ไม่พบผลการค้นหา
กลุ่มเฟซบุ๊กเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 ผู้คนให้ความสนใจเนื้อหาบันเทิงรวมไปถึงข้อมูลการดูแลบุตรและการเรียนการสอน เฟซบุ๊ก ชี้ต้องเตรียมความพร้อมแอดมินให้มากกว่าเดิม

ในงานแถลงข่าวงาน ‘Thailand Community Day’ของแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กสะท้อนตัวเลขการเติบโตของชุมชนออนไลน์หรือกลุ่มเฟซบุ๊กในประเทศไทยมียอดการใช้งานต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมาถึง 6 ล้านกลุ่ม คิดเป็นจำนวนสมาชิกมากกว่า 45 ล้านคน 

ด้วยตัวเลขมหาศาลขนาดนี้ เฟซบุ๊กชี้ว่า จึงมีความจำเป็นในการพัฒนาทักษะผู้ดูแลกลุ่มหรือแอดมินกลุ่มเพื่อให้สามารถดูแลกลุ่มที่ตนเองดูแลอยู่รวมไปถึงสมาชิกต่างๆ ผ่าน 4 เครื่องมือหลัก คือ 1. ความช่วยเหลือ 2. ความรู้ 3. เครื่องมือ และ 4. เงินทุน 

'เกรซ แคลปแฮม' หัวหน้าฝ่ายพันธมิตรและโครงการเพื่อชุมชนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เฟซบุ๊ก ชี้ว่า ยิ่งช่วงเวลาที่โลกต้องอยู่ห่างจากกันในเชิงกายภาพ กลุ่มออนไลน์เหล่านี้ยิ่งมีความสำคัญในการเชื่อมโลกมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ แพลตฟอร์มจึงจัดโครงการ 'Community Accelerator' ที่มีเป้าหมายในการฝึกอบรมผู้นำชุมชนออนไลน์ทั่วโลก ในระยะเวลา 6 เดือนให้มีความพร้อมในการดูแลชุมชนของตัวเองมากยิ่งขึ้น 

ด้าน 'ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล' ผู้นำจากกลุ่ม Run2gether กล่าวว่า กลุ่มวิ่งของตนเองนั้น เริ่มขึ้นประมาณ 5 ปีที่แล้ว โดยมีสมาชิกแรกเริ่มเป็นนักวิ่งที่พิการทางสายตาทั้งหมด 12 คน และนักวิ่งดูแลอีก 12 คน โดยปัจจุบันมีสมาชิกในกรุงเทพฯ ประมาณ ราวๆ 20,000 คน และมีชุมชนออนไลน์ดังกล่าวเป็นเสมือนแหล่งพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่างๆ ของสมาชิก อีกทั้งยังเป็นสถานที่ให้สมาชิกได้นัดพบปะกันในกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากที่ทางกลุ่มเป็นผู้จัด 

ด้าน 'ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์' และ 'ชลทิพย์ ยิ้มย่อง' ผู้ร่วมก่อตั้งชุมชน Read for the Blind และแอดมินกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ (Help Us Read) อธิบายว่าเครื่องมือช่วยเหลือแอดมิน อย่างพวกเขา ทำให้เพจรวมไปถึงกลุ่มสามารถเติบโตและเข้าถึงผู้คนได้หลากหลายขึ้น โดยปัจจุบัน มีผู้ติดตามเพจ Read for the Blind จำนวนกว่า 190,000 คน และมีสมาชิกกลุ่มช่วยอ่านหน่อยนะ อีกกว่า 19,000 คน ซึ่งสุดท้ายแล้วก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มความช่วยเหลือให้กับผู้พิการ

ผู้พิการ.jpg


ความคึกคักกลุ่มมหาวิทยาลัย - กลุ่มอื่นๆ

หลังจากรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการทำงานจากที่บ้านกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม หนึ่งในช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างนี้ก็คือกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเปิดพื้นที่ขายของและและเปลี่ยนสินค้าต่างๆ 

โดยกลุ่มแรกที่นำร่องสำหรับแนวคิดนี้คือ 'มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน' ซึ่งตามตัวเลข ณ วันที่ 27 เม.ย.เวลาประมาณ 12.00 น.มีสมาชิกแล้วมากกว่า 162,000 บัญชี ขณะที่ฝั่ง 'จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส' มีสมาชิกสูงถึงเกือบ 220,000 บัญชี นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มของแต่ละมหาวิทยาลัยกระจายออกไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อไปดูตัวเลขหลังบ้านจากเฟซบุ๊ก 'เกรซ' ชี้ว่า ประเภทกลุ่มที่มียอดการมีส่วนร่วมและยอดการสร้างกลุ่มที่เพิ่มขึ้นจะเป็นในประเภทการให้ข้อมูลบันเทิงเป็นหลัก อาทิ กลุ่มร้องเพลง รวมไปถึงกลุ่มที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ในการเลี้ยงดูบุตร และกลุ่มการแชร์ข้อมูลการเรียนการสอนสำหรับครูอาจารย์

ทั้งนี้ 'เกรซ' ย้ำว่า เป็นเรื่องยากที่จะตอบว่ากลุ่มประเภทใดมีการเติบโตเป็นพิเศษ เนื่องจากเฟซบุ๊กเองรอบรับกลุ่มหลากหลายประเภทมาก แต่ผลของการกักตัวอยู่ที่บ้านนั้นทำให้ยอดการมีส่วนร่วมในกลุ่มเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