ไม่พบผลการค้นหา
ภาครัฐของไทยเพิ่งเริ่มต้นนำ ‘ธนาคารเวลา’ มาใช้ ‘ดูแลผู้สูงวัย’ พบต่างประเทศไปไกลมากแล้ว ทั้งการใช้ธนาคารเวลาเป็นกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน-คนที่เช่าที่อยู่โดยไม่มีบ้านของตัวเอง, การเพิ่มทักษะประกอบอาชีพ, สนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยได้ปรับตัว รวมทั้งการถ่ายทอดทักษะต่าง ๆ ให้เพื่อนร่วมชุมชน

จากที่กรมกิจการผู้สูงอายุของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ เปิดตัวโครงการ ‘ธนาคารเวลา’ เพื่อจัดหาอาสาสมัครไปดูแลผู้สูงอายุ เป็นการสะสมความดีที่เบิกใช้ได้ เหมือนกับทำงานเพื่อสังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่สามารถเก็บแต้มไว้ เมื่อเวลาที่ตัวเองสูงอายุจะได้รับการตอบแทนด้วยบริการต่างๆ ให้ 1 ชั่วโมง ได้รับ 1 ชั่วโมง เป็นการนำธนาคารเวลาจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุให้สอดรับกับบริบทสังคมไทย โดยกำหนดให้นโยบายธนาคารเวลาเป็น 1 ใน 10 เรื่องสังคมผู้สูงอายุซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งเป็นวาระเร่งด่วนดำเนินการปี พ.ศ.2561-2564

ทั้งนี้แนวคิดธนาคารเวลาในต่างประเทศนั้น สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายแนวทาง เช่น โครงการธนาคารเวลาเพื่อให้คนไร้บ้านและคนที่เช่าที่อยู่โดยไม่มีบ้านของตัวเองได้เพิ่มทักษะอาชีพ Broadway Skills Exchange Time Bank ในประเทศอังกฤษ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและโอกาสที่จะได้รับการจ้างงาน ดำเนินการในปี ค.ศ.2011-2013 คนที่กำลังลำบากกลุ่มนี้ให้ความสำคัญอย่างมากกับคะแนนเวลาที่จะนำไปแลกเปลี่ยนกับการศึกษาหรือการฝึกทักษะอาชีพ ซึ่งจากทั้งหมด 73 คน พบว่าโครงการนี้ช่วยให้อาชีพของ 50 คนมีความมั่นคงมากขึ้น และอีก 23 คนได้ฝึกทักษะอาชีพกับองค์กรอื่นที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ผลลัพธ์ทั้งสองแบบนี้เป็นผลจากการที่พวกเขาได้เป็นอาสาสมัครอย่างเป็นระบบผ่านธนาคารเวลา

อังกฤษยังเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยไว้ไม่น้อย ซึ่งจะมีโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยได้ปรับตัว หนึ่งในโครงการประเภทนี้มีธนาคารเวลา timebank.org.uk ที่มีโครงการ จัดหาพี่เลี้ยงสำหรับผู้ลี้ภัยและผู้ที่กำลังขอสถานะผู้ลี้ภัย โดยจะมีคนในพื้นที่ เช่น นักศึกษา ผู้ที่เกษียณแล้ว หรือใครก็ได้ที่อยากพบปะกับคนที่มาจากต่างวัฒนธรรม เพื่อช่วยให้ชีวิตของผู้มาใหม่ง่ายขึ้น เช่น ช่วยเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษ ช่วยหางานให้ทำ หรือช่วยฟื้นฟูจิตใจสำหรับผู้ที่เพิ่งหนีมาจากสถานการณ์รุนแรงสำหรับผู้ลี้ภัย หรือสำหรับผู้ที่กำลังขอสถานะผู้ลี้ภัย อาสาสมัครจะช่วยจัดหาการศึกษา การฝึกทักษะอาชีพ หรืองานอาสาสมัครในชุมชนในระหว่างที่พวกเขายังไม่สามารถทำงานได้ หรือเป็นเพื่อนคุยโดยไม่ตัดสินสำหรับคนสองกลุ่มนี้ โดยเริ่มต้นจากโครงการ Time Together ที่ดำเนินการในจังหวัด West Midlands ที่ดำเนินการระหว่างปี 2002–2010 ซึ่งจัดหาพี่เลี้ยงที่เป็นอาสาสมัครให้แก่ผู้ลี้ภัยกว่า 2,500 คน โดยพี่เลี้ยงกับผู้ลี้ภัยพบกันเดือนละ 5 ชั่วโมง มีการศึกษาพบว่าหลังผ่านไปหนึ่งปีที่พบกัน ผู้ลี้ภัย 90% รู้สึกเหมือนอยู่บ้าน

ทั้งนี้มีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษและอิตาลี เสนอว่า การที่จะให้ผู้ลี้ภัยปรับตัวเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหม่ได้ดี จำเป็นต้องเปลี่ยนจากมุมมองแบบการกุศลที่เราไปช่วยเขาฝ่ายเดียว เป็นการที่พวกเขาได้เป็นผู้ให้ด้วยจากเวลาและความสามารถของพวกเขา ซึ่งธนาคารเวลาเป็นสิ่งที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าต้องมีการแลกเปลี่ยน

นอกจากนี้ยังพบโมเดลธนาคารเวลาเพื่อ ให้ลูกจ้างบริษัทเป็นอาสาสมัครในชุมชน มีการศึกษาที่ชี้ว่าช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างน้อยในบริเวณชุมชนนั้น ๆ  ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อบริษัท โดยจะดึงดูดนักศึกษาจบใหม่ที่จะสมัครเพื่อรับคัดเลือกเข้าทำงานมากขึ้นสำหรับบริษัทที่ทำเพื่อสังคมและทำอย่างเป็นระบบ และมีการสำรวจนายจ้างและลูกจ้าง 3,000 คน ที่เข้าร่วมโครงการธนาคารเวลาในประเทศอังกฤษ พบว่า 94% ของนายจ้างมองว่าลูกจ้างทำงานได้ดีขึ้นหลังจากไปเป็นอาสาสมัคร

ยังมีธนาคารเวลาสำหรับ เป็นพี่เลี้ยงให้เยาวชนที่ต้องการออกจากบ้านเพื่อหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง เพื่อช่วยแนะนำการฝึกทักษะเพื่อให้ได้รับการจ้างงานหรือการศึกษาโดยเฉพาะในกรุงลอนดอน เช่น ช่วยทำใบสมัคร ช่วยหาที่ฝึกงาน หรือช่วยเรื่องการสมัครเรียน ในลอนดอนยังมีธนาคารเวลาที่วัยรุ่นอายุ 18-25 ช่วยถ่ายทอดทักษะการใช้อินเตอร์เน็ต ให้แก่ผู้อื่นที่มีลูกเพื่อให้พวกเขาได้ช่วยเรื่องพัฒนาการของลูก ๆ พวกเขาเอง ตั้งเรื่องเว็บไซต์ของโรงเรียน เว็บไซต์บันเทิง จนถึงความปลอดภัยในโลกไซเบอร์  

ส่วนในเมืองเบอร์มิงแฮมซึ่งมีชุมชนมุสลิมขนาดใหญ่มีธนาคารเวลาที่ช่วยถ่ายทอดทักษะคอมพิวเตอร์และภาษาอังกฤษให้สตรีมุสลิมสูงอายุในชื่อโครงการ Future Together และที่ ประเทศเวลส์ ใช้การช่วยกิจกรรมภายในชุมชนทำให้เป็นระบบธนาคารเวลา สามารถกระตุ้นให้สมาชิกในชุมชนมาช่วยกันได้เพราะมีการแลกเปลี่ยน เช่น การถ่ายทอดทักษะต่าง ๆ ให้เพื่อนร่วมชุมชน หรือจัดละครเวทีโดยไม่คิดเงิน แต่จะขอให้สมาชิกในชุมชนมาช่วยกัน ส่วนคนที่มีคะแนนเวลาสะสมจากการถ่ายทอดทักษะก็มาดูอย่างเดียวได้

ในสหรัฐอเมริกาที่ มลรัฐเมน มีโครงการที่ผู้ที่เกษียณจากการทำงานแล้วอายุประมาณ 60 ปี ที่สุขภาพยังดีและยังรู้สึกสบายใจที่จะขับรถ เป็นโอกาสได้ทำประโยชน์เพื่อชุมชน โดยทุก ๆ 1 ชั่วโมงที่ขับรถให้บริการแก่คนในชุมชน ก็จะได้รับคะแนนเวลาสะสมไว้ เพื่อในวันที่ขับรถเองไม่ไหวก็สามารถเรียกให้ผู้ร่วมโครงการภายในชุมชนมาขับรถให้ และอาสาสมัครยังจะได้รับเงินจากผู้เรียกใช้บริการระหว่าง 25 ถึง 50 เซ็นต์ต่อทุก ๆ 1 ไมล์ที่ขับ