ไม่พบผลการค้นหา
ประเด็น 'ความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่' ถูกใช้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในไต้หวันมาโดยตลอด แต่เมื่อ 'ไช่อิงเหวิน' ปธน.หญิงผู้ชูนโยบายเอกราชไต้หวัน ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ก็ต้องจับตาดูว่าจะดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง หรือเป็นแค่กลยุทธ์หาเสียง

เมื่อวันที่ 11 มกราคม ที่ผ่านมา ไช่อิงเหวินจากพรรค DPP หรือ Democratic Progressive Party ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 2 และยังประกาศชูนโยบายให้ไต้หวันเป็นประเทศเอกราชดังเช่นที่เคยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้งเมื่อครั้งที่ชนะการเลือกตั้งสมัยแรก ซึ่งโฆษกรัฐบาลจีนที่ปักกิ่งออกมาแถลงแทบจะในทันทีว่า "จีนจะไม่เปลี่ยนนโยบายที่มีต่อไต้หวัน" นั่นคือจีนจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดหากไต้หวันประกาศเอกราช และจีนยืนยันที่จะใช้นโยบายรวมชาติกับไต้หวัน

ประเด็นเรื่องการเป็นเอกราชนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ถูกชูขึ้นเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากประชาชนในการแข่งขันเลือกตั้งระหว่างนักการเมืองไต้หวันด้วยกันเอง ตั้งแต่ในช่วงทศวรรษที่ 1990 ส่วนก่อนหน้าทศวรรษที่ 1990 รัฐบาลไต้หวันไม่เคยคิดแยกตัวหรือประกาศเอกราชจากจีน แต่คิดว่าตนเองคือรัฐบาลที่มีสิทธิถูกต้องเหนือแผ่นดินใหญ่ของจีน

ไต้หวันกำเนิดขึ้น เพราะในเดือนตุลาคม 1949 รัฐบาลสาธารณรัฐจีนของพรรคก๊กมินตั๋ง (Kuomintang: KMT) ภายใต้การนำของนายพลเจียงไคเช็ก พ่ายแพ้แก่พรรคคอมมิวนิสต์ที่นำโดยเหมาเจ๋อตง ต้องละทิ้งเมืองหลวงชั่วคราวที่นานกิงไปตั้งมั่นอยู่ที่เมืองไทเป ในเวลานั้นทหารก๊กมินตั๋งและประชาชนราว 2 ล้านคนซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนชั้นผู้ดีและพ่อค้า ได้อพยพหนีคอมมิวนิสต์จากจีนแผ่นดินใหญ่ไปยังไต้หวัน โดยขนทรัพย์สินมหาศาลไปด้วย ทั้งทรัพย์สินส่วนตัว ทองคำที่เป็นทุนสำรองเงินตราของจีน รวมทั้งทรัพย์สินจากพิพิธภัณฑ์และพระราชวังต่างๆ รัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ประณามว่าคนเหล่านี้ปล้นชาติ และทอดทิ้งคนจีนส่วนใหญ่ไว้ให้ยากจน 

ในเดือนธันวาคม 1949 เจียงไคเช็กประกาศอ้างสิทธิ์การเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องของจีนแผ่นดินใหญ่ และประกาศตั้งกรุงไทเปเป็นเมืองหลวงของจีน แต่รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ถือว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของ 'สาธารณรัฐประชาชนจีน' และรัฐบาลก๊กมินตั๋งเป็นรัฐบาลที่ผิดกฎหมาย

ต่อมา ในปี 1950 ได้เกิดสงครามเกาหลี โดยเกาหลีเหนือซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์พยายามบุกยึดเกาหลีใต้ซึ่งไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ทำให้สหรัฐฯ มองว่าคอมมิวนิสต์จีนเป็นภัยคุกคาม จึงสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่ และนำกองเรือที่ 7 ไปลอยลำในช่องแคบไต้หวันเพื่อปกป้องไต้หวัน และยืนยันว่ารัฐบาลก๊กมินตั๋งเป็นรัฐบาลจีนที่มีสิทธิครองที่นั่งในองค์การสหประชาชาติ และในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

เจียงไคเช็ก.jpg
  • รูปปั้นเจียงไคเช็กในไต้หวัน

เจียงไคเช็กปกครองไต้หวันแบบเผด็จการโดยใช้กฎอัยการศึกในการปกครองประเทศ มีการผูกขาดอำนาจโดยผู้นำ มีการกดขี่ชนพื้นเมือง และมีการกวาดล้างผู้ที่คัดค้านรัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างโหดเหี้ยม โดยอ้างเหตุผลว่าต้องทำให้บ้านเมืองมีระเบียบเพราะต้องเตรียมตั้งรับเพื่อพร้อมทำสงครามกับจีนคอมมิวนิสต์

อย่างไรก็ดี ระหว่างปี 1966-1974 ประชาชนไต้หวันเริ่มเบื่อความเป็นเผด็จการของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง เพราะไม่มีมีแววว่าจะได้กลับไปครอบครองแผ่นดินใหญ่อีก และไม่มีทีท่าว่าจีนจะยกทัพมายึดเกาะไต้หวันดังที่เจียงไคเช็กใช้เป็นข้ออ้างในการปกครองแบบเผด็จการ ประกอบกับสหรัฐฯ ก็หันเหไปผ่อนคลายความตึงเครียดกับจีน จนจีนได้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติแทนไต้หวัน ดังนั้นคนไต้หวันจึงเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาพัฒนาประเทศไต้หวันอย่างจริงจัง

ในปี 1975 เจียงไคเช็ก ถึงแก่อสัญกรรม ลูกชายคือ 'เจียงชิงกั๋ว' ได้สืบทอดตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากบิดา ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าตระกูลเจียงทำตัวเป็นราชวงศ์เจียง คือมีการสืบทอดอำนาจจากพ่อสู่ลูกเช่นเดียวกับระบอบกษัตริย์ของจีนที่พรรคก๊กมินตั๋งเคยโค่นทิ้งไป ทำให้ ในปี 1979 ฝ่ายคัดค้านรัฐบาลทำการประท้วงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาล รัฐบาลได้ทำการปราบปรามอย่างรุนแรงทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่พอใจรัฐบาลก๊กมินตั๋งมากขึ้นเรื่อยๆ

ต่อมา ระหว่างปี 1980-1984 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลก๊กมินตั๋งที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก่อให้เกิดกลุ่มต่อต้านรัฐบาลขึ้นมากมาย และในปี 1986 ได้เกิดการก่อตั้งพรรคฝ่ายค้านพรรคแรกขึ้นในไต้หวัน คือพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (Democratic Progressive Party: DPP) ซึ่งในปี 1987 พรรค DPP ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก

ประธานาธิบดีเจียงชิงกั๋วถึงแก่อสัญกรรมในปี 1988 จากนั้นลีเติงฮุยได้ดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งลีเติงฮุยเเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่กำเนิดในไต้หวัน ไม่ใช่จีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ก็กลายเป็นคนที่เกิดและเติบโตในไต้หวัน มีเพียงคนชราไม่มากนักที่เกิดบนแผ่นดินใหญ่ นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไต้หวันไม่มีความคิดที่จะกลับไปเป็นรัฐบาลที่ปกครองจีนแผ่นดินใหญ่อีกต่อไป แต่มีเป้าหมายมุ่งที่ไต้หวันเท่านั้น

ในปี 1989 มีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในไต้หวัน ที่พรรคการเมืองอื่นนอกจากพรรคก๊กมินตั๋งส่งตัวแทนลงสมัครได้ปี 1990 มีการยกเลิกผู้แทนประจำมณฑลต่างๆ บนแผ่นดินใหญ่ นั่นหมายความว่า รัฐบาลไต้หวันยอมรับว่าไม่ได้เป็นรัฐบาลของจีนทั้งประเทศ และเรียกร้องให้รัฐบาลที่ปักกิ่งยอมรับตามความเป็นจริง (de facto) ว่าไต้หวันเป็นรัฐเอกราช ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งไม่เคยเห็นดีเห็นงามไปตามนั้น แต่คัดค้านอย่างแข็งกร้าวมาโดยตลอด ยิ่งเมื่อรัฐบาลจีนปักกิ่งได้สิทธิเหนือฮ่องกงคืนในปี 1997 และสิทธิเหนือมาเก๊าคืนในปี 1999 รัฐบาลจีนก็ยิ่งปฏิเสธที่จะยอมรับว่าไต้หวันเป็นเอกราช แต่เสนอให้ไต้หวันรวมชาติกับจีนโดยเร็ว ในภาวะแบบเดียวกับฮ่องกงและมาเก๊าคือ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” เพื่อที่จะรวมสายเลือดจีนเป็น “จีนที่ยิ่งใหญ่” หรือ Greater China 

afp-  taiwan presidential office building 2004.jpg
  • นโยบายความสัมพันธ์จีน เป็นประเด็นหาเสียงทางการเมืองในไต้หวันมาโดยตลอด

การที่เศรษฐกิจจีนพุ่งทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคเอเชียและในโลก ดังนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2001 ไต้หวันจึงยกเลิกกฎการห้ามค้าขายและลงทุนกับจีนซึ่งใช้มา 50 ปี การยกเลิกนี้ทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับไต้หวัน ทั้งการค้าและการลงทุนเติบโตอย่างรวดเร็วและแนบแน่นอย่างยิ่ง แม้ว่าความสัมพันธ์ทางการเมืองจะไร้เยื่อใยต่อกันก็ตาม

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีก ในเดือนธันวาคม 2001 เมื่อพรรคก๊กมินตั๋งแพ้การเลือกตั้งทั่วไป กลายเป็นเสียงข้างน้อยในรัฐสภา ซึ่งต่อมาในเดือนมีนาคม 2002 เฉินสุยเปี่ยน ผู้แทนพรรค DPP ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดี ปิดฉากการผูกขาดอำนาจ 50 ปีของพรรคก๊กมินตั๋ง ทั้งนี้ พรรค DPP และเฉินสุยเปี่ยนมีนโยบายที่ต้องการให้ไต้หวันประกาศเอกราช แยกตัวเป็นคนละรัฐกับจีนแผ่นดินใหญ่ 

ดังนั้น ในเดือนพฤศจิกายน 2003 รัฐสภาไต้หวันจึงลงมติเห็นชอบให้มีการลงประชามติในประเด็นการประกาศเอกราชหากถูกโจมตีโดยจีน ซึ่งทำให้จีนโกรธเคืองอย่างมากและแถลงการณ์ด่าทอไต้หวันอย่างเผ็ดร้อน และรัฐบาลปักกิ่งยังได้ออกกฎหมายฉบับใหม่ที่ระบุว่าให้กองทัพจีนใช้กำลังได้ทันทีหากไต้หวันประกาศเอกราช ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าพรรค DPP และเฉินสุยเปี่ยน สร้างความตึงเครียดที่น่าสยดสยองในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน แต่ปรากฎว่าประชาชนไต้หวันซึ่งส่วนใหญ่กลายเป็นคนที่เกิดและเติบโตในไต้หวันและไม่ผูกพันหรือมีปมอะไรทั้งสิ้นกับแผ่นดินใหญ่ได้เทคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรค DPP อย่างถล่มทลาย และเฉินสุยเปี่ยนชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ในเดือนมีนาคม 2004

ต่อมา ในเดือนเมษายน 2005 เหลียนชานผู้นำพรรคก๊กมินตั๋ง เดินทางไปเยือนผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1949 เพื่อแสดงจุดยืนว่าพรรคก๊กมินตั๋งไม่เห็นด้วยกับการประกาศเอกราช นอกจากนี้ยังสร้างกระแสโจมตีพรรค DPP ว่าจะเป็นตัวการสร้างความวิบัติให้กับไต้หวัน 

ไช่อิงเหวิน - ไต้หวัน.jpg
  • ไช่อิงเหวิน ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันเป็นสมัยที่ 2

กระแสโจมตีของพรรคก๊กมินตั๋งต่อพรรค DPP มีผลต่อประชาชนไต้หวันไม่น้อย เพราะปรากฏว่า ในเดือนกรกฎาคม 2005 หม่าอิ๋งเจียว ผู้แทนพรรคก๊กมินตั๋ง ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงไทเป ทำให้รัฐบาลพรรค DPP เริ่มไม่มั่นคง ทำให้เฉินสุยเปี่ยนตัดสินใจใช้กลยุทธ์เก่าในการเรียกคะแนนเสียงด้วยการก่อตั้งสภาบูรณาการแห่งชาติ (The National Unification Council) เพื่อตัดสินใจว่าควรจะรวมชาติกับจีน หรือ ประกาศเอกราช

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2006 ทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจอย่างมาก อย่างไรก็ดี เดือนมิถุนายน 2006 เฉินสุยเปี่ยนถูกกดดันทางการเมืองอย่างหนัก เพราะสมาชิกในครอบครัวถูกตั้งข้อหาคอร์รัปชัน เขาจึงพยายามดิ้นรนครั้งใหญ่ด้วยการพยายามนำไต้หวันสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ โดยใช้ชื่อประเทศว่าไต้หวัน ไม่ใช่การเข้าไปแทนที่จีน แต่การสมัครถูกปฎิเสธ คะแนนนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรค DPP จึงยับเยินไปเพราะความผิดหวัง

ด้วยเหตุนั้น ในเดือนมกราคม 2008 พรรคก๊กมินตั๋งจึงชนะการเลือกตั้งทั่วไปกลายเป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา ทำให้เฉินสุ่ยเปี่ยนลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค DPP และต่อมาในเดือนมีนาคม 2008 หม่าอิ๋งเจียวได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี หม่าอิ๋งเจียวตระหนักดีว่าจุดอ่อนสำคัญของพรรคก๊กมินตั๋งคือประวัติศาสตร์การปกครองแบบเผด็จการ เขาจึงพยายามลบจุดอ่อนนั้นด้วยการออกแถลงการณ์ขอโทษในนามพรรคก๊กมินตั๋งในเดือนกรกฎาคม 2008 ในกรณีที่รัฐบาลก๊กมินตั๋งได้ทำการกดขี่ชนพื้นเมืองและกวาดล้างผู้ที่คัดค้านรัฐบาลก๊กมินตั๋งอย่างโหดเหี้ยมระหว่างทศวรรษที่ 1950-1960 

นอกจากนี้ เขายังเอาใจรัฐบาลจีนด้วยการจัดการกำจัดเฉินสุยเปี่ยน ด้วยการดำเนินคดีกับเฉินสุยเปี่ยนด้วยข้อหาฟอกเงิน ในเดือนพฤศจิกายน 2008 ซึ่งสร้างความพึงพอใจแก่รัฐบาลจีนอย่างมาก จนรัฐบาลจีนซึ่งไม่ยอมรับสถานภาพของรัฐบาลไต้หวันยินยอมทำข้อตกลงทางการค้ากับรัฐบาลไต้หวันในปี 2010 และต่อมาในปี 2011 หม่าอิ๋งเจียว ก็ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง แล้วประเดินตำแหน่งสมัยที่สองด้วยการทำข้อตกลงการค้าภาคบริการกับจีน จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน 2015 หม่าอิ๋งเจียวได้พบปะเจรจากับสีจิ้นผิงที่สิงคโปร์ เป็นการพบปะครั้งแรกระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลไต้หวันหลังแยกตัวในปี 1949 

อย่างไรก็ดี ประชาชนไต้หวันรู้สึกไม่พอใจ สิ่งที่พวกเขาต้องการก็แค่ความสงบไร้สงคราม ไม่ใช่การรวมชาติกับจีน และประชาชนคิดว่าพรรคก๊กมินตั๋งกำลังแปรพักตร์หันไปฝักใฝ่คอมมิวนิสต์อยากจะนำไต้หวันไปรวมกับจีน

Reuters-ทหารเก่าไต้หวัน.JPG
  • ผู้สูงวัยในไต้หวันส่วนใหญ่อพยพมาจากจีน แต่คนรุ่นใหม่เกิดและเติบโตในไต้หวัน จึงมีทัศนคติต่อจีนแผ่นดินใหญ่แตกต่างกัน

ดังนั้น ในเดือนมกราคม 2016 ประชาชนจึงเทคะแนนเสียงให้ไช่อิงเหวินจากพรรค DPP ซึ่งประกาศชูนโยบายแยกตัวเป็นเอกราช ให้ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีไต้หวัน จากนั้นในเดือน ตุลาคม 2018 ประชาชนก็เดินขบวนเรียกร้องให้มีการทำประชามติประกาศเอกราชจากจีน 

รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทันทีที่ไต้หวันประกาศเอกราช และตอบโต้ด้วยการใช้นโยบายเจ้าบุญทุ่ม ทุ่มเทผลประโยชน์ต่างๆ ทั้ง การค้า การลงทุน และความช่วยเหลือ แก่บรรดาประเทศต่างๆ ที่รับรองสถานภาพความเป็นรัฐของไต้หวันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ทำให้มีหลายประเทศเลิกรับรองสถานภาพของไต้หวัน ตัดความสัมพันธ์กับไต้หวัน แล้วหันไปสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับจีนแทน จนไต้หวันเหลือประเทศที่รับรองสถานภาพของไต้หวันเพียง 16 ประเทศเท่านั้น

ถึงกระนั้น ไช่อิงเหวินก็ยังหาเสียงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดนี้ ด้วยการชูนโยบายประกาศเอกราชจากจีน จนประสบความสำเร็จได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 

จากการทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองของไต้หวัน ก่อนถึงวันที่ไช่อิงเหวินเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 จะพบว่าประเด็นความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ถูกใช้เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองภายในไต้หวัน มากกว่าจะเป็นไปเพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับจีน 

มาถึงตรงนี้ จำเป็นต้องจับตาดูกันต่อไปว่าในยุคที่ไช่อิงเหวินเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 นี้ ประเด็นการประกาศเอกราช จะเป็นแค่กลยุทธ์ในการดึงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หรือ จะเป็นนโยบายที่จะทำอย่างจริงจัง