ไม่พบผลการค้นหา
บัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว อานนท์ นำภา ขณะที่ มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะแผนกคดีค้ามนุษย์ มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา อ้างไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า 10 ก.ย. 2564 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ดันเพดานการวิจารณ์สภาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ เป็นครั้งที่ 4 ในคดีจากการปราศรัยในชุมนุมครบรอบ 1 ปี #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 โดยหลังการไต่สวน ศาลได้อนุญาตฝากขัง ขณะที่ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 5 แต่ศาลยังไม่ปล่อยชั่วคราว

เวลา 14.00 น. พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ซึ่งเป็นผู้มายื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังครั้งที่ 4 ในวันนี้ เบิกความต่อศาลว่า คดีนี้คณะพนักงานสอบสวนยังต้องสอบพยานอีกหลายปาก จึงขอให้ศาลอนุญาตฝากขังอานนท์ต่อไปอีก 12 วัน ระหว่างวันที่ 11-22 ก.ย. 2564 โดยพยานที่จะสอบปากคำเพิ่มเติม ประกอบด้วย ประชาชน 4 คน ซึ่งเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ ประกอบด้วย 1. อําภา สุดรัมย์ 2. พัชรี หงส์พรม 3. จิราพร ต่ำว่าองค์ 4.กัญจ์บงกจ เมฆาประพัฒน์สกุล 5.ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี 1 ราย (ยังไม่มีรายชื่อ) และสอบปากคำเพิ่มเติมตำรวจสันติบาล 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ท.คชภพ คงสมบูรณ์, พ.ต.ท.วิบูลย์ นนทะแสง และ ร.ต.อ.กิตติศักดิ์ อังกนะ จากนั้นจะนำเสนอสำนวนต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อสั่งคดี

พนักงานสอบสวนตอบศาลถามว่า ที่ต้องสอบพยานที่เป็นประชาชนทั้ง 4 คนดังกล่าว เนื่องจากตำรวจเห็นทั้งสี่ในกล้องที่ถ่ายทอดสด และเห็นว่าทั้งสี่อยู่ในเหตุการณ์ตลอดเวลา พนักงานสอบสวนยังตอบศาลว่า พยาน 5 ปาก ที่ขอเวลาสอบสวนคราวก่อน ได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว แต่ยังไม่แน่ชัดว่าการสอบพยานจะเสร็จสิ้นพอที่จะฟ้องได้ เนื่องจากต้องรอความเห็นของคณะทำงานและผู้บังคับบัญชา

14.10 น. ทนายความผู้ต้องหาได้ซักถามพนักงานสอบสวนเรื่องพยานที่เพิ่มเข้ามา โดยพนักงานสอบสวนรับว่าพยานชุดใหม่ เป็นพยานที่เพิ่มเข้ามาหลังการขอฝากขังครั้งที่ 3 โดยคดีนี้เป็นคดีที่มีความสลับซับซ้อนจึงต้องหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม

ทนายความได้ถามว่า พยานทั้งสี่ที่บอกว่าอยู่ในเหตุการณ์นั้น จะถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ หรือไม่ เพราะไปร่วมชุมนุม พนักงานสอบสวนตอบว่าไม่ถูกดำเนินคดี เพราะเพียงแต่ผ่านไปและมีการใส่หน้ากากป้องกัน มีการนั่งเว้นระยะห่าง โดยทางตำรวจจะเน้นดำเนินคดีเฉพาะแกนนำ

พนักงานสอบสวนตอบทนายความของอานนท์อีกว่า การสอบพยานอีก 8 ปาก จะเป็นการให้พยานทั้ง 8 อ่านคำถอดเทปของอานนท์ นำภา และดูภาพถ่ายเพื่อยืนยัน โดยจำนวนพยานทั้งหมดถูกระบุมาโดยคณะทำงาน

14.25 น. อานนท์เบิกความ โดยกล่าวว่า ผมคิดว่าวันนี้ศาลคงมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง แต่ผมอยากเรียนว่าการที่ผมขึ้นปราศรัย มันก็ชัดอยู่แล้ว ไม่เห็นต้องให้พยานยืนยันอะไรอีก จากคำร้องขอฝากขัง ก็คือขังผมเพื่อให้ตำรวจทำให้งานเสร็จ ซึ่งมันฟังดูตลก ซึ่งในคดีนี้ถึงศาลจะยกคำร้องไม่รับฝากขัง ตำรวจก็ทำงานได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขังผม อันที่จริงผมไม่ได้ออกไปด้วยซ้ำเพราะมีหมายขังอยู่ที่ศาลอาญาอีกคดี 

ผมอยากเห็นคำสั่งที่ยึดหลักกฎหมายของศาล จริงๆ ตำรวจควรสอบสวนให้เสร็จก่อนมาออกหมายจับผมด้วยซ้ำ อยากให้ศาลยืนในหลักคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหา 

15.00 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังอานนท์ครั้งที่ 4 อีก 7 วัน ระหว่างวันที่ 11-17 ก.ย. 2564 ระบุว่า

พิเคราะห์เหตุตามคําร้องขอฝากขังครั้งที่ 4 คําร้องคัดค้านและคําให้การของผู้ร้องแล้ว เห็นว่า ผู้ร้องยืนยันว่ามีเหตุจําเป็นที่จะต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 8 ปาก เพื่อให้สํานวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์ คําให้การสอบสวนไม่แล้วเสร็จ จึงขออนุญาตฝากขังผู้ต้องหาอีกครั้งหนึ่ง ประกอบกับผู้ต้องหาแม้ว่าจะคัดค้านการสอบสวน แต่ไม่มีการยืนยันว่าพนักงานสอบสวนได้ดําเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว กรณีมีเหตุจําเป็น จึงอนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังผู้ต้องหาได้อีกครั้ง แต่เนื่องจากผู้ต้องหาถูกคุมขังมาโดยตลอด ดังนั้นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว จึงอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาได้ 7 วัน 

อนึ่งตามคําร้องคัดค้านว่าผู้ต้องหาไม่ได้รับอนุญาตจากศาล ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาถูกคุมขังต่อไปย่อมจะเป็นการคุมขังที่เกินจําเป็นนั้น เห็นว่า การที่ผู้ต้องหาจะต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่เป็นคนละเหตุกับการที่พนักงานสอบสวนขอฝากขังผู้ต้องหา หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและยังคงติดใจในเรื่องดังกล่าว ผู้ต้องหาสามารถอุทธรณ์คําสั่งต่อศาลอุทธรณ์หรือผู้ต้องหาจะยื่นคําร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่ก็ได้ กําชับพนักงานสอบสวนให้ดําเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จ

ภายหลังศาลมีคำสั่งอนุญาตฝากขัง ทนายความจึงยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ นำภา โดยเป็นการยื่นประกันครั้งที่ 5 

ในเวลา 15.30 น. บัญญัติ ตังกบดี รองอธิบดีศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวอีกเป็นครั้งที่ 5 “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เหตุตามคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวของผู้ต้องหายังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ซึ่งลงวันที่ 11 ส.ค. 2564 จึงมีมติยกคำร้อง” 

ศาลไม่ให้ประกันตัว ‘ไผ่’ จตุภัทร์ ชี้ติดโควิด ยังไม่เป็นเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งที่เคยไม่ให้ประกัน 

นอกจากนี้ ทนายความยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว 'ไผ่' จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ใน 3 คดี เป็นครั้งที่ 4 ได้แก่ คดีสาดสีหน้า สน.ทุ่งสองห้อง, คดีสาดสีหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งศาลเคยให้ประกัน และถอนประกันเมื่อ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา

โดยทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไผ่ ต่อศาลอาญา รัชดาฯ อีกด้วย โดยได้ยื่นขอประกันระหว่างสอบสวนใน 2 คดีเป็นครั้งที่ 4 ได้แก่ คดี #ม็อบ30กรกฎา สาดสีรั้วหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีสาดสีป้าย สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 อีกทั้งยังได้ยื่นขอประกันระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เป็นครั้งที่ 3 หลังถูกถอนประกันในคดีนี้

โดยในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวจตุภัทร์ครั้งนี้ ทนายได้วางเงินสดจากกองทุนราษฎรประสงค์เป็นหลักประกันทั้ง 3 คดี ได้แก่ คดีของ สน.ทุ่งสองห้องและ สน.บางเขน คดีละ 35,000 บาท และคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีก 200,000 บาท พร้อมทั้งได้ระบุเหตุผลประกอบ ดังนี้

  1. เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2564 จำเลยได้พบว่าตนเองติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ จึงเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่ศาลอาจพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์
  2. จำเลยยังไม่ได้ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิด ซึ่งตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน “ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดทางอาญาทุกคนบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ว่ามีความผิดตามกฎหมาย” ฉะนั้นจึงขอให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลย เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยไปเป็นตามหลักกฎหมายและเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากประเทศภาคีและสากล
  3. คำร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีที่ สน.ทุ่งสองห้อง และ สน.บางเขน ระบุว่า ยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าการกระทำของผู้ต้องหามีความผิดจริง โดยเจตนาของการควบคุมตัวระหว่างฝากขังต้องมีจุดมุ่งหมายให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนโดยไม่มีอุปสรรค อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนไม่ได้โต้แย้งว่า หากศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนและรวบรวมพยานในคดีนี้

นอกจากนี้ ทั้งสองคดีนี้ยังมีอัตราโทษไม่สูง กรณีที่พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว อ้างว่าผู้ต้องหาจะไปกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก เป็นเพียงการคาดคะเนของพนักงานสอบสวนฝ่ายเดียว พนักงานสอบสวนยังรับอีกด้วยว่า การเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาเป็นการเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นประเด็นที่เป็นที่เรียกร้องในวงกว้าง ดังนั้นการกระทำของผู้ต้องหาจึงไม่ได้เป็นการก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองแต่อย่างใด

ต่อมา เวลาประมาณ 16.30 น. มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจตุภัทร์ทั้ง 3 คดี ระบุว่า ศาลนี้ โดยที่ประชุมผู้บริหารศาลทุกคนมีมติ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุร้ายประการอื่น ลำพังการที่ผู้ต้องหานี้ติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 โดยไม่ปรากฏว่ามีอาการร้ายแรงอย่างไร ไม่ถือว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ศาลจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมได้ ยกคำร้อง

จนถึงขณะนี้ “ไผ่” จตุภัทร์ กลายเป็นผู้ต้องหาคดีทางการเมืองเพียงคนเดียวที่ยังคงรับการรักษาอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์