วันที่ 22 ก.พ. 2564 พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค โดยมีวาระการประชุมพิจารณา กรณี ส.ส. 7 ราย ประกอบด้วย 1.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2. ศิริพงษ์ รัสมี ส.ส.กทม. (เขตหนองจอก) 3. กรณิศ งามสุคนธ์รัตนา ส.ส.กทม. (เขตคลองเตย-วัฒนา) 4. ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม. (เขตราชเทวี-พญาไท-จตุจักร) 5.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. (เขตบางกะปิ-วังทองหลาง ) 6.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. (เขตดุสิต-บางซื่อ) และ 7.สมพงษ์ โสภณ ส.ส.ระยอง ไม่ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องมีต่อพรรค ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม จากโหวตไม่ไว้วางใจ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนามคม 6 ราย และงดออกเสียงสำหรับการโหวตให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ 1 ราย ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. เป็นประธาน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเคร่งเครียด โดย พล.อ.ประวิตร แสดงท่าทีไม่พอใจต่อการกระทำของ 7 ส.ส.อย่างมาก โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า “โหวตอย่างนี้ รับไม่ได้ แล้วไม่ต้องโพสต์อะไรอีก อย่างนี้มันต้องขับออก ไปรับปากเขามา เขาก็ให้เราเต็ม แต่เรามีปัญหา พรรคเราเสียหาย มันต้องมีบทลงโทษ ทำไมตอนถามในการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 19 ก.พ.ว่ามีปัญหาอะไร แล้วไม่บอก”
คำพูดดังกล่าว ส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคที่ร่วมประชุมต่างนิ่งไปครู่หนึ่ง เพราะไม่ค่อยเห็นการแสดงอารมณ์ฉุนเฉียวแบบนี้ของ พล.อ.ประวิตร ขณะที่กรรมการบริหารพรรครายหนึ่งได้ชี้แจง โดยยกข้อกฎหมายขึ้นมาอธิบายว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์ มีอิสระ ปราศจากการครอบงำของพรรคการเมืองในการลงมติตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย เสนอให้มีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาพิจารณา
ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้กล่าวเสริมเพื่อให้บรรยากาศเย็นลงว่า เมื่อตั้งคณะกรรมการสอบแล้วขอให้รอฟังผลข้อเท็จจริงก่อนที่จะมีมาตรการกับ ส.ส.คนดังกล่าว ส่วน กก.บห.คนอื่นๆ ค่อนข้างระมัดระวังการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ตั้งแต่มีปัญหา วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พยายามโทรศัพท์หา พล.อ.ประวิตรเพื่อชี้แจงเหตุผล แต่ พล.อ.ประวิตรไม่รับสายเลย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับการประชุม กก.บห.เพื่อตั้งคณะกรรมการสอบฯ ถือเป็นกระบวนการของพรรคการเมือง ซึ่งคงไปขับไล่ ส.ส.ไม่ได้ แต่อาจจะมีผลต่อมาตรการส่วนตัวกับ ส.ส.คนดังกล่าว อาทิ ตัดการดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนเรื่องต่างๆ ไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่ให้เป็นกรรมาธิการต่างๆ หลังจากนี้ โดยเฉพาะ น.ส.วทันยาที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียงคนเดียว และเป็นแกนนำกลุ่ม ที่อาจจะโดนหนักกว่าเพื่อน ขณะที่อีก 6 คนที่เหลือเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต คงต้องเอาไว้ก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง