ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และเครือข่าย ออกแถลงการณ์จี้ตรวจสอบกรณีผู้พิพากษา ยะลา ถูกแทรกแซงความเป็นอิสระ

7 ต.ค. 2562 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ศูนย์กฎหมายสิทธิชุมชน ศูนย์กฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ออกแถลงการณ์ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา อ้างว่า ถูกแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี

ตามที่ปรากฏข่าวจากสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ว่า นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะศาลจังหวัดยะลา ได้ใช้อาวุธปืนยิงตัวเองในห้องพิจารณาคดี บัลลังก์ 4 ศาลจังหวัดยะลา ภายหลังจากที่อ่านคำพิพากษายกฟ้องคดีหนึ่ง

ต่อมา ปรากฏแถลงการณ์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขคดีดำที่ 3428/2561 ศาลจังหวัดยะลา โดยมีนายคณากร เป็นผู้ลงชื่อท้ายคำแถลงนั้น อ้างถึงเหตุการณ์เกี่ยวกับการทำคำพิพากษาของนายคณากร ที่ต้องส่งให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ตรวจ โดยมีผู้พิพากษาที่เกี่ยวข้องทำบันทึกความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับร่างคำพิพากษาของนายคณากรที่พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 5 และให้นายคณากรทำคำพิพากษาใหม่ตามความเห็นของหัวหน้าภาคกับอธิบดีผู้พิพากษาภาค ซึ่งคัดค้านและขอแก้ไขคำพิพากษานั้นไม่ได้เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 11(1) และไม่มีกฎหมายรองรับให้สามารถทำได้ นอกจากนี้ ในคำแถลงยังระบุว่ามีวิธีการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันนี้อีกในอีกหลายคดี

จากกรณีที่นายคณากรกล่าวอ้างนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสภาพปัญหาการขาดความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีของผู้พิพากษา ซึ่งถูกกำหนดให้ต้องรายงานและส่งร่างคำพิพากษาให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจสอบก่อน ตามระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยมาตรฐานการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2560 ซึ่งต่อมาถูกยกเลิกและแทนที่โดยระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 ระเบียบดังกล่าวเป็นช่องทางให้เกิดการแทรกแซงความเป็นอิสระในการพิพากษาคดีขึ้นได้

หากข้อเท็จจริงเป็นดังเช่นแถลงการณ์ของนายคณากร ย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบกระบวนการยุติธรรมและก่อความเสียหายแก่ประชาชนอย่างร้ายแรง และอาจทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมของประเทศได้

การป้องกันการการแทรงแซงอำนาจตุลาการในการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรภาคประชาสังคมที่มีรายชื่อด้านล่างนี้ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

  1. ขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่นายคณากรกล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ โดยคณะกรรมการต้องอิสระและเป็นกลาง หากพบการกระทำความผิดก็ให้ดำเนินคดีทั้งทางวินัยและอาญาตามกระบวนการต่อไปโดยเร็ว และแจ้งผลต่อสาธารณะเพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น ทั้งนี้ ก.ต. ต้องดำเนินการเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของนายคณากร และครอบครัวในระหว่างที่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและสอบสวนคดีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นายคณากรอยู่ในภาวะที่สามารถให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้อย่างอิสระ ไม่ถูกข่มขู่ คุกคามจากบุคคลใด
  2. ขอให้ประธานศาลฎีกาพิจารณาทบทวนแก้ไข ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกาและรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค พ.ศ.2562 และสร้างกลไกอย่างเป็นทางการเพื่อให้เกิดการพิจารณาคดีอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงความเป็นอิสระของผู้พิพากษา และให้ผู้พิพากษาที่ถูกแทรกแซงสามารถร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้อย่างปลอดภัย ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชณอาณาจักรไทย มาตรา 188
  3. ขอให้ผู้พิพากษาทุกท่านมีความกล้าหาญทางจริยธรรมและไม่ยอมจำนนต่ออำนาจอิทธิพลนอกกฎหมาย รวมทั้งอคติของผู้ใด อันจะทำให้การพิจาณาพิพากษาคดีเสียความยุติธรรมไป ทั้งนี้ เพื่อดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้พิพากษาในการสร้างความเป็นธรรมในสังคม
  4. ขอให้สื่อมวลชนทั้งหลายนำเสนอข่าวโดยเคารพจรรยาบรรณสื่อมวลชน เสนอข่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนให้เป็นประเด็นทางการเมือง อันอาจก่อให้เกิดความแตกแยกแบ่งฝ่าย หรือลดทอนศักดิ์ศรีของบุคคลใด และขอให้ใช้โอกาสนี้นำเสนอข่าวเพื่อให้เป็นประโยชน์ในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ สมาคมฯ และองค์กรภาคประชาสังคมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่าเกียรติศักดิ์และความมั่นคงของสถาบันตุลาการ จะดำรงอยู่และเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจของประชาชนได้นั้น จะต้องอาศัยกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องรับฟังความคิดเห็นและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน