ไม่พบผลการค้นหา
'พิชัย' เร่งนโยบายเชิงรุก ประสานภาครัฐและภาคเอกชน พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ชี้ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของบุคลากรดิจิทัลของโลก แนะคิดนอกกรอบ แก้ทุกอุปสรรค ทำให้เกิดขึ้นให้ได้จริง

พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์และการเมืองพรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก และ ขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยยังต่ำมากเมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งสามารถที่จะขยายตัวได้อีกมาก และเป็นพื้นที่ของการเจริญเติบโตในอนาคต และเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทยและจุดประสงค์ของท่านนายกฯ ที่เร่งส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ดังนั้น จึงได้จัดให้มีการประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดย ภาครัฐประกอบด้วย นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และคณะ ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดีอีเอส และคณะ พชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประธาน กสทช. และ คณะ ภาคเอกชนประกอบด้วย ศักดา​ ใช่วิวัฒน์ เลขาสมาคม ACTA ส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐกันต์ สุวรรณภักดี ผู้ก่อตั้งเครือข่ายดิจิทัลนอแมดไทยแลนด์ พงษ์ศิริ พิสุทธิ์อัครธาดา นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ นิธิวิทย์​ นิธิทักษ์นาคิน อุปนายก​ สมาคม​ ACTA

IMG_0820.jpeg

โดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้มีแนวทางสอดคล้องกันเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะการดึงดูดบุคลากรทางดิจิทัลของโลกเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จ โดยอยากให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคนี้และของโลกด้วย และเป็นไปตามแนวทางของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) 

ทั้งนี้ พบว่า ปัจจุบัน ประเทศเอสโตเนีย ที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างมากได้พัฒนาเป็นเมืองหลวง (Capital) ของ บุคลากรทางดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ประจำที่ (Digital Nomads) ในขณะที่ประเทศไทยเป็นเหมือนสวรรค์ (Heaven) ของ บุคลากรทางดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ประจำที่ (Digital Nomads) เพราะมี โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่พร้อม มีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งภูเขาและทะเล รวมถึงวัฒนธรรม สถานที่ช้อปปิ้ง อาหารอร่อยและมีหลากหลาย รวมทั้งมีที่พักอาศัยที่สะดวกสบาย มีค่าครองชีพที่เหมาะสม และที่สำคัญคือคนไทยมีอัธยาศัยดี จึงทำให้มีบุคลากรทางดิจิทัลที่ไม่ต้องอยู่ประจำที่ (Digital Nomads) เข้ามาในประเทศไทยในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก แต่ระบบราชการยังไม่เอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกคล่องตัวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย 

IMG_0817.jpeg

โดยเมื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้เข้ามาในประเทศไทย จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์หลายด้าน เช่น การพัฒนาการท่องเที่ยวที่คนกลุ่มนี้จะเข้ามาอยู่ มากิน มาใช้ มาท่องเที่ยว และใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเพราะส่วนใหญ่มีรายได้สูง ฐานะดี แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือสามารถเข้ามาร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศไทยได้ และประเทศไทยมีความจำเป็นจะต้องดึงดูดคนเก่งๆมีความรู้ความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยกันคิดเรื่องใหม่ๆเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ อีกทั้งคนกลุ่มนี้ยังช่วยถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ให้พัฒนาเก่งตามไปด้วย 

โดยเริ่มต้นจากปัญหาการขอวีซ่าเพื่อเข้ามาทำงานในด้านนี้ซึ่งต้องได้รับความสะดวกสบาย และสามารถอยู่ในประเทศไทยได้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพื่อส่งเข้าอนุมัติใน ครม. แล้ว โดยน่าจะมีความสะดวกสบายในเรื่องดังกล่าวในไม่ช้า ซึ่งน่าจะอนุมติบุคลากรที่จบการศึกษาด้านนี้จากมหาวิทยาลัยที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกกว่า 600 แห่งให้สามารถสมัครขอวีซ่าเข้าไทยแบบอยู่ระยะยาวได้ 

ทั้งนี้ อยากเห็นการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม โดยอยากให้ทุกหน่วยงานอย่ายึดติดกรอบ หรือ ถ้าติดข้อกฏหมายตรงไหน ก็ต้องเร่งแก้ไข พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นได้จริงและคิดให้ครบทุกเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบ โดยตั้งแต่ขั้นตอนการขอทำวีซ่า การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมได้มาตรฐาน ความสะดวกในการทำธุรกิจ การจดทะเบียนบริษัทและการขอรับใบอนุญาตด้านต่างๆ ผ่านออนไลน์ การรับการส่งเสริมการลงทุน การหาเงินลงทุน และดึงดูดนักลงทุนที่สนใจ ตลอดจนขั้นตอนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวมากขึ้น ตรงไหนที่เป็นปัญหาก็ต้องเร่งแก้ไข เพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมาย ทั้งนี้ กสทช. ได้เตือนว่าจะต้องป้องกันปัญหาการหลอกลวงและมิจฉาชีพที่อาจจะมีแฝงตัวเข้ามาด้วย ซึ่งต้องหาวิธีตรวจสอบและป้องกัน 

การประชุมเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีแนวคิดที่ตรงกัน โดยหวังว่าจะสามารถผลักดันเรื่องต่างๆให้สำเร็จได้ภายใน 6 เดือนหลังจากนี้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศไทยอย่างมาก