ไม่พบผลการค้นหา
ไฟป่าแอมะซอนในประเทศบราซิลเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายสัปดาห์แล้ว จนเกิดกระแสรณรงค์ช่วยเหลือจากแวดวงต่างๆ ทั่วโลก แต่ชาวบราซิลจำนวนมากรวมตัวประท้วงรัฐบาลปัจจุบัน เพราะมองว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นมีต้นตอมาจาก 'ปัจจัยทางการเมือง' มากกว่าจะเป็นประเด็นทางสิ่งแวดล้อม

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประชาชนในหลายเมืองของบราซิล ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาไฟไหม้ผืนป่าแอมะซอน ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหานี้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เกิดจากการปรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ 'ฌาอีร์ โบลโซนารู' ประธานาธิบดีบราซิลคนปัจจุบัน

ผู้ชุมนุมรายหนึ่งในเมืองปอร์ตูเวลู รัฐรอนโดเนีย ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่า ระบุว่า การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีแกนนำ แต่เกิดขึ้นเพราะประชาชนจำนวนมากต้องการปกป้องสิทธิของตัวเอง และปกป้องผืนป่าแอมะซอน โดยระบุว่า ไฟไหม้ป่าเกิดขึ้นมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด นับตั้งแต่ประธานาธิบดีคนนี้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

AFP-ไฟป่าแอมะซอน-ไฟไหม้ป่า.jpg
  • ไฟป่าแอมะซอนช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019 เพิ่มขึ้น 39 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับเวลาเดียวกันเมื่อปี 2018

ก่อนหน้านี้ เว็บไซต์เดอะนิวยอร์กไทม์สของสหรัฐฯ รายงานสถิติการเกิดไฟป่าในบราซิล ซึ่งรวบรวมจากภาพถ่ายดาวเทียมของ 'สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติบราซิล' พบว่าช่วง 6 เดือนแรกของปี 2019 มีไฟป่าเกิดขึ้นทั่วบราซิลถึง 74,000 จุด เพิ่มจากสถิติไฟป่า 40,000 จุด ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 39 เปอร์เซ็นต์ แต่สิ่งที่น่ากังวลเรื่องไฟป่าแอมะซอนครั้งนี้ก็คือว่า สาเหตุของไฟไหม้ ไม่ได้เกิดจากความแห้งแล้งในพื้นที่ แต่น่าจะเกิดจากการจุดไฟเผา 

ผู้ประท้วงในบราซิลยกประเด็น "ไฟป่าเกิดจากการจุดไฟเผา" ในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง โดยให้เหตุผลว่า จุดที่เกิดกับไฟป่าเป็นเรื่องสอดคล้องกับนโยบายผ่อนผันการใช้พื้นที่ป่าเพื่อการเกษตรและการพัฒนาของประธานาธิบดีคนปัจจุบัน หลายพื้นที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ และรัฐบาลบราซิลชุดนี้ก็มีแผนที่จะพัฒนาหรือผ่อนผันการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว ผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องว่า ประชาคมโลกอาจต้องใส่ใจเรื่องต้นตอของการเกิดไฟป่าที่แท้จริงด้วย เพราะไฟป่าแอมะซอนอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนอย่างที่คิด

AFP-ชาวบราซิลประท้วงไฟป่าบราซิลเกิดจากปัจจัยทางการเมือง และแผนขยายการพัฒนาไปยังผืนป่า-ชูป้าย.jpg
  • ประชาชนชูป้ายประท้วงผู้นำบราซิล ระบุ "หยุดฆ่าสิ่งแวดล้อม"

ส่วนท่าทีของประธานาธิบดีบราซิลที่มีต่อข้อกล่าวหานี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน เพราะตั้งแต่เกิดไฟป่าแอมะซอนช่วงแรก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหาทางควบคุมไฟป่าไม่ให้ลุกลาม แต่ผู้นำบราซิลออกมาตอบโต้ว่า เอ็นจีโอเป็นผู้ที่ทำให้ประเทศเสียหาย

นอกจากนี้ นายเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ได้เรียกปัญหาไฟป่าแอมะซอนว่าเป็น 'วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม' ผู้นำบราซิลก็ระบุว่า นายมาครงมีวิธีคิดแบบ 'นักล่าอาณานิคม' เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายในของประเทศบราซิล ทั้งยังประกาศว่าบราซิลจะไม่รับเงินช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศ จี7 ซึ่งท่าทีแบบนี้ถูกมองว่าไม่ได้เป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาไฟป่าแอมะซอนเลย

ที่มา: The Atlantic/ NPR/ Ruptly

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: