ไม่พบผลการค้นหา
‘นายกฯ’ เผย ‘เลขาสภาพัฒน์ - ผู้ว่า ธปท.‘ เห็นด้วยหมด มอบ ก.คลัง-พาณิชย์ ฯลฯ. สรุปรายละเอียดเงื่อนไข-แหล่งเงิน มาเสนอให้จบ 10 เม.ย.นี้ ด้าน ‘จุลพันธ์’ ขอรอ 10 เม.ย.ชัดเจนทุกอย่าง เชื่อสมบูรณ์ ตอบโจทย์ทุกฝ่าย ยันเดินหน้าโครงการต่อ เผยที่ประชุมไม่คุยเรื่องที่มาแหล่งเงิน

วันที่ 27 มี.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 ภายหลังให้หน่วยงานต่างๆ ส่งความเห็นกลับมา ว่า ที่ประชุมมีการรับทราบว่า เศรษฐกิจมีปัญหามีความจำเป็นจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจาก GDP มีการเติบโตต่ำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเติบโตสูงกว่าไทยเป็นเท่าตัว ฉะนั้นกระทรวงการคลัง จึงเสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ โดยมอบหมายให้ กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ ไปดำเนินการและให้มารายงานที่ประชุมใหญ่ในวันที่ 10 เมษายนนี้ รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้า และสินค้านำมารายงานในที่ประชุมวันที่ 10 เมษายนเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้มีการมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล สรุปการพัฒนาระบบและจัดทำเปิดให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ โดยมารายงานในที่ประชุมวันเดียวกัน 

นอกจากนี้มอบให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ วางกรอบการตรวจสอบวินิจฉัยกล่าวโทษและร้องทุกข์และการเรียกเงินคืนในวันเดียวกัน

นายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า วันที่ 10 เมษายน เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดก็จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนเมษายน 

พร้อมยืนยันว่า กรอบเวลาไทม์ไลน์เป็นไปตามที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงก่อนหน้านี้ อาทิ 1.)ไตรมาสที่ 3 เปิดให้ร้านค้าและประชาชนลงทะเบียน 2.)ไตรมาสที่ 4 เงินถึงมือประชาชน 

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ประชุมวันนี้มีการประชุมกันกว่าครึ่งชั่วโมง โดยทุกภาคส่วนเห็นด้วยทั้งหมด อาทิ เลขาธิการสภาพัฒน์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ฉะนั้นขอให้ฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้

เมื่อถามย้ำว่า แหล่งเงินนอกจากการกู้แล้วจะหาอย่างอื่นมาประกอบด้วยหรือไม่ หรือจะกู้แค่บางส่วน นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ขอให้รอวันที่ 10 เมษายนนี้



ขอรอ 10 เม.ย.ชัดเจนทุกอย่าง

ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 ผู้ว่าการการธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่ได้เข้าร่วมด้วย โดยส่งรองผู้ว่าฯมาแทน ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบกับสิ่งที่มีการนำเสนอและพิจารณา

เมื่อถามว่า มั่นใจหรือไม่หลังจากนี้ผู้ว่าฯแบงค์ชาติ จะไม่เห็นต่างกับการประชุมในวันนี้ จุลพันธ์ กล่าวว่าตนเองคงตอบแทนไม่ได้ ก่อนย้ำว่าอย่าถามเรื่องคนอื่นเพราะตนเองตอบแทนไม่ได้

จุลพันธ์.jpg

เมื่อถามว่า ความเห็นของผู้ว่าฯแบงค์ชาติ ยังเหมือนเดิมหรือไม่ จุลพันธ์ ระบุว่า ครั้งที่แล้วผู้ว่าฯแบงค์ชาติ ได้ให้ขอนำความเห็นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และความเห็นของกฤษฎีกา ไปศึกษาโดยละเอียด โดยทางฝ่ายเลขาได้เตรียมเอกสารและส่งมอบให้แล้ว ซึ่งท่านได้นำไปศึกษา แต่การประชุมครั้งนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ มีเพียงการนำรายงานฉบับจริงของ ป.ป.ช. เข้ามารับทราบในที่ประชุม ซึ่งไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ เพราะเรื่องนี้ผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว ทุกคนได้เห็นและศึกษารายละเอียดทั้งหมดแล้ว

ส่วนในวันที่ 10 เมษายนนี้ ที่จะมีการแถลงข่าวชัดเจน ไม่ว่าผู้ว่าฯแบงค์ชาติ จะมีความเห็นอย่างไรก็จะเดินหน้าโครงการต่อใช่หรือไม่ จุลพันธ์ กล่าวว่า มีการเดินหน้าอยู่แล้ว แต่ก็รับฟังความเห็นทุกคนทุกฝ่าย และที่ประชุมในวันนี้ก็ชัดเจนว่าต้องเดินหน้า และขอให้ประชาชนรอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้ 

ด้าน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวย้ำว่าในวันที่ 10 เมษายนนี้ จะได้รายละเอียดครบทุกอย่าง ตอนนี้ทุกหน่วยงานกลับไปทำการบ้าน เชื่อว่าหากมีการแถลงข่าวจะมีความชัดเจน

เมื่อถามว่า ความเป็นไปได้เบื้องต้นใช้งบประมาณส่วนหนึ่งจากปี 2568 ใช่หรือไม่ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า วันนี้ได้มอบหมายกระทรวงการคลัง สำนักงานงบประมาณไปดู

ขณะที่ จุลพันธ์ กล่าวเสริมว่า จริงๆแล้วมีหลายเรื่องเพิ่มเติม ทั้งแหล่งเงิน ซึ่งกระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณจะไปดูเรื่องรายละเอียดร้านค้า ส่วนเงื่อนไขต่างๆได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ เรื่องการติดตามทุจริต การใช้เงินผิดประเภทมอบหมายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำหรับเรื่องระบบได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทุกส่วนงานก็รับภารกิจไป วันที่ 10 เมษายนจะกลับมาพูดคุยกันพร้อมข้อสรุปทั้งหมด

จุลพันธ์ ยังระบุว่า ในที่ประชุมวันนี้ไม่ได้พูดคุยกันถึงเรื่องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ส่วนจะสามารถจ่ายเงินก้อนเดียว หรือรอบเดียวหรือไม่นั้นขอให้รอวันที่ 10 เมษายนนี้

สำหรับการเปิดฟังความคิดเห็น จุลพันธ์ ระบุว่า ได้ดำเนินการไปแล้ว และจะได้ข้อสรุปวันที่ 10 เมษายนนี้เช่นกัน

เมื่อถามว่า ในฐานะฝ่ายปฏิบัติมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมายหรือไม่ ลวรณ กล่าวว่า ความจริงแล้วโครงการนี้มีการพัฒนามาโดยตลอด อาจจะไม่เร็วทันใช้ เพราะเรารับฟังข้อคิดเห็นข้อท้วงติง ข้อแนะนำ และนำไปปรับตลอดเวลา ในเชื่อว่าในวันที่ 10 เมษายนนี้ โครงการนี้จะออกมาอย่างสมบูรณ์ และตอบโจทย์ข้อกังวลของทุกภาคส่วน

เมื่อถามว่า ทำไมถึงเลือกวันที่ 10 เมษายน จุลพันธ์ ได้หันกลับมาตอบสั้นๆ ว่าเป็นวันมงคล ขณะที่ ลวรณ พูดเพิ่มเติมว่า จะได้เที่ยวสงกรานต์ได้อย่างสบายใจ