คำเตือนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) หลังประกาศว่า 'โรคโควิด-19' เข้าสู่การระบาดใหญ่ทั่วโลก (pandemic) เมื่อวันที่ 12 มี.ค. คือ การย้ำว่า อีกหลายประเทศจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 อย่างไม่มีทางเลี่ยง และจะทำให้สถิติผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิต 'เพิ่มสูงขึ้น' ในประเทศที่ไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือกับโรคดังกล่าว
ส่วนปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญ และต้องหาทางรับมืออย่างเร่งด่วนเช่นกัน คือ การยับยั้ง 'ข่าวลวง' หรือ 'ข่าวปลอม' (fake news) เกี่ยวกับโควิด-19 ไม่ให้สร้างความสับสนหรือก่อความตื่นตระหนกในสังคม
กรณีของประเทศไทย กระทรวงดีอีเอสมอบอำนาจให้ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม Anti-fake news center รับมือกับการเผยแพร่ข้อมูลที่ผิดหรือข้อมูลบิดเบือนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในสื่อสังคมออนไลน์ ขณะที่อีกหลายประเทศจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-check) และแก้ไขในกรณีที่มีการเข้าใจผิด
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างยูทูบ เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ประกาศตั้งแต่ระยะแรกของการแพร่ระบาดของโรคว่า บริษัทจะตรวจตราข้อมูลและจำกัดการสร้างรายได้จากข้อมูลเกี่ยวกับ 'โควิด-19' ในแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อป้องกันผู้ฉวยโอกาสเผยแพร่ข้อมูลให้คนตื่นตระหนก หรือสร้างชุดข้อมูลเท็จเกี่ยวกับโควิด-19 เพื่อหวังการแชร์และเพิ่มยอดการรับชมที่มีผลต่อการสร้างรายได้
จนกระทั่งวันที่ 13 มี.ค.2563 ยูทูบจึงได้ประกาศว่า จะยกเลิกข้อจำกัดเรื่องการสร้างรายได้ของวิดีโอที่พูดถึงโควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะพิจารณาว่า การสร้างรายได้จะช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตเนื้อหาหรือสื่อออนไลน์ต่างๆ มีแรงจูงใจสร้างงานที่มีคุณภาพและให้ความรู้แก่ผู้รับชมเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
แม้สังคมไทยจะนิยมใช้คำว่า 'ข่าวปลอม' หรือ fake news แต่ยังไม่มีคำจำกัดความที่ชัดเจน ขณะที่ 'ยูเนสโก' ซึ่งร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐของไทย จัดทำและเผยแพร่เอกสาร 'การเสนอข่าว 'ข่าวลวง' และข้อมูลบิดเบือน: คู่มือเพื่อการศึกษาและอบรมด้านวารสารศาสตร์' เมื่อปี 2562 เรียก fake news ว่า 'ข่าวลวง' ในภาษาไทย
เนื้อหาในคู่มือฉบับนี้ระบุว่าถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า 'ข่าวลวง' 'ข่าวปลอม' และแม้กระทั่ง 'สื่อปลอม' เพราะเป็นคำที่มักจะ "ถูกใช้อย่างแพร่หลายกับรายงานข่าวที่ผู้ใช้คำดังกล่าวไม่เห็นด้วย" (หน้า 52) และ "คำนี้เสี่ยงต่อการถูกนำไปใช้เพื่อเหตุผลทางการเมือง และเป็นอาวุธในการทำลายอุตสาหกรรมข่าว เพื่อบั่นทอนการรายงานข่าวที่ผู้มีอำนาจไม่พอใจ" พร้อมทั้งแนะนำให้ใช้คำว่า 'ข้อมูลที่ผิด' และ 'ข้อมูลที่บิดเบือน' แทน
คู่มือดังกล่าวจำแนกความผิดปกติของข้อมูลออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่:
1. 'ข้อมูลที่ผิด' misinformation คือ ข้อมูลสารสนเทศที่ปลอมขึ้นมา หรือเป็นเท็จ แต่บุคคลที่เผยแพร่ 'เชื่อว่า' เป็นความจริง
2. 'ข้อมูลบิดเบือน' disinformation คือ ข้อมูลที่บิดเบือน และบุคคลที่เผยแพร่ก็รู้แก่ใจว่าไม่เป็นความจริง เป็นการเจตนาโกหก และมีเป้าหมายคือกลุ่มคนที่ถูกหลอกได้ง่าย โดยผู้ไม่ประสงค์ดี
3. 'ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย' malinformation คือ ข้อมูลที่มีพื้นฐานของความจริง แต่ถูกนำไปใช้เพื่อทำร้ายบุคคล องค์กร หรือประเทศ หรือข้อมูลที่ถูกสร้าง ผลิต หรือเผยแพร่โดย 'ตัวแทน' ที่มีเจตนาร้าย
นอกจากนี้ ข้อมูลที่แฝงเจตนาร้าย ยังสามารถแบ่งออกเป็น 7 ประเภทย่อยๆ ได้แก่
การจำแนกข้อมูลข่าวสารในสื่อออนไลน์ว่าอะไรคือข่าวลวง ข้อมูลที่ผิด ข้อมูลบิดเบือน หรือข้อมูลที่มีเจตนาร้าย ต้องใช้วิจารณญาณอย่างมากทั้งในแง่ของผู้รับสารและผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแล เพราะหากไม่ 'คิด วิเคราะห์ แยกแยะ' อาจนำไปสู่การปิดกั้นข้อมูลแบบเหมารวม ซึ่งไม่ได้ส่งผลดีต่อสังคม แต่ยิ่งส่งผลกระทบต่อการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการประเมินแนวทางรับมือหรือการปฏิบัติตัวของประชาชนในสถานการณ์วิกฤต
โลตัส หร่วน นักวิจัยของ Citizen Lab องค์กรเอกชนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศซึ่งติดตามรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการปิดกั้นข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันสนทนาทางสมาร์ตโฟนในประเทศจีน ยืนยันว่า การให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชน จะช่วยให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างแม่นยำกว่าการไม่มีข้อมูล หรือข้อมูลไม่ชัดเจน และจะช่วยให้การป้องกันและควบคุมโรคในระดับประเทศมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
บทสัมภาษณ์ของหร่วนที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ CPJ องค์กรด้านการปกป้องสื่อ ระบุว่า การกำกับดูแลข้อมูลต่างๆ ในสื่อออนไลน์และอุปกรณ์ดิจิทัลทุกวันนี้ จำเป็นต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและมีหลักเกณฑ์น่าเชื่อถือ ส่วนการเสนอข้อมูลของภาครัฐก็ต้องครอบคลุมและตรวจสอบได้ จะช่วยให้สังคมสามารถแยกแยะข้อมูลที่ผิด และข้อมูลบิดเบือนได้ง่ายขึ้น ช่วยบรรเทาความตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวของสังคมอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กรณีของนายแพทย์หลี่เหวินเหลียง ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลากรการแพทย์รายแรกๆ ในเมืองอู่ฮั่นของจีนที่เตือนคนรอบตัวให้เฝ้าระวังไวรัสโคโรนาที่เขาพบในผู้ป่วยจำนวนหนึ่งตั้งแต่เดือน ธ.ค.2562 แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองอู่ฮั่นกล่าวหาว่า'เผยแพร่ข่าวปลอม' สร้างความตื่นตระหนกแก่สังคม และ Citizen Lab ยังพบข้อมูลบ่งชี้ว่า หน่วยงานรัฐบาลจีนปิดกั้นไม่ให้คนส่งต่อ หรือค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสในแอปพลิเคชันสนทนาทางสมาร์ตโฟนที่ให้บริการในประเทศ
กว่ารัฐบาลจีนออกมายอมรับในเดือน ม.ค.2563 ว่าพบโรคปอดอักเสบที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในอู่ฮั่น นพ.หลี่และบุคลากรการแพทย์คนอื่นๆ รวมถึงประชาชนในเมืองอู่ฮั่น ก็ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสไปแล้ว
เมื่อ นพ.หลี่เสียชีวิตในวันที่ 6 ก.พ. 2563 จึงมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมากแสดงความเสียใจต่อการจากไปของเขา แต่ไม่พอใจที่หน่วยงานรัฐบาลจีนปิดกั้นข้อมูลที่มีผลต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน และมองว่าถ้าภาครัฐฟังคำเตือนของ นพ.หลี่ และตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่แรก สถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงอาจป้องกันหรือบรรเทาได้
ด้วยเหตุนี้ หร่วนจึงย้ำว่า รัฐบาลต่างๆ ไม่เฉพาะจีน มักปิดกั้นข้อมูลข่าวสารหรือช่องทางการสื่อสารของประชาชน โดยอ้างว่าทำไปเพื่อควบคุมและป้องกันการเผยแพร่ 'ข่าวลวง' แต่การจะบอกว่าอะไรคือ 'ข่าวลวง' มักขึ้นอยู่กับว่า 'ใคร' หรือ 'หน่วยงานใด' เป็นผู้ชี้ขาด และ 'ใช้หลักเกณฑ์ใดบ้าง' ในการปิดกั้นข้อมูลเหล่านั้น ถ้าหากสามารถเปิดเผยหลักเกณฑ์การตรวจสอบได้อย่างชัดเจนต่อสาธารณชนได้ ก็ดีกว่าการกำกับดูแลโดยใช้วิธี 'ปิดกั้นข้อมูลแบบเหมารวม' ทั้งหมด
กรณีของประเทศไทย เว็บไซต์ Khaosod English ในเครือมติชน รายงานข่าว ‘ANTI-FAKE NEWS CENTER’ RESPONDS AFTER RATING KHAOSOD STORY AS HOAX เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2563 อ้างถึงกรณีศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดีอีเอส นำภาพหน้าจอเว็บไซต์ข่าวสดไปเผยแพร่ทางเฟซบุ๊กเฟจ โดยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็น 'ข่าวปลอม'
การเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวทำให้กองบรรณาธิการของข่าวสดโต้แย้งไปยังศูนย์ฯ และย้ำว่าข่าวดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงที่เผยแพร่โดยเฟซบุ๊กเพจสถานทูตไทยในอังกฤษ ซึ่งเตือนว่าพลเมืองไทยที่จะเดินทางไปอังกฤษอาจถูกกักตัว 14 วัน เพราะเป็นมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของอังกฤษ
กองบรรณาธิการข่าวสดได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมว่า เพจดังกล่าวที่ข่าวสดอ้างอิง 'เป็นเพจปลอม' ข่าวสดจึงรายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่าข้อมูลที่รายงานคือ 'ข้อเท็จจริง' จากแหล่งที่เป็นทางการ ในที่สุดเพจศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมก็ลบข้อมูลที่พาดพิงข่าวสดทิ้งไป แต่ไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมในเพจดังกล่าว
หลังจากนั้น ข่าวสดรายงานว่า เจ้าหน้าที่ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ติดต่อกลับมายังกองบรรณาธิการ และแจ้งว่า ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กของสถานทูตไทยในลอนดอนเป็น 'ข้อมูลที่ยังไม่เป็นทางการ' เพราะยังไม่ได้ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี และการระบุว่าข่าวสด 'รายงานข่าวปลอม' เกิดจากข้อผิดพลาดระหว่างปฏิบัติงาน ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวหาข่าวสดแต่อย่างใด และระบุว่า "จะปรับปรุงการทำงานเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอมต่อไปในอนาคต"
ส่วนชื่อบทความดั้งเดิมของข่าวสดที่เกี่ยวกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม คือ Who fact checks the fact checkers? (ใครจะตรวจสอบผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: