หากเอ่ยชื่อ โอฮาระ หลายคนอาจไม่คุ้นหูมากเท่าป่าไผ่ 'อาราชิยามะ' เนื่องจากมันเป็นหมู่บ้านชนบทที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาห่างออกไปทางตอนเหนือของเกียวโต เราสามารถนั่งรถเมล์สาย 17 จากย่่านกลางเมืองอย่าง 'ซานโจ' มายัง 'โอฮาระ' โดยใช้เวลาประมาณ 50 นาที
โอฮาระในช่วงปลายฤดูร้อน บรรยากาศสองข้างทางจะเต็มไปด้วยความเขียวขจีของรวงข้าวในนาและผักที่เกษตรกรปลูกเรียงราย 2 ข้างทาง ขณะที่ฤดูใบไม้ร่วง ต้นไม้ในโอฮาระจะเปลี่ยนสีกลายเป็นสีแดงเพลิงทั้งภูเขาให้เราได้ชมกัน
นอกจากแปลงผักและนาข้าวที่เรียงรายกันสองข้างทาง โอฮาระยังมีวัดที่เก่าแก่ของศาสนาพุทธนิกายมหายานอย่างวัน ซานเซนอิน (Sanzenin)ที่สร้างตั้งแต่ในช่วงปลายศตวรรษที่ 8 ซ่อนตัวอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ด้วย
(แลนด์มาร์กที่สำคัญของวัดซานเซนอิน / ภาพจาก Unsplash)
และเมื่อเดินตามถนนในหมู่บ้านเราจะเห็นร้านค้าของชาวบ้านที่นำสินค้างานฝีมือมาวางขายตลอดทาง และนอกจากสถานที่ท่องเที่ยวแล้ว โอฮาระยังมีร้านอาหารสำหรับสายสุขภาพอย่างร้าน 'Wappado' ที่วัตถุดิบหลักของร้านทั้งหมดมาจากไร่ของ คุณซาโตชิ โฮโซเอะ ผู้เป็นเจ้าของร้านและเชฟประจำร้านด้วย
(พิซซ่าหน้าพริกหวาน หนึ่งในเมนูของร้าน Wappado)
เมนูที่ซาโตชิซังนำเสนอและปรุงให้เรารับประทาน วัตถุดิบหลักประกอบไปด้วยปลาอิวานะ ไก่บ้าน และผักที่เก็บสดๆจากไร่
ซาโตชิซังบอกว่า ปลาอิวานะเป็นปลาท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในน้ำสะอาดเท่านั้น ขณะที่ไก่บ้านก็เป็นไก่ที่เลี้ยงในระบบเปิดเช่นกัน
(ปลาอิวานะย่างกับไก่บ้านหมักซอสสูตรพิเศษของทางร้าน)
(ซุปปลาอิวานะกับใบแครอท)
สำหรับเมนูอาหารของร้านนี้จะมีให้เลือก 2 คอร์สซึ่งประกอบด้วยอาหาร 5 - 7 จานสนนราคาคอร์สละ 2,500 เยน หรือประมาณ 700 บาท และอาหารของร้านนี้ก็จะเปลี่ยนไปตามฤดูกาลต่างๆ ขึ้นอยู่กับพืชผักในช่วงเวลานั้นๆ
(ข้าวปั้นไส้บ๊วยในน้ำซุปมิโซะ)
โอฮาระเป็นหมู่บ้านที่ประชาชนส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทุกวันจะมีรถบรรทุกของชาวบ้านออกมาขายผักและดอกไม้ในตัวเมืองเกียวโต และยังมีวางจำหน่ายในร้านค้าชุมชนที่มีระบบเหมือนสหกรณ์ชุมชนอีกด้วย
(คุณโอซาเอะ ซาโตชิ ผู้เป็นเกษตรกรในโอฮาระและเจ้าของร้าน Wappado)
ซาโตชิซังบอกกับเราว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ในโอฮาระทำเกษตรวิถีอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีในการทำเกษตร และปัญหาเดียวของการทำเกษตรที่นี้คือ กวาง และหมูป่า ที่มักจะลงมาจากภูเขาในตอนกลางคืนเพื่อหาอาหารกิน ซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรเสียหายเป็นจำนวนมาก เกษตรกรหลายคนจึงต้องลงทุนล้อมรั้วไฟฟ้ารอบไร่และที่นาเพื่อป้องกันพวกมันเขามาทำลายแปลงปลูกผัก
สำหรับผักที่เกษตรกรปลูกนั้นส่วนใหญ่จะถูกส่งไปขายยังเมืองเกียวโต และอีกส่วนหนึ่งก็จะวางขายในร้านค้าชุมชนที่มีระบบเหมือนสหกรณ์ชุมชน ชาวบ้านสามารถฝากขายสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูปต่างๆ ได้
หากใครไปเยือนเกียวโตแล้ว อย่าลืมแวะไปเที่ยวโอฮาระ เพื่อออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์และกินอาหารเพื่อสุขภาพในแบบฉบับคนญี่ปุ่นกันค่ะ
อ่านเพิ่มเติม: