ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เผยแพร่บทวิเคราะห์และประกาศปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2563 โดยระบุว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส 2019 Novel Coronavirus (2019-nCoV) ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 และความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปีได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทยผ่านหลายช่องทาง ทั้งผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกของไทยจากโรคระบาดและมาตรการของรัฐบาลจีนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอย่างรวดเร็วและเข้มงวดตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ม.ค.2563
รวมไปถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการรับเหมาก่อสร้างภายในประเทศและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากความล่าช้าในการอนุมัติงบประมาณประจำปี ดังนั้น อีไอซีจึงได้ทำการประเมินและวิเคราะห์ผลกระทบจากทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวต่อสภาวะเศรษฐกิจของไทยในปี 2563
ไวรัสโคโรนา ส่งผลกระทบต่อเนื่องถึง 'การผลิตและขนส่ง'
โรคระบาด 2019-nCoV ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยใน 2 ช่องทางหลัก คือ ภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก โดยจากมาตรการที่เข้มงวดของทางการจีน ด้านการห้ามไม่ให้กรุ๊ปทัวร์ออกนอกประเทศ ประกอบกับความตื่นกลัวของผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยน้อยลง
นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอีกหลายประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงไตรมาส 1/2563 จึงมีแนวโน้มส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่ในส่วนของการเดินทางท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยของคนไทย คาดว่าก็จะได้รับผลกระทบเช่นกันจากความตื่นกลัวของสถานการณ์โรคระบาด จึงเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการบริโภคภาคเอกชน
อีกเช่นกัน สถานการณ์โรค 2019-nCoV ยังส่งผลต่อการหยุดชะงักของการผลิตและขนส่ง (supply disruption) เนื่องจากมาตรการควบคุมการเดินทางและขยายวันหยุด รวมถึงมาตรการอื่น ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งของจีน ซึ่งจะมีทั้งผลดีและผลเสียต่อภาคธุรกิจไทย กล่าวคือ ธุรกิจที่มีฐานการผลิตในจีน หรือต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากจีนในการผลิต หรือเป็นธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน จะได้รับผลกระทบจากการหยุดชะงักดังกล่าว
อย่างไรก็ดี บางภาคธุรกิจอาจได้รับผลดีจากการส่งสินค้าทดแทนสินค้าจีนที่ไม่สามารถผลิตได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
เปรียบช่วง 'ซาร์ส' ฉุดนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวร้อยละ 50 ธุรกิจซึมยาว 5 เดือน
สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว อีไอซีได้ใช้เหตุการณ์โรคระบาดซาร์ส (SARS :Severe Acute Respiratory Syndrome) เป็นเหตุการณ์อ้างอิง เนื่องจากมีคุณลักษณะคล้ายกันหลายประการ โดยงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวจีน ซึ่งถูกเผยแพร่ในเบื้องต้นบนเว็บไซต์ฐานข้อมูล bioRxiv (bioarchives) พบว่าลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส 2019-nCoV มีส่วนที่เหมือนกับลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัส SARS-related coronavirus (SARS-CoV) ถึงร้อยละ 79.5 และเหมือนกับลักษณะพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาวถึงร้อยละ 96
นอกจากนี้ ทั้งโรคซาร์สและโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส 2019-nCoV ยังมีคุณลักษณะที่คล้ายคลึงกันในมิติอื่น ๆ ด้วย อาทิ การระบาดของโรคซาร์ส (SARS) มีช่วงเวลาระหว่างเดือน พ.ย. 2545 ถึง ก.ค. 2546 แต่ทางการจีนใช้เวลากว่า 3 เดือนก่อนที่จะรายงานต่อองค์การอนามัยโลก (World Health Organization, WHO) ในเดือน ก.พ. 2546 ซึ่งหลังจากนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือน ส.ค.2546 โดยมีการหดตัวมากสุดที่ หรือติดลบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการหดตัวของทั้งนักท่องเที่ยวจีนและนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น ๆ ด้วย
แก้เร็วกว่า 'ซาร์ส' รับผลกระทบน้อยลง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรค 2019-nCoV กับโรค SARS ก็มีความแตกต่างกันในหลายประเด็น ซึ่งมีทั้งปัจจัยที่เอื้อให้การควบคุมโรค 2019-nCoV ในปัจจุบันทำได้ง่ายขึ้น และปัจจัยที่ทำให้การระบาดของโรคมีความรวดเร็วมากขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น อีไอซีคาดว่าการควบคุมโรค 2019-nCoV มีแนวโน้มใช้ระยะเวลาสั้นกว่าในกรณีของ SARS เนื่องจากความรวดเร็วของทางการจีนในการรายงานต่อ WHO ซึ่งทำให้ประเทศอื่น ๆ สามารถตอบสนองต่อการระบาดของโรค 2019-nCoV ได้อย่างทันท่วงที รวมไปถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของทางการจีนที่มีความรวดเร็วและเข้มงวด เช่น การระงับระบบคมนาคมขนส่งทั้งหมดในเมืองอู่ฮั่นและเมืองอื่น ๆ ในมณฑลหูเป่ยตั้งแต่วันที่ 23-24 ม.ค.2563 รวมถึงการระงับการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีนประเภทกรุ๊ปทัวร์ที่จะเดินทางออกนอกประเทศจีนตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2563 ประกอบกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่มีมากขึ้น จึงทำให้คาดว่าการควบคุมโรคจะมีประสิทธิผลมากกว่าเดิม
กรณีเลวร้าย ปี 2563 คาดนักท่องเที่ยวหาย 4.7 ล้านคน ธุรกิจท่องเที่ยวซึมยาว 6 เดือน
อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คงที่ และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อีไอซีจึงทำการวิเคราะห์ในหลายกรณี (Scenario Analysis) ได้แก่ กรณีฐาน (Base), กรณีดีขึ้น (Better) และกรณีเลวร้าย (Worse) โดยทั้ง 3 กรณี จำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัว (แบบ %YOY) มากสุดในช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. 2563 โดยมีสมมติฐานให้นักท่องเที่ยวจีนแบบกรุ๊ปทัวร์หายไปทั้งหมดในช่วง 2 เดือนนี้ จากมาตรการห้ามประกอบการของทางการจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนแบบเที่ยวเอง หรือ Free Individual Traveler (FIT) และนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น ก็มีการลดลงมากเช่นเดียวกัน และจะค่อย ๆ ฟื้นตัวหลังจากเดือน มี.ค. เป็นต้นมา
ดังนั้น ในกรณีฐาน (Base) จำนวนนักท่องเที่ยวจะหดตัวเป็นระยะเวลา 4 เดือน และกลับมามีจำนวนเท่ากับปี 2562 ในเดือน มิ.ย.2563 ขณะที่กรณีดีขึ้น (Better) จำนวนนักท่องเที่ยวจะมีระยะเวลาหดตัวน้อยกว่าที่ 3 เดือน และสุดท้ายในกรณีเลวร้าย (Worse) นักท่องเที่ยวจะหดตัวยาวนานสุด โดยมีระยะเวลาถึง 6 เดือน
ตามผลการวิเคราะห์ปรากฏว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยปี 2563 ปรับลดเหลือ 36.6 – 38.8 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 41.3 ล้านคน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งเห็นว่าในกรณีฐาน (Base) จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 จะเหลือ 38.0 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 4.6 ขณะที่ในกรณีของดีขึ้น (Better) จำนวนนักท่องเที่ยวเหลือ 38.8 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 2.5 และสุดท้ายในกรณีเลวร้าย (Worse) นักท่องเที่ยวจะเหลือเพียง 36.6 ล้านคน หรือคิดเป็นการหดตัวมากถึงร้อยละ 8.1
นอกจากผลกระทบในส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว การท่องเที่ยวภายในประเทศก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเช่นกัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวจีน เช่น กรุงเทพฯ เมืองพัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนสูงที่สุดในโลกหากไม่รวมเขตการปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน รวมถึงเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส 2019-nCoV ในระดับสูง (ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2020 ไทยมีผู้ติดเชื้อ 19 คน เป็นรองเพียงจีนและญี่ปุ่น) จึงทำให้คนไทยอาจมีความกังวลและตื่นกลัวกับสถานการณ์ และลดการเดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้า ตลาด และแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ
นอกจากนี้ โรคระบาด 2019-nCoV ยังส่งผลลบต่อเศรษฐกิจจีน โดยจากบทเรียนของโรค SARSเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบค่อนข้างมากโดยเฉพาะภาคบริการ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น จากเหตุการณ์โรค SARS ในปี 2546 พบว่าหลังจากที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2546 ได้ส่งผลให้ยอดค้าปลีกและผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวลงในช่วงต้นไตรมาสที่ 2/2546 แต่หลังจากจำนวนผู้ป่วยเริ่มคงที่ตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2546เป็นต้นไป ยอดค้าปลีกและผลผลิตอุตสาหกรรมก็กลับมาฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 ปีนั้น
สำหรับผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงดังกล่าว เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2/2564 ได้ชะลอตัวลงอยู่ที่ร้อยละ 3.4 เทียบกับไตรมาส 1 ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 12 โดยปัจจัยฉุดเศรษฐกิจจีนที่สำคัญ คือ ภาคบริการ (ภาคการขนส่ง ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรม) ซึ่งหดตัวในไตรมาสที่ 2/2546 จากมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวในจีน แต่ต่อมาในไตรมาส 3 ที่โรค SARS เริ่มอยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจีน จึงได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการการจำกัดไปบางส่วน ทำให้เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :