กิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติยกเลิกการประมูลโครงการรถฯ เนื่องจากมองว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทำให้ทุกคนอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ที่สำคัญจะทำให้โครงการเดินต่อไปไม่สะดุด และเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ โดยในส่วนของรายละเอียดต่างๆ รฟม. จะเป็นผู้กำหนดอีกครั้ง
โดยในการประมูลใหม่ที่เกิดขึ้น คาดว่าจะใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอเอกชน 30:70 โดยคิดจากคะแนนเทคนิค 30 คะแนน และราคา 70 คะแนน อย่างไรก็ตามการล้มประมูลถือว่าสามารถทำได้ เพราะ รฟม.ได้แจ้งสงวนสิทธิที่จะยกเลิกการประมูลไว้ในเอกสารหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal Document : RFP) เป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไว้อยู่แล้ว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เงินลงทุนกว่า 1.2 แสนล้านบาท เปิดยื่นซองเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 กลุ่ม ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีอีเอ็ม และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยทั้ง 2 กลุ่ม ยื่นข้อเสนอ 4 ซอง ได้แก่ คุณสมบัติ เทคนิค การเงินและข้อเสนออื่นๆเพิ่มเติม
ก่อนหน้านี้ในขั้นตอนขายซองประมูลโครงการฯ รฟม.ได้ใช้เกณฑ์การคัดเลือกเอกชนที่ผ่านซองเทคนิคก่อนไปเปิดซองราคา หรือผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ แต่ได้เปลี่ยนภายหลังโดยให้นำคะแนนเทคนิค 30 คะแนน มารวมกับคะแนนราคา 70 คะแนน แทน ประเด็นดังกล่าวบีทีเอส ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวไปเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ทำให้ รฟม.ต้องกลับไปใช้หลักเกณฑ์การประมูลเดิมที่ใช้เกณฑ์การตัดสินคะแนนทางการเงิน 100 คะแนน แต่ รฟม.ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดอยู่ระหว่างพิจารณาวินิจฉัยคำอุทธรณ์อยู่ รฟม.จะรับไปดำเนินการถอนฟ้องดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเท่ากับว่าหากมีเปิดประมูลใหม่ โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกมาตั้งแต่ต้น เช่นนำคะแนนเทคนิคมารวมกับคะแนนราคา ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขระหว่างการประมูลภายหลัง เท่ากับเอกชนที่จะเข้าร่วมประมูลจึงถือว่ารับข้อตกลงจาก รฟม.ไปโดยปริยาย แม้จะใช้เกณฑ์คัดเลือกโดยนำคะแนนเทคนิครวมกับคะแนนราคา