วันที่ 12 มี.ค. 2563 นายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กล่าวว่า คนไทยทุกคนได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างลำเค็ญ แต่ก็เอาใจช่วยผู้มีหน้าที่ โดยเฉพาะหมอและบุคลากรสาธารณสุขที่ทำงานหนักมาตลอดในการป้องกันและดูแลคนป่วย สาเหตุที่ประชาชนกังวลก็คือการจัดการของรัฐบาลที่ผ่านมามีหลายมาตรการที่สับสน จนย้อนแย้งยุ่งเหยิง ขณะนี้คนไทยนอกจากจะเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว ยังทุกข์จากการระบาดของไวรัส
สังคมไทยมาถึงจุดที่ความหวังและหน้ากากอนามัยหายากพอๆ กัน มีคนตั้งคำถามว่า
1. ทำไมปิดศูนย์กักกันโรคของแรงงานไทยที่มาจากเกาหลีใต้ เมื่อเปลี่ยนใจให้คนงานกลับไปกักตัวที่บ้าน เขาต้องสัมผัสกับญาติ เพื่อน คนในครอบครัว จะทำอย่างไร บอกว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแล ถามว่าจะดูแลตลอด 24 ชั่วโมงได้หรือ สมมติว่ามีการแพร่เชื้อ ใครจะรับผิดชอบ
2. มาตรการยกเลิกวีซ่าขอหน้าด่านหรือ Visa on Arrival ทำไมพึ่งคิดได้ ปล่อยให้คนเข้าเมืองเป็นจำนวนมากด้วยวีซ่านี้ มาตรการนี้คิดช้าไปไหม
3. ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากสะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารจัดการได้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะการขาดแคลนของโรงพยาบาลและบุคลาการทางการแพทย์ ตนสงสารประชาชนที่ต้องไปเข้าคิวเป็นเวลานานเพื่อซื้อหน้ากากอนามัยไว้ปกป้องชีวิตตนเองและคนที่ตนรัก แต่ซื้อได้ไม่กี่ชิ้น อยากถามว่าผู้เกี่ยวข้องสำนึกบ้างไหมว่าการบริหารจัดการที่ไร้ประสิทธิภาพทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ทุกข์ยากขนาดไหน ทำไมไม่ชี้แจงให้ชัดเจนว่าไทยผลิตหน้ากากได้วันละกี่ชิ้น ความต้องการวันละกี่ชิ้น โรงพยาบาลและหมอจะไม่ขาดแคลนหน้ากากได้อย่างไร
4. ในขณะที่หลายประเทศให้งดการชุมนุมของคนจำนวนมาก เช่น การแข่งขันกีฬา การประชุม แต่ภาครัฐสนับสนุนให้หน่วยงานราชการจัดการอบรมสัมมนาเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขอถามว่ามันย้อนแย้งหรือไม่
นายนพดล กล่าวต่อว่ารัฐบาลไม่ต้องกังวลว่าฝ่ายการเมืองจะทำเรื่องการระบาดของโควิด-19 เป็นเรื่องการเมือง ในทางตรงข้าม ต้องการให้มีการแก้ปัญหาการระบาดได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่บ่อยครั้งรัฐบาลฟังแต่ไม่ได้ยิน จนไม่ได้นำข้อเสนอแนะดีๆไปปฏิบัติให้ทันเวลา เสนอว่ารีบตั้งสติ รีดศักยภาพออกมา เพิ่มประสิทธิภาพการแก้ปัญหา สื่อสารให้ประชาชนรู้ข้อมูลให้กระชับ ชัดเจน อย่าลืมว่าไม่มีครั้งใดที่ความสามารถของรัฐบาลจะกระทบต่อคนจำนวนมากที่สุด ในช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดครั้งหนึ่งของคนไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: