ที่ศาลจังหวัดปราจีนบุรี นัดคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของจำเลยในคดีอาญาของนายสุเมธ เหรียญพงษ์นาม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมจากกลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ รวมกลุ่มขึ้นมาหลังได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นคล้ายกลิ่นสารเคมีในชุมชนพื้นที่ ต.กรอกสมบูรณ์ อ.ศรีมหาโพธิ และต.ลาดตะเคียน ต.บ้านหนองตลาด อ.กบินทร์บุรี ใน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งล่าสุดเมื่อเดือนเม.ย. 2563 ที่ผ่านมา นักปกป้องสิทธิฯ ถูกฟ้องหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากบริษัทเอกชนที่ให้บริการการจัดการและกำจัดปัญหากากของเสียอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่ของชุมชนดังกล่าว
โดยนัดคุ้มครองสิทธิดังกล่าว มีทนายโจทก์ ทนายจำเลยและนายสุเมธ (จำเลย) และสมาชิกฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์ประมาณสิบคน และองค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมในการเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีผู้ประนีประนอมประจำศาล ปรากฏว่าทนายโจทก์ขอเลื่อนการเจรจากับนายสุเมธ เป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2563 เวลา 13.30 น. ณ ศาลจังหวัดปราจีนบุรี
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 กลุ่มฅนรักษ์กรอกสมบูรณ์และกลุ่มฅนรักษ์บ้านหนองตลาด ได้ไปยื่นจดหมายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการประกอบกิจการของบริษัทและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นเหม็นสารเคมีในพื้นที่ รวมถึงตรวจสอบการประกอบกิจการว่าดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ อันเป็นกระบวนการใช้สิทธิตามกระบวนการทางกฎหมายโดยปกติที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิได้ แต่ในวันเดียวกันนั้น หลังจากทางกลุ่มฯ ได้ไปยื่นจดหมายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นายสุเมธและสมาชิกกลุ่มฯ ได้ถูกคุกคามโดยมีผู้ใช้รถยนต์เป็นพาหนะโยนระเบิดปิงปองเข้ามาในบริเวณหน้าบ้านสมาชิกกลุ่มฯ ซึ่งคาดว่าเป็นการข่มขู่ให้หวาดกลัว
ซึ่งภายหลังผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวไปแล้วก็ได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการไตรภาคี เพื่อแก้ปัญหาจากข้อร้องเรียนดังกล่าว และหลังจากนั้นทางกลุ่มฯระบุว่ากลิ่นเหม็นได้บรรเทาขึ้นบ้าง แต่ยังมีข้อกังวลถึงคุณภาพน้ำที่อยู่ใกล้บริเวณโรงงานว่าอาจจะปนเปื้อนสารเคมีอันตราย โดยล่าสุดทางกรมควบคุมมลพิษได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำในป่าอ้อยใกล้บริเวณชุมชน ซึ่งประชาชนสงสัยว่ามีการนำน้ำชะขยะมาทิ้งไปตรวจ และมีหนังสือแจ้งผลการตรวจ ลงวันที่ 13 เม.ย. 63 ว่ามีสารหนูปนเปื้อนเท่ากับ 6.057 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐาน
หลังจากมีการยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดไปประมาณสามเดือน ทางบริษัทเอกชนดังกล่าวได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสระบัว ว่าจดหมายดังกล่าวได้มีข้อความที่หมิ่นประมาทต่อบริษัท จนต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2563 นายสุเมธได้รับหมายศาล ในคดีหมายเลขดำที่ อ. 532/2563 บริษัทเอกชนที่พิพาทเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุเมธ เหรียญพงษ์นาม (จำเลย) ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และเรียกค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 332 อ้างถึงจำเลยเป็นหนึ่งในเป็นผู้ลงลายมือชื่อในจดหมายที่ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้มีการตรวจสอบการประกอบกิจการของโจทก์ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายทั้งแก่ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณของบริษัทฯ และเสียหายต่อรายได้ทางการค้าของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวน 50,000,000 บาทพร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
นอกจากนี้นายสุเมธยังถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องเป็นคดีที่สอง ที่ศาลอาญารัชดา ในคดีหมายเลขดำที่ อ 1308/2563 ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91,326, 328, 332 และบริษัทฯได้ขอให้ศาลสั่งและบังคับให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันจำนวน 2 ฉบับ เป็นเวลา 15 วัน (หากบริษัทฯชนะคดี)
ด้าน น.ส.สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายในคดีนี้ กล่าวว่า กรณีที่ภาคเอกชนใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องชุมชนและสิ่งแวดล้อมนั้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ หรือ การฟ้องปิดปาก มักจะเกิดขึ้นเพื่อทำให้เกิดบรรยากาศของความกลัว โดยเฉพาะการเรียกค่าเสียหายที่สูงมากเช่นในคดีนี้ ทำให้นักปกป้องสิทธิฯ และชุมชนไม่กล้าออกมาต่อสู้และเรียกร้องเพื่อสิทธิในสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชุมชน
น.ส.สุภาภรณ์ กล่าวว่า กลไกของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลสามารถกลั่นกรองคดีโดยเฉพาะคดีที่ฟ้องปิดปากหรือการแกล้งฟ้องดังกล่าวได้ โดยในมาตรา 161/1 และ 165/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เปิดโอกาสให้ศาลสามารถยกฟ้องคดี หากเห็นว่าเป็นการฟ้องคดี “โดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย” อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้มาตราใหม่นี้อย่างเป็นผล ในกฎหมายไม่มีการให้นิยามคำว่า “โดยไม่สุจริต” ด้วยซ้ำ ส่งผลให้ตกเป็นดุลพินิจของศาล จนถึงปัจจุบัน การร้องขอต่อศาลให้ใช้อำนาจตามมาตรา 161/1 ในคดีต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มักถูกปฏิเสธ ทั้งๆ ที่ในหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่ประเทศไทยได้รับมาปฏิบัติ กำหนดเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน
กรณีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว น.ส.สุภาภรณ์ ระบุว่า หน่วยงานของรัฐที่กำกับดูแลการดำเนินงานของโรงงาน เช่น กรมโรงงานอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานระดับท้องถิ่น มีบทบาทอย่างยิ่งในการจัดการปัญหามลพิษที่อาจส่งผลต่อชุมชน โดยเฉพาะการกำกับดูแลก่อนตั้งโรงงาน ในระหว่างการดำเนินกิจการ และหากว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว จะต้องหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกันกับชุมชนเพื่อป้องกันความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ และย้ำว่าเป็นหน้าที่ของรัฐในการต้องกำกับดูแลเอกชนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งเกี่ยวข้องกับปัญหาการคุกคามการทำงานของนักปกป้องสิทธิฯ
นายสุเมธชี้ ยังพร้อมสู้เพื่อปกป้องสิทธิ ย้ำเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต ในการต่อสู้เพื่อรักษาผืนแผ่นดินที่สะอาดไว้ให้ลูกหลาน เชื่อว่าศาลจะให้ความยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้ ในเดือน ก.ย. 2562 เพียงเดือนเดียว ตนและภรรยาถูกลอบยิงจำนวน 3 ครั้ง รวมประมาณ 14 นัด ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ถูกข่มขู่คุกคามทั้ง 3 ครั้งยังไม่สามารถจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
ภายหลังจากการนัดของศาลในวันนี้ นายสุเมธ กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นเนื่องจากเป็นการขึ้นศาลครั้งแรก เชื่อว่าการปกป้องสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมของชุมชนเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต และย้ำว่า คดีครั้งนี้เป็นเดิมพันของคนทั้งหมู่บ้าน ถ้าได้รับความยุติธรรมก็เป็นชัยชนะของทั้งหมู่บ้าน แต่ว่าหากตนไม่ได้รับความยุติธรรมก็จะส่งผลต่อกำลังใจของคนในชุมชนที่ต้องการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยหลังจากที่โดนคดีก็เป็นห่วงครอบครัวของตนเอง
“ถึงแม้ว่าท้อเราก็ไม่ถอย เพราะนี่เป็นการรักษาชีวิตและชุมชน เป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อปกป้องแผ่นดิน สิทธิในสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชุมชนของตนเอง เพื่อรักษาวิถีชีวิตและส่งต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานชาวบ้านต่อไป” นายสุเมธกล่าว
ด้าน น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่นอินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) ระบุว่า หากพิจารณาจากปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ซึ่งรัฐทุกรัฐรวมถึงรัฐไทยมีพันธะว่าต้องทำให้เป็นกฎหมายภายในประเทศตน กรณีนายสุเมธ เหรียญพงษ์นามนั้นได้ทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนใน ด้านสิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลไทยระบุว่าให้ความสำคัญในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ซึ่งดูจาก (ร่าง) แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2562 -2565) ของกระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยมีเป้าหมายคือ“การละเมิดสิทธิมนุษยชนลดลง”และหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคือ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในกรณีนี้นายสุเมธได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในคดีหมายเลขดำที่ อ 532/2563 น และหวังว่ากองทุนยุติธรรมจะอนุมัติให้ในคดีที่สองคดีดำที่ อ1308/2653 ณ ศาลอาญา ที่สุเมธกำลังยื่นขอรับการสนับสนุนเงินประกันชั่วคราวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ที่เรากังวลมากคือความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งก่อนหน้านี้จากโครงการ แด่นักสู้ผู้จากไป “ For Those WHO Died Trying “[4]เราพบว่ามีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในภาคตะวันออกอย่างน้อยสี่คนโดนสังหารและมีเหตุให้เสียชีวิตเนื่องจากการปกป้องสิทธิฯ รวมถึงกรณี ผู้ใหญ่ "จบ" หรือนายประจบ เนาวโอภาส แกนนำค้านบ่อขยะพิษหนองแหน จ.ฉะเชิงเทรา ที่ถูกลอบสังหารเมื่อปี 2556
ในกรณีของสุเมธ ก็ประสบกับการคุกคามที่ใช้ความรุนแรงหลายครั้งเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเกิดจากการกระทำของใคร แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องรับผิดชอบปกป้องความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน ดังนั้นเราเรียกร้องให้มีการสอบสวนเหตุการณ์การคุกคามสุเมธและครอบครัวและหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ภาคีเครือข่าย53องค์กรและบุคคล 23 คน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงหน่วยงานของสหประชาชาติ ที่จัดประชุมประจำปีสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เพื่อย้ำว่ารัฐบาลไทยจำเป็นต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิที่ถูกคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม และการฟ้องปิดปากเช่นนี้ เป็นการละเมิดหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนทั้งสามประการ รวมทั้ง 1. หน้าที่ของรัฐในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 2. ความรับผิดชอบของบรรษัทที่จะต้องเคารพสิทธิมนุษยชน และ 3. การเข้าถึงการเยียวยาของผู้เสียหายจากการปฏิบัติมิชอบเนื่องจากการทำธุรกิจ หลักการดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดการเยียวยาที่เข้มแข็งและเหมาะสมต่อผู้เสียหาย”
น.ส.ปรานม ยังระบุว่า เรายินดีที่ได้รับการตอบกลับจากคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG) ที่มีข้อชี้แจงว่าคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNWG) ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับบทบาทของภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นชนเผ่าชาติพันธุ์และดั้งเดิม ในการทำงานส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเคารพต่อสิทธิมนุษยชนตามแนวทางแห่งสหประชาชาติว่าด้วยหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำธุรกิจ สามารถเข้าถึงการเยียวยาได้อย่างมีประสิทธิภาพ