สุภัตรา ภูมิประภาส นักแปล และอดีตนักข่าวที่ทำงานเกี่ยวกับพม่ามาตั้งแต่ปี 1988 โพสต์ ‘ชื่นชมนายกฯแพทองธาร’ ผ่านสื่อออนไลน์ เพจเฟซบุ๊ก Subhatra Bhumiprabhas วันนี้ (7 กันยายน 2567) โดยระบุว่า
โพสต์การเมืองค่ะ
เห็นสื่ออาวุโสและบรรดาอาจารย์นักวิชาการที่ดิฉันเคารพรักหลายคนมีความเห็นต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร แบบที่ดิฉันเห็นต่างอย่างยิ่ง โพสต์นี้จึงอยากเขียนความเห็นของตัวเองฝากไว้ค่ะ
ดิฉันบอกกับมิตรสหายใกล้ชิดแทบทุกคนว่าดิฉันชอบบุคลิก ท่วงทำนอง น้ำเสียง การพูดจาและกิริยามารยาทของแพทองธารมาก อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวจริงๆ เหมือนกับที่ดิฉันเคยโพสต์ว่าชอบบุคลิกและรสนิยมการแต่งตัวของวทันยา บุนนาค นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับนายกฯ แพทองธาร จริงๆ ดิฉันชอบความเป็นนักสู้แต่ไม่ก้าวร้าวของเธอตั้งแต่อ่านหนังสือ “คนอื่นเรียกนายกฯ แต่เราเรียก..พ่อ” เมื่อปี 2552 ทึ่งมากกับความอดทนของเธอ ทั้งๆ ที่โดนอาจารย์บางคนและเพื่อนนิสิตร่วมคณะบางกลุ่มที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ รุมแซะตั้งแต่วันแรก แต่เธอยืนยันจะอดทนเรียนให้จบที่นี่ ทั้งๆ ที่ครอบครัวเสนอทางเลือกให้ไปเรียนต่างประเทศ
ดิฉันมาเริ่มติดตามเธออีกครั้งก็เมื่อเธอกล่าวเปิดตัวเข้าสู่การเมืองอย่างเป็นทางการในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมของพรรคเพื่อไทยช่วงปลายปี 2564 จากนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ประกาศตัวเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 2566 และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยตามลำดับ
ในการลงพื้นที่พบประชาชนในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แพทองธารน่าจะเป็นนักการเมืองคนเดียวที่อุ้มท้อง 8 เดือนขึ้นไฮปาร์คหาเสียง และก็ได้เสียงจากประชาชนมา 10.9 ล้านเสียง เป็นเสียงที่ประชาชนมอบให้ ไม่ได้มาจากอำนาจพิเศษใด และในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เธอก็ไม่ได้ลอยฟ้ามาหล่นตุ้บที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร เธอได้รับเสียงโหวตจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 319 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนค่ะ ดิฉันเชื่อว่านักวิชาการ โดยเฉพาะด้านรัฐศาสตร์มีความรู้ความเข้าใจระบบรัฐสภาแบบนี้ รวมทั้งสื่ออาวุโสที่คร่ำหวอดติดตามข่าวการเมือง
ดังนั้น แม้ไม่ถูกใจนายกรัฐมนตรี ก็ต้องวิจารณ์ให้ถูกเรื่องถูกประเด็นค่ะ แทนที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวาทกรรมด้อยค่านักการเมืองที่ไม่ถูกจริตตัวเอง และควรให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องกับสังคมในเรื่องการเมืองระบบรัฐสภาค่ะ