แถลงการณ์จากอาเซียนที่ออกมาในวันพฤหัสบดี (13 เม.ย.) เกิดขึ้นหลังจากการทิ้งระเบิดครั้งใหญ่ได้หนึ่งวัน โดยเผด็จการเมียนมายืนยันว่า พวกตนได้ทำการโจมตีทางอากาศจริง โดยเล็งเป้าหมายใส่พิธีของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) รัฐบาลเงาของเมียนมา ที่ดำเนินกิจการให้กองกำลังป้องกันประชาชน (PDF)
สหประชาชาติ สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ยังได้ออกมาประณามการโจมตีของเผด็จการเมียนมา ซึ่งเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในการก่อรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. 2564
“อาเซียนขอประณามรายงานการโจมตีทางอากาศเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ดำเนินการโดยกองทัพเมียนมาในหมู่บ้านปาซิจี” แถลงการณ์ของอาเซียนระบุ “ความรุนแรงทุกรูปแบบต้องยุติทันที โดยเฉพาะการใช้กำลังกับพลเรือน” แถลงการณ์ยังระบุเสริมอีกว่า “นี่จะเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวยต่อการเจรจาระดับชาติแบบมีส่วนร่วม เพื่อหาทางออกอย่างสันติอย่างยั่งยืนในเมียนมา”
สื่อรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุทิ้งระเบิดในครั้งนี้มากถึง 100 คน เมื่อเครื่องบินรบทิ้งระเบิดใส่ศาลาของชุมชนในเช้าวันอังคาร (11 เม.ย.) ทั้งนี้ พยานกล่าวว่าเผด็จการเมียนมายังใช้เฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธตามมาโจมตีซ้ำ โดยเล็งเป้ายิงใส่ผู้รอดชีวิตและขัดขวางความพยายามในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ ชาวบ้านรายหนึ่ง ซึ่งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว AFP ประเมินว่า ศพราว 80 ศพถูกเผาเมื่อวันพุธ (12 เม.ย.) โดยหน่วยกู้ภัยได้ระงับความพยายามในการกู้ศพอีกราว 40 ศพ “เพราะเรากลัวว่าจะมีการโจมตีทางอากาศมากกว่านี้”
หากได้รับการยืนยันตัวเลขผู้เสียชีวิตในครั้งนี้ การโจมตีในครั้งนี้จะนับเป็นการโจมตีที่รุนแรงที่สุด นับตั้งแต่กองทัพภายใต้การนำของนายพลอาวุโส มินอ่องหล่ายน์ เข้าโค่นล้มอำนาจรัฐบาลของ อองซานซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของเธอ นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนที่ถูกเผด็จการเมียนมาโค่นล้มลงจากอำนาจ ได้เข้าเป็นสมาชิกส่วนหนึ่งของ NUG
อาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่มีสมาชิก 10 ชาติ ซึ่งรวมถึงเมียนมา และมีหลักการที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน ในการไม่ยุ่งเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของสมาชิกด้วยกันเอง โดยอาเซียนกำลังเป็นผู้นำความพยายามทางการทูตเพื่อยุติความขัดแย้งในเมียนมา
ทั้งนี้ มติแผนสันติภาพ 5 ประการของอาเซียน ซึ่งมีออกมาหลังจาก มินอ่องหล่ายน์ ทำรัฐประหารได้ไม่นาน กลับมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย โดยแม้แผนสันติภาพจะมีการเรียกร้องให้ยุติการสู้รบ และให้มีการเจรจาที่ครอบคลุม แต่ความรุนแรงในเมียนมากลับทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
การโจมตีในหมู่บ้านปาซิจี มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากการสู้รบอย่างหนักในรัฐกะเหรี่ยงทางตอนใต้ ส่งผลให้ผู้คนหลายพันคนต้องหลบหนีข้ามพรมแดนเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ความขัดแย้งได้คร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน และนำไปสู่การพลัดถิ่นฐานของประชาชนราว 1.2 ล้านคนทั่วเมียนมา โดยตลอด 2 ปีหลังการรัฐประหาร กลุ่ม PDF และกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยังคงต่อต้านกองทัพเมียนมา ส่งผลให้เผด็จการเมียนมาไม่สามารถควบคุมพื้นที่อันกว้างใหญ่ของประเทศได้โดยสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี มินอ่องหล่ายน์ ได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจากับ NUG โดยเขาเรียกฝ่ายตรงข้ามว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ที่ออกมาทำลายประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง อาเซียนได้ลงโทษเมียนมาที่ขาดความคืบหน้าในแผนสันติภาพ โดยองค์การได้ห้ามไม่ให้เมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่ม แต่สมาชิกบางคนเรียกร้องให้มีการดำเนินการที่รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ อาเซียนมีอินโดนีเซียเป็นประธานในปีนี้
ที่มา: