รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวถึงกรณีคณะ กมธ.มีมติเห็นด้วยกับร่างของฝ่ายรัฐบาลเกี่ยวกับระยะเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 240 วัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า นอกจากที่ประชุมจะมีมติเรื่องกรอบเวลาการยกร่างฯ ของ ส.ส.ร.แล้ว ยังได้มีมติเรื่อง ห้าม ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ด้วย
เมื่อถามว่า กมธ.ได้คุยกันหรือไม่ว่า หากมีการแก้ไขมาตราอื่น ที่ถ้าแก้ไขแล้วมีผลกระทบกับ มาตรา 1 และมาตรา 2 ทาง ส.ส.ร.สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่ รังสิมันต์ กล่าวว่า ส่วนตนมองว่าเรื่องนี้อยู่ที่ดุลพินิจและอำนาจของ ส.ส.ร.ในอนาคต แต่สำหรับ กมธ.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังไม่ได้คุยลงลึกรายละเอียดขนาดนั้น จริงๆตนพยายามชงเรื่องนี้ใน กมธ.หลายครั้ง แต่ทุกคนก็ยังผ่านไป ตนพยายามอธิบายว่า ตอนรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลังจากทำประชามติไปแล้ว โดยมีคำให้สัมภาษณ์ของวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในทำนองว่ามีการขอมาตนก็ได้ถามใน กมธ.ว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นมาอีก ส.ส.ร.จะทำอย่างไร หรือจะกลายเป็นภาระทำให้รัฐสภาต้องมานั่งแก้ไข เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ได้ จะกลายเป็นเกิดความเสียหาย ประชาชนตั้งคำถามและส่งผลร้ายต่อสถาบันด้วยซ้ำไป ต้องยอมรับว่าเรื่องแบบนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้ว
“สัปดาห์ที่แล้วตอนเราโหวต มาตรา 1-2 มีการเสนอว่า จะคงร่างรัฐบาลที่ห้ามแก้ไขสองหมวดดังกล่าว หรือจะมีการแก้ไขได้ ปรากฏว่าเสียงออกมาให้คงร่างรัฐบาล 19 ต่อ 14 เสียง ซึ่งใน 14 เสียงที่ไม่เห็นด้วยนั้น มีไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะ กมธ.มาอยู่ในเสียงข้างน้อย 14 เสียงด้วย เพราะไพบูลย์ มีความเห็นในทำนองว่า ไม่ควรล็อกไว้เฉพาะแค่หมวด 1 หมวด 2 แต่ควรล็อกเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจด้วย คือ ส.ส.ร.ห้ามแก้ไข ทั้งนี้ เวลาเราโหวตไม่ได้โหวตแค่ว่าจะให้ ส.ส.ร.แก้หมวด 1 หมวด 2 ได้ไหม แต่เราโหวตแค่ว่าจะเป็นไปตามรัฐบาลหรือมีการแก้ไข ทำให้คนอื่นๆ ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยมาอยู่ฟากเดียวกับผมที่ต้องโหวตค้าน” รังสิมันต์ กล่าว
ทั้งนี้ รังสิมันต์ ยังกล่าวว่า องค์ประกอบความผิดมาตรา 112 คือต้องเป็นกรณีดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ปัญหาคือสมมุติว่า เราจะแก้ไขหรือปล่อยให้ ส.ส.ร.แก้รัฐธรรมนูญได้ทุกมาตรา ยังนึกไม่ออกว่าจะเป็นการไปดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย อย่างไร แต่ในทางกลับกัน การนำมาตรา 112 มาใช้ในเรื่องที่เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ แสดงให้เห็นว่า การใช้มาตรา 112 เป็นปัญหายิ่งขึ้น เพราะถูกใช้กับคนที่เห็นต่างทางการเมือง หรือคนที่อาจทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ยิ่งทำแบบนี้จะเป็นผลดีต่อสถาบันหรือไม่
การเปิดให้ส.ส.ร.แก้ไขได้ทุกเรื่องเป็นการใช้เหตุผล เรากำลังออกแบบรัฐธรรมนูญที่หวังเป็นฉบับถาวรฉบับสุดท้ายของประชาชน ที่ทุกฝ่ายยอมรับ เริ่มเห็นว่าประชาชนกำลังจะเป็นเจ้าของ มีสิทธิเลือกและตัดสินใจอะไรบางอย่างได้ เราก็ต้องไปล็อกบางอย่างไม่ให้ประชาชนไปทำ น่าเสียดายสุดท้ายก็เกิดการสร้างข้อครหาว่าประชาชนไม่ได้มีอำนาจตัดสินใจทุกเรื่อง ทั้งที่เรื่องรัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนด้วยซ้ำ
นิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าในการพิจารณาว่า ขณะนี้ กมธ.พิจารณาจนได้ข้อสรุปในหลักการสำคัญๆเกือบครบทุกมาตรา โดยข้อสรุปแต่ละเรื่องถือเป็นการประนีประนอมสมานฉันท์กันของทุกฝ่าย โดยถือเอาหลักการของรัฐธรรมนูญที่พึงประสงค์เป็นหลัก ไม่มีใครยึดถือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่าง เรื่องกรอบเวลาการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ร่างแรกของฝ่ายค้าน กำหนดไว้ 120 วัน ขณะที่ ร่างของรัฐบาล กำหนดให้ 240 วัน แต่เมื่อได้พูดคุยกันจริงๆก็ได้ข้อสรุปที่ไม่เกิน 240 วัน ถือว่า เป็นทางการกลาง เพราะส.ส.ร.จะทำเสร็จก่อนเวลาที่กำหนดก็ได้ แต่ทุกฝ่ายก็ยอมให้มีเวลาไว้อย่างพอเพียง 240 วันตามร่างของรัฐบาล
ประเด็นต่อมาที่มีการตกลงร่วมกันคือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐะรรมนูญที่ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสมาชิก ตกลงร่วมกันว่าในเมื่อไว้ใจ ส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกมาโดยตรงแล้ว ก็ต้องไว้วางใจให้เขาพิจารณาตั้งกรรมการยกร่างขึ้นมาเองโดยอิสระ จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนที่ปราศจากการชี้นำอย่างแท้จริง และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์สามฝ่ายที่แท้จริง คือการที่กรรมการฝ่ายวุฒิสมาชิกเสนอในบทบัญญัติที่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญของส.ส.รแล้วเสร็จ ก็ให้นำเข้ารัฐสภามีมติเห็นชอบก่อนตามร่างของรัฐบาลแล้วนำไปให้ประชาชนลงประชามติก่อนตามร่างของฝ่ายค้าน ซึ่งทั้งสามฝ่ายก็ได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการสมานฉันท์นี้
นิกร กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นที่ยังคงค้างการพิจารณา และจะมีการมติในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ นั่นคือ มติของการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ปกติซึ่งเดิมที ร่างของฝ่ายค้านกำหนดไว้เป็น เกินกึ่งหนึ่งของสองสภาเพื่อให้ง่ายในการแก้ไข แต่รัฐบาลกำหนดไว้เป็น 3 ใน 5 ในขณะที่ฝ่ายวุฒิสมาชิกเห็นว่าน่าจะเป็น 2 ใน 3น่าจะเหมาะกว่าในฐานะกฏหมายแม่บท และอีกมาตราหนึ่งส่วนสุดท้ายคือ ถ้ากรณีร่างของส.ส.ร.มีอันตกไป จะต้องใช้เสียงจำนวนเท่าใดของสองสภาเพื่อการเริ่มต้นกระบวนการใหม่ ซึ่งส่วนนี้ก็น่าจะสอดคล้องกันกับมติแรก
อย่างไรก็ตาม ตามปฏิทินเมื่อกมธ.พิจารณาจบแล้ว ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จะเชิญผู้แปรญัตติ ทั้ง 109 มาสงวนคำแปรญัตติต่อไป ซึ่งคาดว่า จะเสร็จได้ภายในวันเดียว เพราะขณะนี้ร่างเดิมได้ถูกแก้ไขไปเยอะมาก และทราบว่า จะมีการมอบอำนาจกันในแต่ละพรรคเพื่อมาสงวนความเห็นไว้สำหรับการอภิปรายในที่ประชุมใหญ่รัฐสภาเท่านั้น ก่อนที่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ กมธ.จะนัดประชุมตรวจร่างทั้งหมด
ก่อนส่งเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่ออภิปรายในวาระ 2 วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ และจะเปิดสมัยวิสามัญเพื่อโหวตวาระ 3 กลางเดือนมีนาคม พร้อมๆกับพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประชามติด้วย อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าทุกอย่างขณะนี้เป็นไปได้ด้วยดีเกินคาดหวังไว้ ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ของประชาชน ที่จะเป็นให้เป็นทางออกสำหรับประเทศ ในยามที่ยากลำบากในทุกๆด้านเช่นนี้
อ่านเพิ่มเติม