รายการ Good Monday โดย ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นำเสนอเป็นตอนที่ 4 พูดถึงสถานการณ์และการจัดการปัญหาด้านสุขภาพของประเทศต่างๆ และความจำเป็นที่ไทยต้องเร่งรณรงค์เรื่องการรักษาสุขภาพก่อนโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะแบกรับไม่ไหว
อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากการอ่านนิตยสาร Monaco ซึ่งเป็นนิตยสารเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของคนทั่วโลก มีเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจากอาหารการกิน โดยมีข้อมูลสำรวจพบว่า ในประเทศอังกฤษ คนจำนวน 1 ใน 3 มีน้ำหนักเกินมาตรฐานที่ควรเป็น และมีคนเป็นโรคอ้วนจำนวนมากด้วย ขณะที่ในประเทศนอร์เวย์กลับพบว่า คน 1 ใน 6 เท่านั้นที่มีน้ำหนักเกิน เหตุที่ผลลัพธ์ต่างกันขนาดนี้ก็เพราะนอร์เวย์มีการเก็บภาษีน้ำตาลมาตั้งแต่ปี 1922 เนื่องจากน้ำตาลเป็นสาเหตุแห่งโรคอ้วนและความอ่อนแอทางสุขภาพหลายอย่าง ปัจจุบันอัตราภาษีน้ำตาลสูงถึง 83% ของราคานำเข้า
ทักษิณกล่าวต่อว่า อีกประเทศที่น่าสนใจคือ ประเทศการ์ตา ประเทศเล็กๆ ในตะวันออกกลางแห่งนี้มีรายได้ต่อหัว (per capita income) สูงที่สุดในโลก คือ 112,000 ยูโรต่อปีหรือประมาณคนละ 4,000,000 ล้านกว่าบาทต่อปี ไม่ได้หมายความว่าทุกคนรายได้สูงขนาดนั้นแต่นี่เป็นค่าเฉลี่ยเนื่องจากที่นั่นคนรวยมากมีจำนวนเยอะ สิ่งที่มาพร้อมกับความรวยก็คือความอ้วน คนที่การ์ตากิน junk food หรืออาหารไม่มีคุณภาพเฉลี่ยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง และคนที่นั่น 70% มีน้ำหนักเกิน ที่สำคัญคือ 17% ของประชากรเป็นโรคเบาหวานซึ่งนับเป็นสถิติที่สูงมาก เขาจึงเริ่มรณรงค์ให้กินน้อยลงแล้วออกกำลังมากขึ้น หรือ eat less, move more
ทักษิณกล่าวต่อว่า สำหรับตัวอย่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาหารอย่างมาก we are what we eat ก็คือ ประเทศญี่ปุ่น เขาใส่ความรู้ด้านโภชนาการว่ากินอย่างไรจะดี กินอย่างไรจะถูกต้องไปในหลักสูตรการเรียนตั้งแต่เด็ก แม้กระทั่งเมนูอาหารกลางวันของเด็กที่โรงเรียนก็ต้องส่งไปให้ผู้ปกครองดูเพื่อพิจารณาว่าโรงเรียนมีอาหารกลางวันให้เด็กอย่างถูกหลักโภชนาการแค่ไหน ส่วนประเทศสิงคโปร์เริ่มใช้ระบบสนับสนุนให้คนออกกำลัง โดยรัฐบาลให้ fitbit (อุปกรณ์นับก้าวเดินและนับการเต้นของหัวใจ) กับผู้ที่ต้องการ และหากพบว่าวันไหนเดินครบ 10,000 ก้าวรัฐจะจ่ายให้ 50 ดอลลาร์สิงคโปร์ คำนวณคร่าวๆ ก็ประมาณ 8 กม. ใช้เวลาเดินประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที
อดีตนายกรัฐมนตรียังย้ำด้วยว่า เรื่องสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์กันอย่างจริงจังในประเทศไทย เพราะมีผลช่วยลดค่าใช้จ่ายในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค (เดิม) ซึ่งปัจจุบันกำลังต้องเพิ่มค่ารักษาต่อหัวไปเรื่อยๆ หากปล่อยอย่างนี้ประเทศจะแบกรับงบประมาณส่วนนี้ไม่ไหว ตอนที่สร้างโครงการ 30 บาทฯ ขึ้นมาก็คิดครบวงจร ภาษาอังกฤษคือ prevention is better than cure หรือ การป้องกันดีกว่าการรักษา นั่นแปลว่าต้องรณรงค์ให้คนมีสุขภาพดี ทั้งอาหาร อารมณ์ การออกกำลังกาย
“ผมมองว่าถ้าเปรียบประเทศเหมือนร่างกายมนุษย์หนึ่งคน คนทุกคนในประเทศก็เหมือนเซลล์ในร่างกาย ถ้าเราทำให้เซลล์ทุกเซลล์แข็งแรง ทำงานได้ดี ประเทศเราก็จะมีผลผลิตที่ดี นี่เป็นสิ่งที่เราต้องจริงจัง” ทักษิณกล่าว
เขากล่าวด้วยว่า เมื่อพูดเรื่องรณรงค์แล้วจึงอยากแนะนำคำใหม่คำหนึ่งที่มีอยู่ในวงการโฆษณาแต่เขาเพิ่งได้ยิน นั่นคือ Juxtaposition แปลว่า เอาภาพมาวางสลับกัน เอามาเคียงกัน ในอดีตเรามักนิยมจ้างดารานางแบบนายแบบมาเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาแต่ตอนหลังมาเขานิยมใช้ของจริงมาเปรียบเทียบ
“โฆษณาของบริษัทที่ผมทำมาหากินด้วย เขาเอาดีเอ็นเอมาเป็นตัวเลือกอาหารให้เหมาะสม ร่างกายบางคนมีความสามารถในการย่อยสลายไขมันดี บางคนไม่ เขาอธิบายว่า เขาเอาคนอ้วนและคนผอมมาถ่ายรูปวางเคียงกันให้เห็นถึงความมั่นใจ my DNA is my choice ต่อไปนี้ฉันสามารถเลือกอาหารให้เหมาะกับดีเอ็นเอของฉันได้ ฉะนั้น ต่อไปนี้ฉันมั่นใจแล้ว..ผมมานั่งคิดถึงเมื่อก่อนตอนเป็นนายกฯ อาจารย์พันธ์ศักดิ์ (วิญรัตน์) ที่ปรึกษาบอกว่า เราต้องใช้นางแบบชาวอีสานมาเดินแฟชั่นของไทย แล้วต้องเป็นนางแบบที่เป็นธรรมชาติจริงๆ ไม่ต้องศัลยกรรมอะไร ผมฟังไม่ค่อยเข้าใจ แต่ตอนนี้ผมเข้าใจแล้ว ผมเห็นนางแบบเมืองนอกมาเดินแบบ มีคนจ้างเยอะมากทั้งๆ ที่มาตรฐานทั่วไปอาจมองว่าไม่สวย ดังนั้น ความสวยไม่สวยมันอยู่ที่เราจะจัดวางให้เหมาะสมอย่างไร” ทักษิณกล่าวพร้อมทั้งบอกว่าโลกของการโฆษณาเปลี่ยนไปมากรวมทั้งช่องทางการสื่อสารด้วยที่ปัจจุบันเน้นที่โซเชียลมีเดีย
ช่วงสุดท้ายของรายการ อดีตนายกฯ แนะนำหนังสือชื่อ Race Against the Machine หรือ การแข่งกับเครื่องจักร เขียนโดยอาจารย์จาก MIT (Massachusetts Institute of Technology) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงมากระดับโลก นั่นคือ Erik Brynjolfsson and Andrew McAfee เขาพูดถึง great restructuring หรือการปฏิรูปโครงสร้างครั้งใหญ่ เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้นำหน้าความชำนาญของมนุษย์และนำหน้าองค์กรทั้งหลาย ถ้าเราไม่ปรับตัวเพื่อรองรับเทคโนโลยีเราจะพัง หนังสือเล่มนี้เขียนปี 2011 หลังเกิดวิกฤตทางการเมืองในอเมริกา หรือ Financial Crisis ปี 2008 เขาบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องของการถดถอยทางเศรษฐกิจ หรือไม่ได้เป็นเรื่องของการเงินอย่างเดียว แต่ปัญหาจริงๆ แล้วคือ เทคโนโลยีแซงหน้าความสามารถความชำนาญของมนุษย์และการปรับตัวขององค์กรต่างหาก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง