นมา แม้จะมีผู้คนเรือนแสนออกมาบนท้องถนน เรียกร้องขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ข้อเท็จจริงยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง สมบัติมองเรื่องนี้และอธิบายให้เห็นถึงภาวะยึดตึง ซึ่งหมายถึงตัวโครงสร้างอำนาจมีลักษณะยึดเหนี่ยวกันอย่างเหนียวแน่น และหากเป็นเรื่องที่มีขนาดของอำนาจที่ใหญ่ และผลประโยชน์ขนาดใหญ่รวมอยู่ด้วย รากของโครงสร้างเหล่านั้นจะยิ่งยึดกันอย่างแข็งแรง
“เวลามีการเคลื่อนไหวภายนอกที่เข้าไปผลัก ไม่ได้แปลว่าถ้ามีปริมาณมากกว่า แล้วเข้าไปผลักเข้าไปแล้วจะล้มเลย มันเป็นไปไม่ได้ เราเห็นแค่ตัวต้นมัน แต่จริงๆ มันมีรากอยู่ และมันฝั่งลึก”
สมบัติเห็นว่าพลังที่จะเปลี่ยนแปลงหรือผลักดันข้อเรียกร้องได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขุดรากนั้นไปด้วย ทุกครั้งที่เราไปแตะเรื่องอำนาจ สิ่งที่เราเข้าไปแตะไม่ใช่แค่ตัวบุคคลอย่างเดียว แต่เป็นโครงข่ายต่างๆ ที่วางอยู่บนโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม ดังนั้นเวลาขยับมันก็เป็นการสู้กัน หากพลังประชาชนไม่เหนือกว่า ก็ไม่สามารถผลักหรือขับเคลื่อนได้ เต็มที่ก็จะทำได้เพียงการท้าทาย แล้วกลับไปสะสมกำลังมาใหม่ และกลับเข้ามาท้าทายใหม่ เรียนรู้ใหม่ทั้งในเรื่องปริมาณและวิธีการ
เวลาพูดถึงปริมาณประชาชนที่ออกมาร่วมกิจกรรมทางการเมือง สมบัติย้ำว่าเราไม่ได้กำลังพูดถึงแค่ปริมาณ แต่ยังมีเรื่องของคุณภาพที่อยู่ลึกในตัวบุคคลเหล่านั้น คนเหล่านั้นตื่นตัว และการตื่นตัวนั้นเกิดจากการรับรู้และทำความเข้าใจ รวมถึงการยึดถือคุณค่าร่วมของหลักการประชาธิปไตย
นี่จึงเป็นกระบวนการที่สอดรับกัน เขาเห็นว่าการลงถนนหรือการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองแบบอื่นๆ เป็นเหมือนการฝึกฝนทดสอบความมุ่งมั่น
ส่วนการสร้างความเข้าใจ เขาว่าเวลานี้โลกค่อนข้างเอื้อ เพราะมีเทคโนโลยีทำให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ดังนั้นการทำความเข้าใจทางการเมืองก็สามารถทำได้ในโลกออนไลน์ ต่างจากอดีตที่การเรียนรู้ทางการเมืองต้องฟังการปราศรัย แต่เดี๋ยวนี้การปราศรัยอาจเป็นเพียงหนึ่งในพิธีกรรมของขบวนการบนท้องถนนเท่านั้น
"หากกลับไปมองปี 2563 การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวเด่นชัดมาก นับตั้งแต่ 6 ตุลาฯ นี่คือการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวที่ตื่นตัวในระดับที่ลงไปถึงเด็กมัธยมต้น-มัธยมปลาย ความสนใจของพวกเขากับความสามารถในการเข้าถึงข้อเท็จจริงต่างๆ มันสอดรับกัน และเขาสามารถโต้ตอบได้ในเชิงประเด็น"
ขณะที่การเคลื่อนไหวในปี 2564 สมบัติมองว่า นอกจากเราจะเห็นทัพหน้าที่เป็นคนรุ่นใหม่แล้ว เรายังเห็นทัพหลังที่เป็นคนเสื้อแดงที่มีอายุ ผ่านการต่อสู้มาเมื่อทศวรรษก่อน คนสองรุ่นกำลังไหลมารวมกัน ใกล้ชิดกันมากขึ้น
กลุ่มที่เคยอยู่ในปีกที่เรียกว่าเป็น 'ฝ่ายที่ต่อต้านประชาธิปไตย' เช่น กปปส. กลายมามวลชนไม่น้อยในขบวนการชุมนุมของปี 63-64 เพราะเขาไม่ได้คำตอบเหล่านั้นในขบวนการต่อสู้สมัยที่เป็น กปปส. เขาคิดว่าโดยโครงสร้างของกลุ่มการเมืองที่ตื่นตัว คนกลุ่มนี้กลับมาแล้ว แต่ยังเหลือคนอีกกลุ่ม และเป็นกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่ออกมา
