ไม่พบผลการค้นหา
'เศรษฐา' ปาฐกถา “ทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย” ชี้รัฐบาลเห็นโอกาสเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล - บอก รบ.มีแนวทาง 3 สร้างจุดแข็งตลาดทุนไทย ดึงดูดการลงทุนต่างชาติ-เปลี่ยนเป้าหมายสู่ความยั่งยืน-หนุนระดมทุนภาคธุรกิจ มั่นใจทุกอย่างขับเคลื่อนพร้อมกันจะทำให้เศรษฐกิจไทยโต

วันที่ 7 ธ.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการพัฒนาตลาดทุนไทย“ ภายในงานสัมมนาแถลงยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. ว่า ที่ผ่านมาตลาดทุนไทยเผชิญกับความท้าทายระยะสั้น ทั้งสถานการณ์ความผันผวนของโลกและประเด็นความท้าทายด้านความเชื่อมั่นจากผู้ลงทุนในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีราคาหุ้น ปรับตัวลดลงอย่างมาก ดูจากปัจจัยพื้นฐานของตลาดทุนไทย ก็จะเห็นได้ว่าตลาดของเรามีความแข็งแกร่ง

ในระยะยาว มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ว่าจะเป็นจากมูลค่าหลักทรัพย์ซึ่งติดอันดับที่ 27 ของโลก และตลาดของเรายังมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน อีกทั้งมีมูลค่าเสนอขายหุ้น IPO สะสมย้อนหลังกับสภาพคล่องที่สูงที่สุดในอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2555

วันนี้รัฐบาลเล็งเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ทั้งด้านดิจิทัลและด้านความยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลกระทบ ทั้งต่อระบบตลาดทุน ระบบเศรษฐกิจ และแน่นอน สุดท้าย ก็จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน

สำหรับด้านความยั่งยืน ส่วนที่เห็นได้เป็นรูปธรรม ก็คือ การจัดตั้ง Thailand ESG Fund ประเทศไทยเรามีจุดเด่นในเรื่องเหล่านี้ จากบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าสู่ดัชนีความยั่งยืนในระดับสากล ที่มีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภาครัฐเอง ก็ได้ออกพันธบัตรสีเขียว หรือ Green Bond และในอนาคตก็จะมีการระดมทุนไปดำเนินกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ภาครัฐจึงให้ความเห็นชอบ Thailand ESG Fund ที่จะเป็นประโยชน์ ทั้งต่อผู้ระดมทุน ในการต่อยอด สร้างโอกาสทางธุรกิจกิจสู่ความยั่งยืน การดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และต่อผู้มีเงินออมที่มีความสนใจในการลงทุนอย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการได้ผลตอบแทนระยะยาว

ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. คาดว่าจะมี บลจ. ที่เสนอขายกองทุน ThaiESG จำนวน 16 บลจ. และจำนวนกองทุน รวม 25 กองทุน สร้างเม็ดเงินในการระดมทุนไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท จากผู้ลงทุนที่อายุตั้งแต่ 30-60 ปี ไม่น้อยกว่า 100,000 บัญชี และคาดว่าจะ ส่งผลให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพิ่มขึ้นในบ้านเราอีกด้วย

ขณะเดียวกันนี้โลกปัจจุบันให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รัฐบาลนี้ ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยตลาดทุนไทยมีบทบาทสำคัญ เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ทั้งผ่านการยกระดับช่องทางระดมทุน และการบริการให้กับภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ก.ล.ต. จึงได้รับนโยบายและได้ยกระดับ โดยปรับโครงสร้างองค์กร และเพิ่มส่วนงานในสายนวัตกรรมทางการเงินและเทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินมาใช้ในตลาดทุน ซึ่งผมทราบว่า นี่ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของแผนยุทธศาสตร์และการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ของ ก.ล.ต. 

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เห็นชอบในหลักการ ที่จะลดอุปสรรคที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น เรื่องความเหลื่อมล้ำทางภาษี ซึ่งถ้าแก้ได้ก็จะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเท่าเทียมยิ่งขึ้น ลดภาระแก่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ออกและเสนอขาย รวมทั้งผู้ลงทุนในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และยังเป็นการสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการระดมทุนผ่าน investment token เพื่อส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น 

นายกฯ ระบุอีกว่า รัฐบาลมีแนวทาง 3 ข้อที่จะเสริมสร้างจุดแข็งของตลาดทุนไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะช่วยลดความผันผวนและสร้างความเติบโตกับ เศรษฐกิจโดยรวมในระยะหน้าต่อไป

โดยแนวทางแรก ที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก คือ การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ผ่านการผลักดันให้ตลาดทุนไทย เป็น investment destination ของภูมิภาค ซึ่งจะเพิ่มการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยรัฐบาล จะเดินหน้าเร่งเจรจาและขยาย Free Trade Agreement (FTA) เปิดตลาดใหม่ๆ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศทางยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศ ผ่าน ease of doing business 

นอกจากนี้ รัฐบาลจะดำเนินการนำเสนอข้อมูลการลงทุนของตลาดหุ้นไทย ผ่าน Road show เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่แนวทางที่สอง คือ การ shift focus สู่ความยั่งยืน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าอย่างเต็มกำลัง มุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainability Development Goals หรือ SDGs และเป้าหมายของประเทศไทย 

ด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero ภายในปี 2608 โดยรัฐบาล จะดำเนินการส่งเสริมให้ตลาดทุนไทยพัฒนากลไกให้ภาคธุรกิจ มีเงินทุนเพียงพอในการเปลี่ยนผ่าน สู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงองค์ความรู้ เทคโนโลยีและมีเงินทุน เพื่อปรับตัวให้พร้อมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมต่อไป

นอกจากนี้ ภาครัฐบาลเองจะดำเนินการผลักดันนโยบายการกระตุ้นตลาดตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond Market การระดมทุนเพื่อสนับสนุน SDGs และนโยบายการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมถึงกลไกการเงินสีเขียว หรือ green finance mechanism โดยได้ตั้งเป้าการออก และเสนอขายตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือที่เรียกว่า “Sustainability-Linked Bond”  ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อให้องค์กร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันดำเนินนโยบายที่สร้างความยั่งยืน และการจัดทำThailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมการเติบโต และการลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม 

แนวทางที่สาม คือ การสนับสนุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัล SMEs และ Startups เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการดำเนินธุรกิจ เติบโตและขยายต่อไปได้ในระดับโลก 

สำหรับด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐและเอกชนจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และในส่วน SMEs และ Startups ภาครัฐจะมีการพัฒนากลไกช่วยเหลือ 

ผู้ประกอบการเหล่านี้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดหาเงินทุนตลอดจนการเปิดตลาด

นายกฯ กล่าวยืนยันทิ้งท้ายว่า แนวทางของรัฐบาลดังที่กล่าวมาเป็นส่วนที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการในภาคตลาดทุน โดยรัฐบาลมีความหลากหลายในนโยบาย ซึ่งตนเชื่อว่าถ้าทุกอย่างรวมกันแล้วจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในต่อไป