ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล' ชงร่างกฎหมายเอาผิด เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนกฎหมาย ทวงคืนความยุติธรรมกลับมาสู่สังคม

ที่ทำการพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม และ วรภพ วิริยะโรจน์​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวพรรคก้าวไกลเตรียมเสนอร่างกฎหมายเอาผิดกับเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบือนกฎหมาย โดยวรภพ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายที่เสนอนี้จะเป็นการแก้ไขทั้งระบบตั้งแต่ ต้นน้ำ คือพนักงานสอบสวน กลางน้ำ คืออัยการ และปลายน้ำ คือตุลาการและผู้พิพากษา เพื่อทวงคืนความยุติธรรมกลับมาสู่สังคมไม่ให้ประชาชนผิดหวังไปมากกว่านี้ 

ถ้ากฎหมายยังมีช่องโหว่และการตีความยังถูกบิดเบือน ทางฝ่ายนิติบัญญัติจึงควรเข้าไปแก้ไขกฎหมายนี้เพื่อสร้างความยุติธรรม โดยจะยึดต้นแบบประมวลกฎหมายอาญาของประเทศเยอรมนี โดยหากพบว่าพนักงานสอบสวนบิดเบือนเพื่อให้คุณ-ให้โทษแก่เจ้าทุกข์ ก็ให้ถือว่ามีความผิดด้วย ต้องดำเนินการตามหลักนิติรัฐคือใช้กฎหมาย เพื่อประชาชนไม่ใช่เพื่อคำสั่งนาย


ความไม่เป็นธรรมที่ถูกบิดเบือน

ด้าน รังสิมันต์ ได้กล่าวแสดงความยินดีกับกลุ่มแกนนำคณะราษฎรที่ได้รับการประกันตัว พร้อมตั้งคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมกำลังเกิดอะไรขึ้น การได้รับการประกันตัวเป็นสิ่งที่น่ายินดีแต่ภายใต้การประกันตัวดังกล่าวมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างไร และความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นจะเป็นที่มาที่ไป และมีความจำเป็นในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ด้วยการเพิ่มฐานความผิดในการบิดเบือนข้อกฎหมายของเจ้าพนักงาน ถือเป็นฐานความผิดใหม่ ไม่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายของไทย พนักงานสอบสวนซึ่งตรงนี้จะครอบคลุมพนักงานสอบสวน อัยการ ผู้พิพากษา ตุลาการ และผู้ว่าคดี 

รังสิมันต์ ระบุเพิ่มเติมว่า ต้องยอมรับว่าเมื่อเวลาผ่านไป มีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่กระทำการให้เป็นไปตามกฎหมาย และมีการบิดเบือนในหลายกรณี มีอคติบังตามีความเป็นมนุษย์จึงมีความรู้สึกส่วนตัว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและกระบวนการยุติธรรม คดีไม่กี่คดีอาจทำให้ประชาชนสิ้นศรัทธา ประกอบกับกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่พ้นความเป็นส.สและรัฐมนตรี แม้ศาลจะรับข้อเท็จจริงกลายๆว่า ร.อ.ธรรมนัสเคยถูกพิพากษาโดยศาลออสเตรเลีย แต่ศาลไทยอ้างอำนาจอธิปไตยของประเทศ ทั้งที่ในระบบกฎหมายไทยก็ยอมรับการเกี่ยวข้องกับศาลต่างประเทศอยู่โดยเฉพาะกฎหมายยาเสพติด


ปิดช่องโหว่การตีความแบบผิดๆ

ทั้งนี้ กฎหมายไทยยอมรับกฎหมายต่างประเทศซึ่งไม่ได้กระทบกับอำนาจอธิปไตย ข้อเท็จจริงคือร.อ.ธรรมนัสเคยค้ายาเสพติดและไม่มีความเหมาะสมเป็นรัฐมนตรี อีกทั้งทำให้เกิดความรู้สึก บิดเบือนกฎหมาย เช่น เมื่อปี 2556 มีนักการเมืองท้องถิ่นคนหนึ่งพูดพาดพิงสมัยรัชกาลที่ 4 จนมีคนไปร้องว่าผิดมาตรา 112 และศาลได้ลงโทษ ให้มีความผิดจนกลายเป็นจุดด่างพร้อย ทั้งที่จุดประสงค์คือคุ้มครองตำแหน่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในปัจจุบันไม่รวมถึงอดีตกษัตริย์ การปล่อยให้ศาลตีความเช่นนี้ ประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์หรือพูดถึงอะไรได้เลย 

เนื่องจากการตีความมาตรา 112 ของศาลไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายแล้ว สะท้อนว่านี่คือตัวอย่างของการบิดเบือนกฎหมายใช่หรือไม่ นอกจากนี้ล่าสุดจะเห็นได้จากการชุมนุมทางการเมืองที่ได้เรียกร้อง เรื่องการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งคนถูกดำเนินคดีให้ความร่วมมือ และไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่พบว่า ในทางปฏิบัติกรณีศาลไม่ให้ประกันตัวหรือต้องยื่นกว่า 10 ครั้ง จึงจะได้ประกันตัว และศาลยังสร้างเงื่อนไขว่าจะต้องไม่พูดวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน และไม่เข้าร่วมการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน เท่ากับว่าศาลตัดสินว่าคนเหล่านี้ผิดไปแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้มีการตัดสินคดีความ


ปฏิรูปเพื่อความหวังประชาชน

รังสิมันต์ กล่าวว่า ดังนั้นการที่ศาลมีดุลพินิจใช้อำนาจเช่นนี้ ถามว่าใช้ฐานอะไรในการดำเนินคดีกับประชาชน หากปล่อยให้เป็นแบบนี้มีหวังไม่มีประชาชนในประเทศนี้ได้รับความยุติธรรมอีกแล้ว จึงเป็นที่มาในการศึกษาในเรื่องกฎหมายที่จะยื่นแก้ไข อย่างไรก็ตาม ทางพรรคก้าวไกลจะทำการเสนอร่างกฎหมายสู่สภาผู้แทนราษฎรเร็วๆนี้ หลังจากมีการประชุมพรรคเพื่อล่ารายชื่อในการเสนอกฎหมายฉบับนี้เป็นก้าวย่างสำคัญในกระบวนการยุติธรรม ต้องยอมรับว่าศาลที่กำลังเป็นอยู่ปราศจากการยอมรับจากสังคม และขอให้สังคมให้การสนับสนุนกฎหมายดังกล่าว