แฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งเคยเป็นเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ช่วงหนึ่งเมื่อเดือน ก.ค. 2563 มีความเคลื่อนไหวอีกครั้งในวันที่ 25 ส.ค. หลังผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเผยแพร่ภาพป้ายประกาศที่ระบุว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) เชิญให้ประชาชนไปสักการะเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ณ ที่ประทับชั่วคราว บริเวณซอยจุฬาฯ 34 นับตั้งแต่ 31 ส.ค.2563 เป็นต้นไป พร้อมระบุว่า ศาลแห่งใหม่ของเจ้าแม่ทับทิมอยู่ที่บริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายดังกล่าวระบุด้วยว่า "เมื่อสัปดาห์ก่อน ศาลเจ้าเอาป้ายงานทิ้งกระจาดไปติดแล้วป้ายหาย" หลังจากนั้นไม่นานก็มีป้ายที่ระบุว่าเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองจะประทับอยู่ที่ศาลแห่งใหม่มาติดแทน จึงตั้งข้อสงสัยว่ามีผู้สั่งให้เก็บป้ายงานทิ้งกระจาดที่ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองนำไปติดไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
ขณะที่ 'เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล' นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตประธานสภานิสิตจุฬาฯ ผู้รณรงค์ล่ารายชื่อผู้คัดค้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองของ PMCU เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทวีตข้อความว่า นิสิตและประชาชนไม่ได้โง่ จุฬาฯ อย่ารังแกชุมนุม ทำลายวัฒนธรรม พร้อมติดแฮชแท็ก #saveศาลเจ้าแม่ทับทิม
และก่อนหน้านี้ ในวันที่ 17 ส.ค. เนติวิทย์ได้รีทวีตข้อความเกี่ยวกับศาลเจ้าแม่ทับทิม พร้อมระบุว่า "ตอนนี้ศาลเจ้าแม่ทับทิมยังเปิดอยู่ เพราะการกดดันของนิสิตและภาคประชาชน แต่จุฬาฯ ยังไม่ถอย จะไล่ให้ได้" พร้อมรณรงค์ให้นิสิตนักศึกษามาช่วยกันปกป้องศาลเจ้าแม่ทับทิม
นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจ เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์คัดค้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง การย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองไปยังที่ประทับชั่วคราว โดยทางศาลเจ้าขอชี้แจงว่าการย้ายองค์เจ้าแม่ทับทิมไปยังที่ประทับชั่วคราว "ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด" และศาลเจ้ายังคงเปิดให้สักการะตามปกติในพื้นที่เดิม และไม่มีกำหนดย้ายออก
กลุ่มผู้คัดค้านการรื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ให้เหตุผลว่า การย้ายที่ประทับของเจ้าแม่ทับทิมไปยังที่แห่งใหม่อาจกระทบต่ออัตลักษณ์ของชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพราะการรื้อถอนและย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ ไปยังที่แห่งใหม่ย่อมส่งผลต่อโครงสร้างอาคารเก่าแก่ ทั้งยังมองว่าที่ตั้งแห่งใหม่ไม่เหมาะสม ไม่สอดคล้องกับกิจวัตรของผู้เคารพศรัทธาเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งผูกพันกับชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนมานาน
ก่อนหน้านี้ ผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิมเปิดเผยกับ 'วีรนันต์ กัณหา' ในรายการ Voice Go ว่า ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองก่อตั้งมาหลายสิบปี แต่เจ้าแม่ทับทิมมีประวัติความเป็นมาเก่าแก่กว่านั้น โดยอ้างอิงจากกระถางธูปที่ตกทอดกันมา มีสัญลักษณ์ จปร. คาดว่าจะมีอายุเก่าแก่ราว 100 ปี
อย่างไรก็ตาม PMCU แถลงชี้แจงตั้งแต่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า ผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินตั้งอาคารศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2558 หลังจากนั้นก็ได้มีการเจรจาย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมฯ มาโดยตลอด ล่าสุด PMCU ได้ให้กรมศิลปากรพิสูจน์ทราบแล้วว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมไม่เป็นโบราณสถานและไม่เข้าข่ายที่ต้องเข้าไปดูแล
เมื่อศาลเจ้าไม่ได้เป็นโบราณสถานและไม่ได้ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง อาคารศาลเจ้าแม่ทับทิมจึงไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ PMCU ยืนยันจะเดินหน้าย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: