ไม่พบผลการค้นหา
ไทยปล่อย 3 นักโทษอิหร่านที่จำคุกจากคดีระเบิดปี 2555 กลับประเทศ หลังเตหะรานปล่อยตัว 'ไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต' นักวิชาการชาวออสเตรเลีย

ทางการไทยอนุมัติการส่งตัว 3 นักโทษอิหร่านที่ถูกจับในไทย จากเหตุระเบิดในซอยสุขุมวิท 71 เมื่อปี 2555 กลับประเทศบ้านเกิด หลังจากที่สื่อทางการอิหร่านรายงานว่า รัฐบาลเตหะรานปล่อยตัว 'ไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต' นักวิชาการออสเตรเลียเชื้อสายอังกฤษ วัย 33 ปี ที่ถูกจับด้วยข้อกล่าวหาสอดแนม

สื่ออิหร่านระบุว่า การปล่อยตัวนักโทษอิหร่านในไทยนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการแลกตัวกับนักวิชาการสาวที่ถูกควบคุมตัวในข้อหาว่าเป็นสายลับ

เอเอฟพีอ้างแหล่งข่าวจากกรมกรมราชทัณฑ์ไทย ว่า นักโทษอิหร่านสามรายที่ได้รับอิสรภาพ คือ ซาอีด โมราดี (Saeid Moradi) มาซูด เซดากัตซาเดห์ (Masoud Sedaghatzadeh) ซึ่งทั้งสองอยู่ระหว่างการรับโทษจำคุกจากคดีเหตุระเบิดเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2555 ซึ่งเป็นความล้มเหลวจากความพยายามวางแผนลอบสังหารนักการทูตอิสราเอล 

ขณะที่นักโทษอิหร่านอีกราย คือ โมฮัมเหม็ด คาเซอี (Mohammad Khazaei) ซึ่งหลังเกิดเหตุได้หลบหนีจากประเทศไทยแต่ถูกจับที่มาเลเซีย ก่อนถูกส่งตัวกลับมารับโทษที่ไหย ภายหลังได้รับพระราชทานอภัยโทษตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา แต่ต่อมาถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองควบคุมตัว เพื่อรอการผลักดันกลับประเทศ

อิหร่าน นักโทษ

เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ไทย ระบุว่า การส่งมอบตัวนักโทษชาวอิหร่านนี้ เป็นไปตามความร่วมมือของสนธิสัญญาโอนนักโทษข้ามแดน ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอีก 35 ประเทศ โดยหลักการส่งตัวต้องเป็นไปภายใต้ความยินยอมของทั้ง 3 ฝ่ายคือ ผู้รับโทษ ประเทศผู้รับโอนนักโทษ และประเทศผู้ปล่อยตัวนักโทษ

หลังมีรายงานไทยปล่อยตัวสามนักโทษอิหร่าน สื่ออิหร่านรายงานเช่นกันว่า รัฐบาลเตหะราน ปล่อยตัว ไคลี มัวร์-กิลเบิร์ต นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ถูกจับกุมเมื่อปี 2561 แล้วถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี ข้อหาจารกรรมข้อมูลลับของรัฐบาล เพื่อแลกกับกับปล่อยผู้ต้องโทษชาวอิหร่าน 3 ราย 

ภาพจากสื่อทางการอิหร่าน แสดงให้เห็น ดร.กิลเบิร์ต สวมฮิญาบสีเทาระหว่างเดินทางขึ้นรถตู้ที่มารับ ขณะที่ชาวอิหร่านสามรายที่ได้รับการปล่อยตัวมีการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ทางการต้อนรับอย่างดีด้วยการคล้องพวงมาลัย

อิหร่าน นักโทษ

กิลเบิร์ต ให้สัมภาษณ์เพียงสั้นๆ ภายหลังได้รับการปล่อยตัวว่า การได้ออกจากอิหร่านหลังเวลาผ่านไปสองปี ทำให้รู้สึก"หวานอมขมกลืน" โดยเธอบอกว่าเป็นประสบการณ์ถูกคุมขังที่ยาวนานและสร้างความบอบช้ำทางจิตใจ

"มันเป็นความรู้สึกที่ขมขื่นที่ฉันออกจากประเทศนี้ แม้จะมีความอยุติธรรมที่ฉันต้องเผชิญก็ตาม" เธอกล่าว

ด้านสื่อออสเตรเลียได้เผยภาพของเครื่องบินที่ กิลเบิร์ต เดินทางออกจากอิหร่าน มาถึงยังสนามบินกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลียแล้ว โดยก่อนหน้านี้ สกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย แถลงการณ์แสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กิลเบิร์ตจะได้เดินทางกลับบ้าน แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษ 

สำหรับกิลเบิร์ต เดินทางไปอิหร่านในปี 2561 ด้วยพาสปอร์ตออสเตรเลียก่อนที่จะโดนควบคุมตัวที่สนามบินกรุงเตหะราน โดยกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม หลังเสร็จจากการเข้าร่วมการสัมมนา โดยในระหว่างถูกจำคุกเธอระบุผ่านจดหมายว่า ไม่ได้เป็นสายลับให้กับใคร รวมถึงไม่ได้ทำงานให้กับองค์กรลับของประเทศใด

อิหร่าน


ระเบิด 14 ก.พ. 2555

สำหรับเหตุระเบิด เมื่อ 14 ก.พ. 2555 เกิดขึ้นเมื่อเวลา 15.00 น. บริเวณบ้านหลังหนึ่งที่ทั้งสามเช่าเป็นเซฟเฮาส์ ในซอยปรีดีพนมยงค์ 31 โดยเหตุระเบิดเกิดจากความพยายามลอบสังหารทูตอิสราเอล ที่ผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ประกอบระเบิดแสวงเครื่องผิดพลาด

แรงระเบิดส่งผลให้หลังคาบางส่วนของเซฟเฮาส์หายไป โดยหลังเกิดเหตุไม่นาน ซาอีด โมราดี ซึ่งได้รับบาดเจ็บพยายาม หลบหนีออกจากเซฟเฮาส์หลังดังกล่าว ด้วยการโบกเรียกแท็กซี่ แต่คนขับแท็กซี่ปฏิเสธรับ จึงโยนระเบิดใส่รถแท็กซี่คันดังกล่าว ทำให้คนขับรถได้รับบาดเจ็บ ต่อมาโมราดี ซึ่งพยายามหลบหนีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้โยนระเบิดอีกลูกแต่พลาด ส่งผลให้สูญเสียขาทั้งสองข้าง สรุปแล้วเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย