หลายคนบอกว่านี่คือคำปราศรัยที่ปลุกเร้าการต่อสู้ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่ง ของ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมืองที่กระบวนการยุติธรรมไทยเหวี่ยงซัดให้เขากลายเป็นนักโทษคดี 112 คนแรกของรัชสมัยใหม่ จากการกดแชร์บทความ “พระราชประวัติศาสตร์รัชกาลที่ 10” จากเว็บไซต์ BBC Thai ซึ่งบทความดังกล่าวมีผู้ใช้เฟซบุ๊กร่วมแชร์ไม่น้อยกว่า 2000 ครั้ง แต่มีเขาเพียงคนเดียวที่ถูกกับกุมดำเนินคดี และ 22 ธ.ค. 2559 - 10 พ.ค. 2562 คือช่วงเวลาที่เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ
หลังออกมาได้ไม่นานเขาเคยบอกว่า “พออยู่ไปนานๆ คุกมันจะกัดกิน และลดทอนตัวตนลงไปเรื่อยๆ ทำให้เรามองเห็นตัวเองเป็นเพียงนักโทษเท่านั้น” แต่เขาผ่านช่วงเวลาแบบนั้นมาได้แล้วครั้งหนึ่ง
คำปราศรัยข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังขบวนเดินทะลุฟ้า 247.5 กิโลเมตร จากโคราชเดินเท้าเข้าถึงใจกลางเมืองหลวง เป็นเวลา 1 วันก่อนที่เขาจะถูกฝากขังในคดี 112 อีกครั้ง และได้รับสิทธิประกันตัวในอีก 2-3 เดือนต่อมาซึ่งเป็นช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำ ประกอบกับการยอมรับเงื่อนไขไม่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียอีก แต่ที่สุดแล้ว ไผ่ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำอีกรอบ แม้เขาจะเปลี่ยนภาษาในการสื่อสารเป็นเรื่องคนเท่ากัน และสนับสนุนให้ยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 เพียงเท่านั้น
"ผมก็ไม่เข้าใจว่า ผมทำผิดเงื่อนไขอะไรตรงไหน หรือมันเพราะผมคือ ไผ่"
ไผ่ เติบโตมากับพ่อแม่ที่เป็นทนายสิทธิมนุษยชน ทำงานสนับสนุนด้านคดีความให้กับกลุ่มชาวบ้านที่มีกรณีพิพาทกับรัฐ หรือกำลังเผชิญหน้ากับความไม่เป็นธรรม ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเขาเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้เข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่ม 'ดาวดิน' ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะเข้าไปเรียนรู้ปัญหาการละเมิดสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทั้งเรื่องเหมืองแร่ เขื่อน และที่ดิน กลุ่มดาวดินได้ช่วยยกระดับความคิดและการมองเห็นปัญหาให้ไผ่ได้เห็นว่า ในบรรดาปัญหามากมายหลากหลายเรื่องราวของชาวบ้าน ทุกเรื่องเกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองได้ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยากที่จะแก้ ถ้าทำให้คนเห็นคนเป็นคนได้ เสียงคนเล็กคนน้อยจะถูกรับฟังในฐานะเจ้าของอำนาจ
ช่วงปลายปี 2557 ขณะที่การต่อต้านการรัฐประหารดูเหมือนจะถูกกดปราบให้ราบคาบ ไผ่และเพื่อนๆ กลุ่มดาวดินรวม 5 คน ได้เข้าไปแฝงตัวในเวทีต้อนรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหารและนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อถึงเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นกล่าวเปิดงาน พวกเขาทั้งหมดลุกขึ้นเดินไปหน้าเวทีชู 3 นิ้วและถอดเสื้อคลุมออก เสื้อของแต่ละคนสกรีนข้อความคนละคำที่เมื่อยืนเรียงกันจะกลายเป็นวลีว่า "ไม่เอารัฐประหาร" จากนั้นไม่นานการประท้วงระลอกใหม่ก็ถูกจุดขึ้น
ไผ่ กลายเป็น 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกจับเข้าคุกประมาณ 12 วัน หลังออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารช่วงกลางปี 2558 เพื่อนร่วมเรือนจำในเวลานั้นมีหลายคน หนึ่งในนั้นคือ รังสิมันต์ โรม ส.ส.พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน จากนั้นไผ่เคลื่อนไหวทางการเมืองต่อเนื่องมาจนกระทั่งถูกจับเข้าคุกไป 2 ปีกว่าด้วยมาตรา 112 ดังได้กล่าวไปแล้ว
หลังออกจากคุกเมื่อกลางปี 2562 เวลานั้นการเลือกตั้งได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไผ่เคยบอกเล่าถึงอนาคตข้างหน้าว่า มีอยู่ 3 เรื่องที่เขาวางเป้าหมายไว้ แรกสุดคือการทำกลุ่มนักกิจกรรมกลุ่มใหม่ขึ้นมา แน่นอนว่าเป้าหมายนี้สำหรับคนอย่างเขาไม่ใช่เรื่องยากอะไร เขาลาจากกลุ่มดาวดินออกไปเติบโต ด้วยความที่เป็นชอบพูดคุยกับคน ไผ่ได้เก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์คนรุ่นใหม่หลายคนที่สุดท้ายกลายมาเป็นกลุ่ม Unme of Anarcy และได้เข้ามาผนวกรวมกับเพื่อนที่เคลื่อนไหวอยู่ในกรุงเทพฯ กลายเป็นกลุ่มใหม่ที่มีผู้คนจากหลายส่วนมาร่วมงานกันในชื่อกลุ่ม 'ทะลุฟ้า'
แต่อีก 2 เป้าหมายของไผ่ในตอนนั้น เขายังทำมันไม่สำเร็จ อย่างแรกคือการสอบตั๋วทนาย อย่างที่สองคือการเรียนต่อปริญญาโท เรื่องการเรียนนั้นไผ่สอบเข้าเรียนต่อได้แล้วที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แต่เข้าเรียนไปได้เพียงแค่ 2-3 ครั้ง เส้นทางที่เขาเลือกก็ทำให้ชีวิตหันเหออกนอกห้องเรียนอีกครั้ง
เพื่อนสนิทของไผ่คนหนึ่งเคยเล่าว่า วันที่ 16 - 19 ก.ค. 2563 ไผ่โทรมาบอกให้ไปหาหน่อย เพราะเขาเข้ามากรุงเทพฯ คนเดียว จะเช่าห้องอยู่กับน้องสาว 2-3 วันเพื่อทำภารกิจ 2 อย่าง อย่างแรกคือ ติวข้อสอบกับน้องเพื่อสอบตั๋วทนาย อย่างที่สองคือ การทำข้อสอบออนไลน์ส่งสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา เพื่อการคัดเลือกเข้าเรียน
"จริงๆ แล้วที่มันให้ผมไปหา ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการขอยืมโน้ตบุ๊คทำงาน เพราะมันลืมเอามาด้วย ผมน่าจะเอาโน้ตบุ๊คไปให้ช่วงเย็นวันที่ 16 รุ่งขึ้นอีกวันมันก็เอางานที่ตอบข้อสอบส่งเข้าเรียน ป.โท มาให้อ่าน ผมยังแซวมันอยู่เลย นี่มึงทำข้อสอบหรือร่างคำปราศรัย ส่วนหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่มันเล่าว่าถ้าได้เรียนจะทำ ตอนนี้คงพูดออกสื่อไม่ได้ แต่จำได้ว่าตอนนั้นผมพูดกับมันว่า นี่มึงจะกลับเข้าไปอีกใช่ไหม"
"คืนที่ 17 อยู่ด้วยกันนานพอจะได้นั่งคุยกัน แล้วก็ชวนกันไปดูม็อบที่เยาวชนปลดแอกเป็นคนนัดชุมนุมวันที่ 18 ก.ค. แรกๆ มันก็ยังช่ังใจว่าจะไปดีไหม หนังสือยังติวไม่จบ แล้วถ้าไปจะมีคดีอะไรไหม ตอนนั้นเหมือนไผ่อยากทำงานเย็น สร้างฐานให้แน่นก่อน ผมก็บอกว่าแค่ไปดู ไปเป็นมวลชนซัก 2 ทุ่มก็กลับ ไผ่ตกลงไป แต่พอไปแล้วมีคนรู้จักเขาเยอะ ผมเลยปลีกตัวออกมาแล้วก็หาไม่กันไม่เจอ จนกระทั่งเจอมันอีกครั้งตอนเขาเรียกชื่อมันขึ้นไปปราศรัยบนเวที จำไม่ค่อยได้ว่าตอนนั้นไผ่พูดเรื่องอะไร เพราะตอนนั้นนั่งหัวเราะอยู่ เอาจนได้" เพื่อนไผ่ย้อนทบทวนอดีต
หลังกลับจากม็อบ 18 ก.ค. 2563 วันรุ่งขึ้นคือวันที่ไผ่ต้องเดินทางไปสอบตั๋วทนาย เขาเดินทางไปสอบตามที่ตั้งใจ แต่ผลคะแนนออกมาขาดไปอีก 3-4 คะแนน เมื่อไม่ผ่านในรอบทฤษฎี เขาจึงไม่มีสิทธิสอบรอบปฏิบัติ ความฝันที่เคยสัญญาไว้กับอานนท์ นำภา ทนายความของเขาก็เป็นอันล้มเหลว เพราะไผ่ฝันอยากจะสลับสถานะไปเป็นทนายความให้อานนท์บ้าง หลังจากที่เป็นลูกความมาหลายคดี
รอบล่าสุดนี้ไผ่ถูกสั่งขังในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. 2564 จุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์สาดสีแดงใส่ป้ายและอาคารสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องเมื่อวันที่ 3 ส.ค. โดยพนักงานสอบสวนเขียนคัดค้านการประกันตัวในคดีนี้ว่า ผู้ต้องหาได้ก่อเหตุในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งสิ้น 12 คดี หากได้รับการประกันตัว ผู้ต้องหาจะไปก่อเหตุซ้ำในลักษณะเช่นนี้ รวมทั้งไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานต่างๆ ด้วย ศาลพิจารณาคำร้องแล้วอนุญาตให้ฝากขังได้ ทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว
หลังจากนั้นเขาก็ยังไม่เคยได้ก้าวขาออกนอกเรือนจำอีกเลยนับถึงวันนี้ก็เป็นเวลากว่า 78 วัน ( 26 ต.ค.64) ข้อมูลเบื้องต้นที่เห็นจากข่าวทราบเพียงว่า เขาติดโควิดในเรือนจำ รักษาตัวหายแล้ว และถูกย้ายออกจากแดนกักโรคเข้าไปอยู่ที่แดนกักขังปกติ
สถานะทางคดี ปัจจุบันอัยการส่งสำนวนฟ้องต่อศาลเรียบร้อยแล้ว นั่นหมายความว่า ขณะนี้ไผ่กำลังถูกขังระหว่างพิจารณาคดี ไม่มีกำหนดปล่อยตัวจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้นหรือศาลพิจารณาให้ประกันตัวระหว่างทาง และคนที่ถูกสั่งขังในคดีนี้ก็ไม่ได้มีเพียงไผ่เพียงคนเดียว แต่ยังมีน้องในกลุ่มทะลุฟ้าที่ร่วมเคลื่อนไหวกับไผ่มาตั้งแต่ปี 2563 อีก 4 คน คือ ไดโน่ นวพล ต้นงาม, ปีก วชิรวิชญ์ ลิมป์ธนวงศ์, เปา ปวริศ แย้มยิ่ง และยาใจ ทรงพล สนธิรักษ์ นอกจากนี้ยังมีสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าอีกคนที่ถูกสั่งขังจากข้อกล่าวหาขัดขวางการจับกุมคนขับรถเครื่องขยายเสียงในม็อบ 3 ก.ย. 2564 ที่แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจัดเวทีปราศรัยที่แยกราชประสงค์ ร่วมกับกลุ่มทะลุฟ้าด้วย
อย่างไรก็ตาม การติดคุกของไผ่รอบนี้ยังมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อเขาถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัวในคดี 112 จากกรณีการปราศรัยในม็อบ 19 ก.ย. 2563 #ทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวง โดยครั้งนี้เขาไม่แม้แต่สิทธิที่จะคัดค้านการยื่นถอนประกันครั้งนี้ เพราะศาลสั่งถอนประกันโดยไม่เปิดให้มีการไต่สวน
อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 7 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัชดาเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 เพื่อขอให้ศาลขอเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราวไผ่ โดยให้เหตุผลว่า หลังได้รับการประกันตัว ไผ่ได้ร่วมทำกิจกรรมปรากฎเหตุการณ์ความวุ่นวายหลายครั้ง และอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีหลายคดี ขณะที่เงื่อนไขการประกันตัวของไผ่ในคดี 19 ก.ย.ที่ได้รับการประกันตัวออกมาจากเรือนจำเมื่อ 23 เม.ย. 2564 ศาลกำหนดไว้เพียงแค่ ห้ามมิให้จำเลยทำกิจกรรมใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียต่อพระเกียรติของสถาบันพระมหากษัตริย์และห้ามเดินทางออกนอกประเทศและต้องเดินทางมาศาลตามนัดเท่านั้น
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสิทธิได้พูดคุยกับลูกความผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เปิดเผยว่า หลังจากที่ไผ่หายจากโควิด-19 กิจวัตรประจำวันในเรือนจำของเขาคือการอ่านหนังสือ ล่าสุดเขาเพิ่งอ่านงานวิชาการของณัฐพล ใจจริง เรื่อง 'ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี' จบไปหลังจากที่อ่านค้างไว้นานในตอนที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ข้างนอก และตอนนี้กำลังเลือกหาหนังสือดีๆ ในห้องสมุดมาอ่านอีกเล่ม
นอกจากนี้กิจวัตรประจำวันของเขาอีกอย่างคือ การออกกำลังกาย เขาเล่าผ่านทนายความว่า ตอนนี้ร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก เพราะวันๆ ไม่รู้จะทำอะไรนอกจากอ่านหนังสือ ออกกำลังกาย และดูทีวีที่เปิดตามใจผู้คุม
ชีวิตในคุกไม่ใช่เรื่องยากสำหรับไผ่ เขาอยู่ได้ แต่ 'คุก' คือที่สำหรับคนที่ฝันอยากเห็นสังคมที่คนเท่ากับคนอย่างนั้นจริงๆ หรือ