ในการรื้อระบบ สมบัติมองว่าโดยทฤษฎีแล้ว ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จะมีคนที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าเห็นประเด็นที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า แล้วก็จะมีอีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่ตั้งคำถามต่อการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมที่เห็นว่า "ไม่ควรมีการเปลี่ยนแปลง" แต่คนส่วนใหญ่จะเป็นคนที่คอยดูว่าฝ่ายที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงกับที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลง ฝ่ายไหนมีเหตุผลมากกว่า
เขาเห็นว่าในทางการเมืองมีหลายปัจจัยที่จะทำให้คนกลุ่มนี้ตัดสินใจเทมาหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้ว่าอาจจะเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง แต่การลงถนน หรือเอาเนื้อตัวลงมามันมีข้อจำกัดบางอย่างและมีความไม่คุ้นชิน นี่ถือเป็นความยากประเภทหนึ่ง
"เพราะเราต้องทำให้พื้นที่ทางการเมืองปลอดภัย และสะดวกใจ น่าสนใจเพียงพอที่จะดึงดูด จนคนที่ยังไม่เลือกตัดสินใจเลือก และถ้าคนกลุ่มนี้เทมาเมื่อไหร่เราจะเห็นปริมาณมหาศาล ซึ่งนี่เป็นเงือนไขหนึ่งที่เราต้องทำไป และสื่อสารไป"
สมบัติเชื่อว่า ปริมาณของผู้คนย่อมแปรผันตรงกับแรงกดดัน และปริมาณมันมาพร้อมกับหลักประกันที่ว่ามายด์เซ็ตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเป็นหลักประกันโดยตัวมันเองว่าแม้ในสมรภูมินี้อาจจะไม่ชนะ แต่ชุดความคิดบางประการยังคงฝั่งตรึงอยู่ในความคิดความเข้าใจ หรือความมุ่งหมายของคนเหล่านั้น และรอคอยให้เงื่อนไขแวดล้อมการเมืองมันเอื้อ หรือเกิดการปะทุขึ้นอีกรอบ คนเหล่านี้ก็จะกลับมา และแน่นอนว่าคนเหล่านี้ย่อมอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของสังคม ตัววัฒนธรรมบางเรื่อง ซึ่งอาจจะไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรงก็จะเกิดความเปลี่ยนแปลง
"การเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิธีคิดและระบบคุณค่า เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถึงรากถึงโคน นี่แหละเป็นสนามการต่อสู้ที่แท้จริง มันคือการเปลี่ยนความคิด แม้ผู้มีอำนาจยังไม่เปลี่ยน แต่ถ้าคนจำนวนมากที่เป็นฐานรากเปลี่ยน ผู้มีอำนาจจะอยู่อย่างไม่เปลี่ยนอะไรเลยเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างน้อยก็ต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับคนส่วนใหญ่ หรือถ้ามีโอกาสถึงจุดหนึ่งก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย เนื่องจากในระบอบประชาธิปไตยมันมีการเลือกตั้งอยู่ จะเร็วหรือช้าเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มันมีการเลือกตั้งแน่นอน และหากปริมาณที่เราสะสมมามันเปลี่ยนไปถึงจุดหนึ่ง ผลของการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนแน่นอน"
เขาชี้ว่า การเมืองภาคพลเมือง โดยธรรมชาติมักจะส่งผลสะท้อนไปถึงการเมืองในเชิงสถาบัน อย่างพรรคการเมือง และทุกวันนี้จะเห็นได้ว่ามี ส.ส. จำนวนไม่น้อยที่มีกลิ่นอายของการเป็นนักต่อสู้บนพื้นถนน นักการเมืองบางคนมีความรู้สึกที่เชื่อมโยงถึงคนนอกสภา ซึ่งปรากฎการณ์นี้ถือเป็นคุณภาพที่สำคัญ และจะทำให้ผู้แทนฯ เป็นผู้แทนของประชาชนจริงๆ พวกเขาจะกลายเป็นผู้ตรวจสอบ และควบคุมนักการเมืองได้ มันไม่ใช่เกมเดิม ที่เลือกตั้งเสร็จแล้ว ส.ส. จะไปทำอะไรก็ได้ในสภาอีกต่อไป เพราะความรู้สึกนึกคิดของคนข้างนอกจะมีผลต่อคนที่ออกเสียงโหวตในสภา และไม่ได้เสียเปล่าต่อให้ชัยชนะในสมรภูมินั้นยังไม่ใช่ของประชาชน แต่มันจะสะสมกำลัง การเรียนรู้ และการขยายตัวไปเรื่อยๆ
"เรื่องการเลือกตั้งอย่างไรเสียก็เป็นสมรภูมิที่จะต้องเดินไปถึงแน่นอน แต่ก่อนที่จะไปถึงการเลือกตั้งเราสามารถสร้างแรงกดดันได้ระหว่างทาง นั่นแปลว่า ทุกขณะอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระหว่างทางได้ แต่ถ้าไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงสุดท้ายก็ต้องไปจบกันที่การเลือกตั้ง"
สมบัติเชื่อว่าหากมีสะสมกำลัง สะสมแนวร่วม สร้างความเข้าใจทางสังคมให้มาก เป็นสูตรพื้นฐานของการต่อสู้บนท้องถนน แต่สิ่งที่ละเลยไม่ได้คือการรักษาแนวร่วม โดยที่ผ่านมามีหลายขบวนที่ออกมาต่อสู้ และมุ่งมั่นที่จะเอาชัยชนะเฉพาะหน้า จนหลายสูญสียแนวร่วมไปในที่สุด โดยตัวอย่างที่ชัดเจน คือ กปปส.
"ชัดเจนที่สุดก็คือ กปปส. ซึ่งมีแนวร่วมที่ใหญ่มาก ตอนที่มีการเคลื่อนไหวเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เขามีแนวร่วมที่ใหญ่ ถือเป็นประวัติการณ์ และยังไม่เห็นใครทำได้อย่าง กปปส. แต่หลังจากยึดอำนาจการสูญเสียความชอบธรรมของ กปปส. สูญเสียจนไม่มีที่ยืน ทันทีที่คุณชนะด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง คุณก็จะพ่ายแพ้ในหลักการ ถึงจุดหนึ่งคุณก็จะแพ้"
เขาย้ำว่า เวลาพูดถึงชัยชนะต้องดูดีๆ การล้มรัฐบาลได้ ยังไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นชัยชนะ อย่างการล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ โดยให้ทหารออกมายึดอำนาจ หลายคนตอนนั้นคิดว่า นี่คือ ชัยชนะ แต่ถ้ามันเป็นชัยชนะจริง ทำไมขบวน กปปส. ถึงหมดความชอบธรรม ถูกโจมตีอย่างหนัก และแทนที่จะถูกจัดว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยก้าวหน้า กลายเป็นล้าหลัง และเป็นกลุ่มที่ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย
"มันสะท้อนภาวะไร้เดียงสา จนคนที่เคยเข้าร่วมต้องออกมาขอโทษขอโพยกันนับครั้งไม่ถ้วน"
"การเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ในปีที่ผ่านมานับว่าแหลมคมมาก คนรุ่นใหม่ไม่ได้มีพันธนาการทางความคิด พวกเขาตั้งคำถามไปถึงโครงสร้างอำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ในสังคมไทย เป็นการเสนอไปถึงโครงสร้างที่ใหญ่ขึ้นกว่าที่เคยมีมาในอดีต
"ถามว่ามันทำให้ยากขึ้นไหม ก็แน่นอน เนื่องจากข้อเรียกร้องมันมีสเกลที่ใหญ่ขึ้น และหากคุณจะขับเคลื่อนในประเด็นที่มันใหญ่ คุณก็จำเป็นต้องมีแรงสนับสนุนที่ใหญ่พอกัน หรืออยู่ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่า"
อย่างไรก็ตาม สมบัติมองว่า หลังการขับเคลื่อนของคนรุ่นใหม่ ถึงเวลานี้แม้การเปลี่ยนแปลงจะยังไม่เกิดขึ้น ทั้งข้อเรียกร้องที่เล็กไปถึงข้อเรียกร้องที่ใหญ่ แต่ความเข้าใจและการมองเห็นของประชาชนมันมีราคาอยู่ เขาคิดว่าแม้จะยังไม่เห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าสูญเปล่า
"ชอบพูดกันว่าการเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563 สูญเปล่า เนื่องจากไปวัดดูที่ตัวโครงสร้างว่าขยับหรือยัง แต่เวลาเราพูดถึงดุลอำนาจ มันมีดุลอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองกับประชาชนอยู่
"ถ้าเรามองจากมุมของประชาชนขึ้นไป เราอาจจะเห็นว่ามันไม่ขยับ แต่ถ้าคุณลองมองในมุมของผู้มีอำนาจ แล้วมองมาที่ประชาชนสิ ผมคิดว่าถ้าผู้มีอำนาจมองมา และรับรู้ได้ถึงความคิด การรับรู้ และบทสนทนาของประชาชนที่ถกเถียง พูดคุยกันในวงกว้างและแหลมคม
"ผมคิดว่าความเคลื่อนไหวนี้ทำให้ผู้มีอำนาจตกใจ ในทางกลับกันเรายังได้เห็นปฏิกิริยาหรือท่วงทำนองที่รัฐใช้ในการจัดการกับประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งชัดเจนว่านั่นเป็นอาการของคนที่กำลังตกอกตกใจในการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของประชาชน"
สมบัติย้ำว่าคนรุ่นใหม่เป็นคนที่จะอยู่ในอนาคต และอนาคตเป็นพื้นที่เขาพวกเขา ดังนั้นเกมที่ผู้มีอำนาจยังแก้ไม่ได้ก็คือ เกมส์ในอนาคต
"ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วย เพราะนี่เป็นเรื่องของกฎธรรมชาติ มันเป็นเรื่องของเวลา"
ในหลายประเทศ แม้ว่าระหว่างทางการต่อสู้ของประชาชนจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เวลากลับกลายเป็นผู้เปลี่ยนแปลงให้ อย่างกรณีที่สมาชิกพรรคก๊กมินตั๋งทยอยลาจากโลกไป คนที่ยังอยู่ในประเทศไต้หวันก็มีความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ประชาธิปไตยในไต้หวันก็เกิดความเปลี่ยนแปลง
"ถ้าที่ผ่านมาไม่มีการสร้างกระบวนการเรียนรู้อะไรเลย ประชาชนที่ยังอยู่ก็จะยังคงเป็นฝ่ายขวา"
"ความคิดมันสั่งให้หยุดไม่ได้ อำนาจรัฐไม่สามารถเข้าไปควบคุมคุมความคิดผู้คนได้ในเชิงคุณภาพ แม้จะการปิดกั้นในหลายส่วนแต่ก็ไม่สามารถควบคุมความคิดได้ เพราะนอกจากพื้นที่ที่เป็นทางการ ยังมีพื้นที่ที่ไม่เป็นทางการในการสร้างบทสนทนา ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่รัฐปิดกั้นไม่ได้ ทำได้เพียงแค่กดไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวเพียงแค่นั้น แต่ความคิดและการสนทนาของผู้คนห้ามไม่ได้"
คนที่มาดินแดง ในทัศนะสมบัติเป็นม็อบออร์แกนิคของแท้ ไร้จัดตั้ง ดินแดงคือม็อบที่ไม่จำเป็นต้องมีการประกาศนัดรวมตัว ไม่มีการปราศรัยและใช้ใจสื่ิอสารกัน
"คนที่ไปดินแดงคือมวลชนล้วนๆ ไม่ใช่ระดับหัว หรือแกนนำ และในม็อบแทบจะไม่มีบทสนทนาเป็นคำพูด แต่การกระทำสื่อสารชัดเจน คือ การไม่จำนน ไม่จำยอม ปฏิเสธอำนาจรัฐ คล้ายกับการชูสามนิ้ว ต่างกันเพียงแค่การชูสามนิ้วไม่มีคู่กระทำ แต่ดินแดงมีคู่กระทำ"
เขามองว่า การที่มีคู่กระทำ ทำให้เกิดเวทีประลองกำลังของทั้งสองฝ่าย และยันกันไปกันมา แต่เนื่องจากมันมีการใช้ความรุนแรงอยู่ในนั้นเป็นสิ่งที่ทำให้เขากังวล เพราะต่างจากเวทีประลองกำลังในแนวการชุมนุมแบบอื่น ซึ่งเต็มที่ก็ท้าทายด้วยการยืนอยู่บนถนน ท้าทายการประกาศกฎหมายที่ไม่ให้มีการชุมนุมทางการเมืองด้วยการชุมนุม แต่สำหรับดินแดงเป็นการท้าทายโดยมีคู่กรณี ทำให้สายตาของผู้คนจดจ้องไปในพื้นที่ดังกล่าว เรียกร้องความสนใจได้มากกว่า
"ถ้าดูจากจิตวิญญาณ ผมชื่นชม เป็นความมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ แต่ถ้าดูจากสิ่งที่ต้องแลกมาส่วนตัวผมคิดว่าไม่คุ้ม เป็นเกมที่เสียเปรียบมาก ม็อบดินแดงในแต่ละวันจบด้วยเหตุการณ์ปะทะ และความบาดเจ็บ ซึ่งคนที่บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นมวลชน เป็นเด็ก และเยาวชน ซึ่งมันเป็นภาระให้กับผู้ชุมนุมเอง และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีต้นทุนทางสังคมจำกัด
บางคนที่่มีต้นทุนสูง สมบัติมองว่าเเวลาถูกกระทำยังหาทนายฟ้องร้องเอาคืนได้ แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา จะทำอย่างไรที่จะเอาคืน จะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไรหากมอเตอร์ไซค์ถูกยึด จะใช้ชีวิตอย่างไรหากถูกดำเนินคดี ถ้าบาดเจ็บการดูแลรักษาตัวเองจะทำอย่างไร
"ผมมองว่านี่เป็นเกมที่ไม่ยุติธรรม ไม่คุ้ม แต่ว่านักต่อสู้มันมีกฎที่ว่า มีการคำนวณรู้ทั้งรู้ว่าไม่คุ้มแต่มันก็ต้องสู้ คนพวกนี้มีจิตใจแบบนี้ หากมัวแต่คำนวณเรื่องคุ้มไม่คุ้ม มันจะไม่มีใครทำอะไร แต่ไม่ได้หมายความเราจะประเมินเรื่องต้นทุนไม่ได้ ผมคิดว่านี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนวณ"
สถานการณ์เวลานี้ สมบัติเห็นว่ารัฐกำลังเรียกผู้ชุมนุมที่ดินแดงว่าเป็น "ผู้ก่อความไม่สงบ" ภาษาแบบนี้ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้
ท่วงทำนองคล้ายกับตอนเสื้อแดงถูกล้อมปราบ โดยปกติแล้วรัฐจะพยายามสร้างมายาคติบางอย่างขึ้นมาจนเกิดความชอบในการใช้มาตรการที่รุนแรงมากขึ้น
"ผมอาจจะขี้กลัวก็ได้ เพราะเคยเห็นท่วงทำนองแบบนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 52-53 นี่อาจจะเป็นความพยายามของภาครัฐในการต้อนให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่มุมอับ และจุดจบของมันจะเป็นเรื่องที่น่าคิดมาก"
สิ่งที่รัฐกำลังทำอยู่ในเวลานี้ ในมุมของคนที่เห็นประวัติศาสตร์ทางการเมืองมาหลายครั้ง เขามองว่ามีทั้งการกระตุ้นให้คนใช้วิธีการที่รุนแรงขึ้นไป พร้อมกับสร้างมายาคติโดยที่ไม่มองรากฐานที่สร้างสถานการณ์นี้ขึ้นมาร่วมกัน จากนั้นรัฐจะแสดงให้เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้
"รัฐจะทำให้มีคนจำนวนมากมองคนกลุ่มนี้ก่อความไม่สงบ และไม่สามารถใช้เครื่องมือในการควบคุมฝูงชนแบบเดิมได้ จึงต้องใช้มาตรการทางการทหาร เพราะฉะนั้นอย่าประมาทว่ารัฐจะไม่สร้างความชอบธรรมทางการเมือง"
ในสายตาสมบัติ นี่อาจเป็นความชอบธรรมทางการเมืองของอำนาจรัฐมุมกลับที่เขากังวลอย่างยิ่ง