ไม่พบผลการค้นหา
แพทย์เตือนกิน 'กระท่อม' แต่พอดีมีประโยชน์ทางยา แต่หากใช้ในปริมาณที่มากและติดต่อกันเป็นเวลานาน จะส่งผลเสียต่อสุขภาพ

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า แต่เดิมประเทศไทยจัดให้กระท่อมเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แต่ในปัจจุบันได้มีการพิจารณาผ่านรัฐสภาและมีมติปลดล็อกกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูก หรือซื้อ ขาย ใบสด ที่ไม่ได้ปรุงหรือทำเป็นอาหารได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

สำหรับ กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลางเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่ชาวบ้านใช้กันมาอย่างยาวนาน โดยใช้ใบสดหรือใบแห้งนำมาเคี้ยว สูบ หรือชงเป็นน้ำชา เพื่อให้มีแรงทำงานได้นานขึ้น รู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากอาหาร ทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการหนาวสั่นเวลาครึ้มฟ้าครึ้มฝน ในคนที่รับประทานใบกระท่อมเป็นครั้งแรก อาจจะมีอาการมึนงง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน หากใช้ในปริมาณมากอาจจะทำให้เกิดอาการเมา เกิดความผิดปกติของกล้ามเนื้อทรงตัว ระบบประสาทรับสัมผัสตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ในรายที่ใช้มากๆ หรือใช้มาเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้มีผิวสีคล้ำและเข้มขึ้น 

การรับประทานใบกระท่อมไม่ควรรับประทานเกินวันละ 5 ใบโดยรูดก้านใบออกแล้วเคี้ยวเหมือนการเคี้ยวหมาก และไม่ควรกลืนกากเพราะกากใบเป็นเส้นใยที่ย่อยยาก เมื่อรับประทานบ่อย ๆ อาจทำให้เกิด “ถุงท่อม” ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ในท้องและทำให้ปวดท้องได้ 

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในใบกระท่อมพบว่ามีสารสำคัญ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง คล้ายฝิ่น แต่มีฤทธิ์น้อยกว่าประมาณ 10 เท่า และ 7-hydroxymitragynine พบน้อยมากในใบกระท่อมสดแต่มีฤทธิ์รุนแรงกว่ากว่ามอร์ฟีน 100 เท่า เมื่อรับประทานใบกระท่อมบางรายอาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน โดยทำให้ใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ชัก ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ประสาทหลอน สับสน กระสับกระส่าย ปวดศีรษะ เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง อาจพบอาการซึมมากในผู้ที่รับประทานใบกระท่อมปริมาณมาก (มากกว่า 15 กรัมของใบกระท่อม หรือประมาณใบ 10 ใบ) เมื่อหยุดใช้ใบกระท่อมจะทำให้เกิดอาการอยากรุนแรง (Craving) และมีอาการถอน เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ นอนไม่หลับ หงุดหงิด อ่อนเพลีย ท้องเสีย น้ำมูกไหล แขนขากระตุก ถึงแม้ว่าในปัจจุบันกระท่อมจะไม่ใช่ยาเสพติด และมีการออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ทางยา แต่หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปและติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้เช่นกัน 

ทั้งนี้ยังมีข้อควรระมัดระวังทางกฎหมายที่ควรคำนึงถึง โดยเฉพาะการนำไปใช้ผสมกับสิ่งเสพติดอื่น เช่น “สี่คูณร้อย” การขายน้ำต้มกระท่อมในหอพัก สถานศึกษา รวมถึงจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมแก่สตรีมีครรภ์และผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีความผิดตามกฎหมาย นอกจากนี้น้ำต้มกระท่อม ชากระท่อม ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องขออนุญาตผลิตตามพรบ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562