ไม่พบผลการค้นหา
คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ 'พรรคเพื่อไทย' โดย 'เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ได้จัดรัฐมนตรีทั้งหมด 17 คนในสัดส่วนของ 'พรรคเพื่อไทย' โดยตำแหน่งส่วนใหญ่ได้กระทรวงสำคัญด้านเศรษฐกิจเพื่อมาผลักดันนโยบายที่เคยหาเสียงไว้

โดยกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญที่อยู่ภายใต้การดูแลของ 'พรรคเพื่อไทย' ประกอบด้วย 'กระทรวงพาณิชย์' มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พาณิชย์

กระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี ลงมาควบ รมว.การคลัง มี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เป็น รมช.การคลัง 

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มี สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตัวแทนกลุ่มโคราชของ 'วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล' เป็นเจ้ากระทรวง

กระทรวงคมนาคม พรรคเพื่อไทยคุมทุกตำแหน่ง นำโดย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รมว.คมนาคม มนพร เจริญศรี สส.นครพนม เป็น รมช.คมนาคม สุรพงษ์ ปิยะโชติ อดีตนายก อบจ.กาญจนบุรี เป็น รมช.คมนาคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มี ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐมนตรี

กระทรวงทั้งหมดคือเป้าหมายที่ 'พรรคเพื่อไทย' จะต้องพิสูจน์ผ่านการผลักดันนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา

ส่วนกระทรวงที่จะคอยสนับสนุนการสร้างรายได้ คือ กระทรวงการต่างประเทศ ที่มี ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.การต่างประเทศ และยังแต่งตั้ง จักรพงษ์ แสงมณี มือทำงานของ 'เศรษฐา' เป็น รมช.การต่างประเทศ เพื่อฟื้นการเจรจาการค้ากับต่างประเทศในการปลดล็อกเรื่องต่างๆ ให้เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาลืมตาได้

อีกทั้งยังให้ เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช นั่ง รมว.วัฒนธรรม เพื่อพลิกโฉมกระทรวงวัฒนธรรมให้มาช่วยในเรื่องนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ในอนาคต

เป็นการเดินเกมและเดิมพันภายใต้รัฐบาลผสม 11 พรรคการเมือง ซึ่งแบ่งสัดส่วนให้พรรคภูมิใจไทยถึง 8 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ 4 คน พรรคพลังประชารัฐ 3 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน 

ด้วยข้อจำกัดตามกลไกรัฐธรรมนูญ ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องดึง 11 พรรคการเมืองมาร่วมเห็นชอบในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเป็นอุปสรรคที่ทำให้ 'พรรคเพื่อไทย' ไม่ได้กระทรวงสำคัญบางกระทรวงมาเป็นเจ้ากระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

เศรษฐา.jpg

นโยบายมิติเศรษฐกิจที่เกี่ยวพันกับกระทรวงแรงงานจึงต้องดูกันต่อไปว่า รัฐบาลภายใต้การนำพรรคเพื่อไทยจะสามารถประสานกับพรรคภูมิใจไทยได้เพียงใด

เพราะเดิมที 'พรรคเพื่อไทย' เคยชูนโยบายสำคัญในเวทีหาเสียงทุกเวทีทั่วประเทศจะผลักดัน นโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน โดยประกาศว่า ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันจะเกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งนโยบายนี้ “ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน” แต่ต้องการทำให้ เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก “ทุนนิยมที่มีหัวใจ” 

ส่วนคนจบปริญญาตรีจะมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งข้าราชการด้วย โดยเน้นแคมเปญว่า "คนไทย ไม่จนอีกต่อไป ทุกครอบครัว มีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท / เดือน"

"ลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอ ต่อ ”การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี”

สำหรับนโยบายด้านเศรษฐกิจอื่นๆที่คาดว่า รัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจน่าจะผลักดันได้ เพราะมีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน

เศรษฐา เพื่อไทย กระเป๋าเงินดิจิทัล 8680.jpegนโยบาย เพื่อไทย เงินดิจิทัล _8719.jpeg

โดยนโยบายสำคัญด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยที่เคยหาเสียงไว้

  • คนไทย ไม่จนอีกต่อไป ทุกครอบครัว มีรายได้ ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท / เดือน

-ลดช่องว่างรายได้คนไทย ให้ทุกคนมีรายได้เพียงพอ ต่อ ”การดำรงอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี”

-เราจะมีการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนเพื่อให้ครอบครัวได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมไปกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการต่างๆ ที่สำคัญคือ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power (OFOS)

-หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท/เดือนก็จะได้รับการเติมให้ครบ 20,000 บาท/เดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ

-ผู้จะรับสิทธิ์จะลงทะเบียนผ่านระบบบนแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน

-มีการลงทะเบียนและอัพเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเพื่อดึงคนเข้าระบบ ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังและทำให้รัฐสามารถเข้าช่วยเหลือได้อย่างแม่นยำ

  • กระตุ้นเศรษฐกิจใหญ่ เติมเงินให้ทุกคนระบบ ใช้จ่ายใกล้บ้านผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้ทุกคน ใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร เป็นนโยบายหลักที่ต้องการ “ปั๊มหัวใจ” ของประชาชนเป็นอันดับแรกด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ “ใช้จ่ายใกล้บ้านด้วยกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)” 

-คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จะได้ ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet)

-กระเป๋าเงินดิจิทัลจะมีอายุการใช้งาน 6 เดือนสำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุขโดยเฉพาะ ยาเสพติดและการพนัน และไม่สามารถซื้อของบนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้

-เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้ เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่ “อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร” เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะมีการพิจารณาเป็นกรณีด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน

-ร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทได้กับธนาคารในโครงการในภายหลัง

เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล ในระยะยาวเพื่อนำประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลางของ FinTech

-กระเป๋าเงินดิจิทัลคือเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินสกุลใหม่ แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงิน ที่ใช้ Blockchain เขียนเงื่อนไขลงไปในนั้น เพื่อนโยบายการคลังที่ตรงจุด ไม่มีความเสี่ยง ไม่มีการเก็งกำไร ไม่มีการถูกทุบ ไม่มีการขาดทุน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นได้ ไม่มีราคาตก-ราคาขึ้น เพราะทุกเหรียญมีค่าเท่าเงินบาทเสมอ รับประกันโดยรัฐบาล

-กระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้ระบบ Blockchain มีความปลอดภัยสูงสุด สูงกว่าระบบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รู้เส้นทางการเงินทุกธุรกรรม รู้ผู้รับ รู้ผู้จ่าย เป็นระบบที่มีความโปร่งใสสูงสุด ตรวจสอบได้ทุกธุรกรรม

-ทุกบาททุกสตางค์ที่ใช้จ่ายไปจะหมุนเวียนเข้ามาเป็นภาษีของรัฐบาลเพื่อเอา เงินไปสนุบสนุนประชาชนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น

เศรษฐา  เพื่อไทย เมืองทองธานี  2853.jpegเศรษฐา แพทองธาร เพื่อไทย เมืองทองธานี  _2849.jpeg

นอกจากนี้ นโยบายของพรรคเพื่อไทย ยังชูในเรื่อง

  • “เขตธุรกิจใหม่” (New Business Zone – NBZ) เพื่อกระตุ้นตลาดแรงงานและยกระดับเศรษฐกิจทั้งระบบทั่วประเทศ โดยหัวใจสำคัญคือ การเปลี่ยน”รัฐอุปสรรค” ให้เป็น “รัฐบริการ” ผ่านการสร้างหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่จะสนับสนุนการลงทุนให้ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ ลดการคอร์รัปชันอย่างเต็มรูปแบบ

เขตธุรกิจใหม่จะเริ่มจากหัวเมืองก่อน เช่น ภาคเหนือใน จ.เชียงใหม่ เพราะมีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบครันเป็นทุนเดิม และเมื่อธุรกิจในพื้นที่เติบโตก็จะกระจายไปสู่จังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ด้วยเช่นกัน อีกทั้งประชากรในจังหวัดรอบข้างเหล่านี้ก็จะมีทางเลือกในการทำงานที่ใกล้บ้านมากยิ่งขึ้น ทรัพยากรจะกระจาย ไม่กระจุกอยู่แค่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป

เขตธุรกิจใหม่ ลดอุปสรรค เพิ่มแรงจูงใจ ดึงดูดการลงทุน

– One Stop Service อยากติดต่อภาครัฐเรื่องไหนก็ครบจบที่จุดเดียว การขออนุญาตใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจต้องไม่ยุ่งยากซับซ้อน 

– รัฐบาลดิจิทัล ทำธุรกรรมใดๆ ไม่ว่าจะชำระค่าธรรมเนียมหรือทำสัญญา ตลอดจนจัดเก็บเอกสารทุกอย่างบน Blockchain สะดวก โปร่งใส ไม่มีใต้โต๊ะ 

– สร้างแรงจูงใจทางภาษี ให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพให้เศรษฐกิจภูมิภาค รวมถึงสร้างตลาดแรงงานรายได้สูง

–ที่ปรึกษาเฉพาะทาง จัดเตรียมผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกิจและการลงทุนอย่างครบวงจร เขตธุรกิจใหม่ 

เป้าหมายของ 'พรรคเพื่อไทย'ต้องการเดินหน้าเขตธุรกิจใหม่ (NBZ) โดยหวังให้ภาพมหานครใหญ่ตามหัวเมืองภาคต่างๆ จะไม่ใช่ภาพฝันแต่เป็นภาพจริง เงินจะสะพัดในท้องถิ่น ตลาดแรงงานจะขยายตัว เพื่อให้ประชาชนสามารถเลือกทำงานในจังหวัดบ้านเกิด ไม่ใช่แค่งานอะไรก็ได้ แต่เป็นงานที่หลากหลาย ตอบโจทย์ความฝันเยาวชนไทย 

อีกทั้งเขตธุรกิจใหม่จะกลายเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและสตาร์ทอัปสายเทคโนโลยี คนไทยสายเทคจะมีงานทำ และเขตธุรกิจใหม่จะเป็นศูนย์กลางของ Digital Nomad

นอกจากนี้ธุรกิจห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ล้วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของคนที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจังหวัดที่เป็นเขตธุรกิจใหม่ แต่จังหวัดข้างเคียงก็จะได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า 

นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่ใช้เป็นหลักการเป็นหัวใจในการบริหารประเทศของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยคือ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” เพื่อทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% โดยเพื่อไทยใช้แนวคิด “รดน้ำที่ราก” เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง