อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญทั่วโลก ล้วนเป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของคนในชาติ ที่เห็นพ้องต้องกันว่า จะกำหนดรูปแบบการปกครองแบบใด ผ่านกฎหมายสูงสุด กำหนดการใช้อำนาจรัฐผ่านใคร แล้วใครคือผู้ใช้อำนาจนั้น กำหนดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างไร ภายใต้รัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติไว้ ในประเทศไทย หลักของประเทศกลับถูกฉีกแล้วเขียนใหม่นับครั้งไม่ถ้วน ในรอบ 88 ปี นับจากปีที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี 2475 ทั้งที่เราท่องจำกันว่ารัฐธรรมนูญ คือกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ แต่ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์กฎหมายในลำดับศักดิ์ที่ต่ำกว่า กลับมีผลบังคับเหนือรัฐธรรมนูญในหลายกรณี จนสังคมเกิดความเคลือบแคลงใจ รัฐธรรมนูญไทยกำลังถูกทำให้ถดถอย ด้อยค่าและล้าหลังลงหรือไม่ ความมั่นคงและยั่งยืนของรัฐธรรมนูญถูกทำลายด้วยการทำรัฐประหารหรือไม่
ขณะที่รัฐธรรมนูญหลายฉบับเริ่มต้นด้วยปากกระบอกปืน พรากการมีส่วนร่วมของประชาชน ขณะที่รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ปัจจุบันมีจุดเริ่มต้นมาจากคนไม่กี่คน ไม่ได้คำนึงถึงประชาชนอันเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง ในวันรัฐธรรมนูญปีนี้ หวังว่า การตั้ง ส.ส.ร.ในครั้งนี้จะสำเร็จลุล่วงและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง และจะต้องไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลังจากนี้
โฆษก ปชป.ชี้ รธน.ปี 60 ส่วนดีมีมากแนะทุกฝ่ายร่วมวงแก้ไข
ด้าน ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงวันรัฐธรรมนูญว่า“วันรัฐธรรมนูญ” คือ วันที่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ฉบับแรกของไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ชาวไทย วันที่ 10 ธ.ค.พ.ศ.2475 จึงถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางประวัติศาสตร์และการเมืองของประเทศไทย ประเทศมีรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับ แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า มีทั้งฉบับที่ดีที่มีความเป็นประชาธิปไตย และบางฉบับก็ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดี สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้ใช้ หากรัฐธรรมนูญดีผู้ใช้ไม่ดีก็ไม่มีความหมาย หากรัฐธรรมนูญไม่ดีแต่ผู้ใช้ใช้รัฐธรรมนูญด้วยจิตใจที่ดีคิดแต่ประโยชน์ของประชาชนและประเทศก็สามารถประคับประคองไปได้ บางฉบับที่ทุกคนคิดว่าเป็นฉบับที่ดีแต่สุดแต่ผู้ใช้เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยม ทุจริต บ้านเมืองก็วุ่นวาย
ราเมศ ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบันว่าไม่ถึงกับดีหรือไม่ดีทั้งหมด ส่วนที่ดีก็มีอยู่มาก ส่วนไหนไม่ดีก็ทำการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น สมบูรณ์แบบมากยิ่งต่อไป ขณะนี้การแก้ไขเพิ่มเติมอยู่ในวาระที่สองคือในชั้นคณะกรรมาธิการ เชื่อว่าหากให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมก็จะทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับมากขึ้น
ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ อยากให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมหากอยากให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยโดยเฉพาะฝ่ายที่เรียกร้องอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเมื่อมีการตั้งต้นการแก้แล้วก็ถือว่าอยู่ในระบบแล้ว หากเรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปได้ยากอาจจะไม่ได้อะไรเลยเช่นกัน