ไม่พบผลการค้นหา
10 มิ.ย. นี้ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เป็นโอกาสดีจะสังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้าและปรากฏสว่างมาก หากสภาพอากาศเป็นใจ มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า วันที่ 10 มิ.ย. 2562 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ (Opposition) ตรงกับเวลาประเทศไทย ประมาณ 22.21 น. ตำแหน่งตรงข้ามดวงอาทิตย์ หมายถึง ตำแหน่งที่ดวงอาทิตย์ โลก และดาวพฤหัสบดี เรียงอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวพฤหัสบดีอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุด ห่างประมาณ 640 ล้านกิโลเมตร (4.28 AU) เมื่อดวงอาทิตยลับขอบฟ้าในวันดังกล่าว ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณกลุ่มดาวคนแบกงู ความสว่างปรากฏ -2.6 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถสังเกตเห็นดาวพฤหัสบดีได้ตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเเก่การสังเกตการณ์เป็นอย่างยิ่ง

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากสังเกตดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็ก จะมองเห็นแถบเมฆ และดวงจันทร์บริวารหลักทั้ง 4 ดวงของดาวพฤหัสบดี เรียกว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลียน (Galilean Moons) ได้แก่ ไอโอ (Io) ยูโรปา (Europa) แกนิมีด (Ganymead) และคัลลิสโต (Callisto) และหากใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 8 นิ้ว กำลังขยายตั้งแต่ 50 เท่าขึ้นไป จะมองเห็นจุดแดงใหญ่บนดาวพฤหัสบดี (Great Red Spot) ได้อย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ตั้งกล้องโทรทรรศน์บริการประชาชนร่วมชม "ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี" วันที่ 10 มิ.ย. 2562 เวลา 18:00-22:00 น. เชิญชวนผู้สนใจร่วมกิจกรรมได้ ณ จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ : อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ (081-8854353), นครราชสีมา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา (086-4291489), ฉะเชิงเทรา : หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา (084-0882264), และสงขลา : ลานชมวิวนางเลือก หาดสมิหลา อ.เมือง จ.สงขลา (095-1450411)