ตรีชฎา ศรีธาดา คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ภาวะการทำงานของรัฐบาลเหมือนลมไร้ทิศ ระวังวุ่นหนักวันลงทะเบียนรับสิทธิ์ ในห้วงเวลาที่ประชาชนลำบากที่สุด ความหวังเดียวคือการช่วยเหลือจากรัฐบาล คนตกงานธุรกิจถูกปิด ชาดรายได้ น้ำตาตกใน แต่รัฐบาลปล่อยโครงการคนละครึ่งรอบเก็บตกและโครงการเราชนะ ปล่อยให้คนแย่งกันลงทะเบียน สภาพไม่ต่างจากการรับแจกทาน
บทเรียนเมื่อเดือน มี.ค. 2564 ที่โควิด-19 เข้ามาแพร่ในประเทศไทย รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะไม่เข้าใจความรู้สึกของคนจน คนไม่มีข้าวกิน ลูกไม่มีนมกิน ไม่ได้จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ สารพัดหนี้ แล้วยังไม่เคยคิดถอดบทเรียนในการจ่ายเงินเยียวยาเลย ครั้งนั้นรัฐบาลเปิดลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันครั้งแรก ประชาชนรอลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคนเปิดระบบใน 2 นาทีแรก มีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนจำนวนมากถึง 20 ล้านคน รัฐบาลเปิดลงทะเบียนรอบสองมีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 28.8 ล้านราย จนทำให้ประชาชนต้องไปทวงสิทธิ์กันล้นที่กระทรวงการคลัง การลงทะเบียนต้นเหตุมาจากฐานความคิดของภาครัฐที่ไม่ได้มองว่าเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้รับ กลับมายัดเยียดความยากจน ต้องมาทำการพิสูจน์สิทธิ์
กระทั่งมาเกิดโควิด-19 ระลอกสอง แทนที่รัฐบาลจะนำโครงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสั่งปิดกิจการจนธุรกิจชะงัก รวมถึงการสั่งหยุดงาน 1 เดือนจากความเดือดร้อนที่กิจการต้องถูกปิด ลูกจ้างไม่มีรายได้ ไม่ได้รับเงินเยียวยา รัฐบาลกลับนำโครงการคนละครึ่งเฟสสอง รอบเพิ่มเติมเปิดให้ลงทะเบียนวันที่ 20 มกราคม ตั้งแต่เวลา 06.00 - 23.00 น. ยังไม่ถึง 10 นาที มีผู้ใช้สิทธิ์เต็มจำนวน 1.34 ล้านสิทธิ์ คนตื่นตั้งแต่ตีสามมาลงทะเบียนยังแห้ว
จนเกิดคำถามตามมาว่า สถานการณ์ความลำบากไม่มีจะกิน รัฐบาลไม่เยียวยาแต่กลับเอาเงินภาษีของประชาชนมาแจกเจ้าของเงินแบบแจกทาน ศักดิ์ศรีความเป็นประชาชนหายไป เพราะถูกรัฐยัดเยียดความเป็นคนจนให้ ล่าสุดธนาคารโลก ออกมาระบุว่า โควิด-19 ทำคนไทยจนขึ้นอีก 1.5 ล้านคนอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 หดตัวไปถึง -12% ต่อปี ระดับเดียวกับเมื่อครั้ง 'วิกฤตต้มยำกุ้ง' ทำให้นึกถึงคนชื่อ 'สมคิด จตุศรีพิทักษ์' ขึ้นมาทันที
ซึ่งประเด็นนี้ พิชัย นริพทะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ ได้ออกมาให้ความเห็นว่า ในภาวะที่ลำบากกันอย่างมากนี้ ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้เงินสดในหลายกรณี แต่กลับต้องให้ลงทะเบียนผ่านมือถืออีก โดยประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ พอแนะนำเรื่องนี้รัฐบาลก็บอกว่าจะมีการติดต่อบริษัทให้มาจำหน่ายโทรศัพท์มือถือให้ในราคาพิเศษให้กับคนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ สามารถซื้อเพื่อลงทะเบียนเข้าโครงการได้ สรุปว่ามันเยียวยาประชาชนหรือเติมความรวยให้เจ้าสัวกันแน่
ตรีชฎา ระบุว่า วันนี้คนกลับมองว่ารัฐบาลเหมือนฝนตกขี้หมูไหลคนอะไรมาเจอกัน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคิดอะไรไม่ผูกโยงกับความเดือดร้อนของประชาชน ปฏิบัติเหมือนหวังดีกับประชาชน แต่คนกลับมองว่าเป็นการหวังดีกับเจ้าสัวมากกว่า เงินจากภาษีประชาชนควรให้เขามีสิทธิ์ใช้อะไรก็ได้ กลับไปคิดโอนเงินให้ประชาชนใช้อาทิตย์ละพันผ่านแอปฯ แจกช้า วิธีการยุ่งยาก ให้เงินแบบนี้เหมือนเห็นประชาชนเป็นบอนไซบังคับไม่ให้เจริญเติบโต
ตรีชฎา ระบุอีกว่า เตือนรัฐบาลแล้วว่าให้คิดให้ดี คิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะออกมาตรการ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยเตือนให้รัฐบาลใช้ระบบเยียวยาถ้วนหน้าเหมือนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับประชาชนทุกคน เพื่อป้องกันคนที่ไม่มีสมาร์ตโฟนทำให้เข้าถึงการเยียวยาไม่ได้ อย่าทำแบบ “ทราบแล้วเปลี่ยน” ล่าสุดก็เปลี่ยนอีกจนได้ สุพัฒน์พงษ์ได้ออกมาแจ้งว่า กลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 13.8 ล้านคน ไม่ต้องลงทะเบียน 'เราชนะ' แต่จะได้รับเงินโอนเข้าบัตรโดยตรง ส่วนผู้ที่ไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ไม่มีสมาร์ทโฟน ได้ประสานงานกับธนาคารของรัฐที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กลุ่มคนดังกล่าว ให้สามารถลงทะเบียนได้
“เตรียมพร้อมรับเลยถ้าไม่คิดเปลี่ยนวิธีการ วันสิ้นเดือน ม.ค.ที่เปิดให้ลงทะเบียนจะต้องเผชิญกับเว็บล่ม แอปฯ มีปัญหา ประชาชนด่าทั้งประเทศแน่ จากเราชนะ จะกลายเป็นความหายนะจากการทนไม่ไหวของประชาชนที่ลำบากและรอเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เกินทน เราเตือนท่านแล้ว การช่วยเหลือที่ล่าช้าไม่ทันกาลคือความหายนะของรัฐบาล ประวัติศาสตร์การเมืองจะบันทึกอีกครั้ง ว่า เป็นรัฐบาลที่แจกเงินให้ประชาชนแต่คนด่าและสาปแช่งกันทั้งเมืองเป็นห่วง” ตรีชฎา กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :