เมื่อต้องก้าวเข้าสู่อายุ 60 ปี อันนับว่าคุณเป็นบุคคลสูงวัยตามกฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพถ้วนหน้าในอัตราระหว่าง 600-1,000 บาท/เดือน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่า 'เส้นความยากจน' หรือจำนวนเงินที่น้อยที่สุดในการมีชีวิตอยู่ - ปัจจุบันอยู่ที่ 2,762.913 บาท/เดือน
ถามว่าหากไม่มีเงินเก็บเพียงพอในการดำรงชีพด้วยตนเอง คุณมีทางเลือกใดบ้าง
ก่อนจะตอบเรื่องทางเลือก ลองคิดเล่นๆ ว่า คุณจะมีชีวิตอยู่ให้ถึงสัก 80 ปี ซึ่งเป็นเวลา 240 เดือน นับจากวันที่คุณอายุ 60 ปี
หากลองกระเสือกกระสนมีชีวิตอยู่ตามเส้นความยากจน โดยคำนวณจากตัวเลขกลมๆ และยังไม่นับอัตราเงินเฟ้อ ที่ราว 3,000 บาท/เดือน แปลว่า ณ วันที่คุณอายุ 60 ปี คุณต้องมีเงินเก็บ 720,000 บาท แต่หากได้คุณอยากใช้จ่ายเดือนละ 15,000 บาท ณ วันที่รัฐมองว่าคุณ 'แก่' ตามกฎหมายแล้วนั้น เงินในบัญชีต้องแตะ 3.6 ล้านบาท
ถ้าตอบกันตามธรรมเนียมปฏิบัติที่สอบทอดมาช้านานของไทย ก็เลี่ยงไม่ได้ที่ลูกหลานต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบค่าใช้จ่ายผู้สูงอายุในครัวเรือน และผลสำรวจในปี 2559 ก็สะท้อนมาเช่นนั้น เมื่อ 35% ของผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตอบว่ารายได้หลักของพวกเขามาจากลูกหลาน
ในการสำรวจเดียวกันนี้ มากถึง 31% ระบุว่าพวกเขายังต้องมาหาเลี้ยงชีพตนเองอยู่ ขณะที่การพึ่งพิงมาตรการเบี้ยผู้สูงอายุอยู่ที่ 20% เท่านั้น นอกจากนี้แบ่งรายได้จากเงินบำนาญ, เงินจากคู่สมรส, เงินจากดอกเบี้ย การเก็บออม และค่าเช่าจากอสังหาริมทรัพย์ และรายได้อื่นๆ ในหลักหน่วยทั้งสิ้น
ถ้าไม่นับการพึ่งพิงเงินจากผู้อื่น จะพบว่าผู้สูงอายุของไทยยังต้องดิ้นรนอยู่อีกมาก รายงานจากธนาคารโลกระบุว่า 25% ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปในไทยยังคงอยู่ในตลาดแรงงาน ขณะที่สัดส่วนเพิ่มเป็น 34% กับกลุ่มประชากรที่มีอายุระหว่าง 65-74 ปี และแม้แต่ผู้คนที่อายุมากกว่า 74 ปีขึ้นไป ก็ยังมีอีกถึง 8% ที่ไม่อาจหยุดทำงานได้
เมื่อมองให้ลึกลงไปในเชิงภูมิศาสตร์ จะพบว่าประชากรสูงวัยในพื้นที่ห่างไกลมีระดับการคงอยู่ในตลาดแรงงานสูงกว่าประชากรสูงวัยในเมือง
สถิติจากปี 2562 พบว่า 40% ของเพศชายอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป และอีก 20% ของเพศหญิงในอายุเดียวกันซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังคงต้องทำงานอยู่ ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวลดลงมาเหลือเพียง 27% และ 16% สำหรับเพศชายและหญิง อายุมากกว่า 65 ปี ที่อาศัยอยู่ในตัวเมือง ตามลำดับ
สังคมพูดกันมามากแล้วว่าไทยเป็นประเทศสูงวัย ที่มีสัดส่วนแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ เพราะคนเกิดน้อยแต่คนแก่เยอะ หลายฝ่ายยังแนะว่าหนึ่งในทางแก้ปัญหาคือเพิ่มศักยภาพให้ผู้สูงอายุ สามารถทำงานที่เหมาะสมต่อได้ แต่ปัญหาคือระบบนิเวศน์ของไทยไม่เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ
อาจพูดไม่ได้ว่าชีวิตมนุษย์เกินมาเพื่อทำงานหาเงินเลี้ยงตัวเอง (แต่ก็เถียงไม่ได้เช่นเดียวกัน) แม้ผู้สูงวัยเหล่านี้จะกระเสือกกระสนทำงานต่อไปแม้ถึงวัยเกษียณแต่ผลตอบแทนของพวกเขากลับน้อยลงเรื่อยๆ
ตัวเลขจากธนาคารโลกพบว่า ตามค่าเฉลี่ยของไทยนั้น ประชากรเพศหญิงจะมีรายได้เฉลี่ยสูงที่สุด (พีค) ในวัย 36 ปี ด้วยเม็ดเงินราว 17,200 บาท/เดือน ขณะที่เพศชายอยู่ที่วัย 41 ปี ด้วยเม็ดเงินราว 16,700 บาท/เดือน
ทว่าเมื่อพวกเขาอายุเลย 65 ปีไปแล้วนั้น เพศชายจะทำเงินได้เพียง 62% ของรายได้ ณ จุดพีค ขณะที่เพศหญิงจะมีรายได้เหลือแค่เพียง 50% เท่านั้น
มากไปกว่านั้น รายได้ระหว่างผู้มีการศึกษาสูงและต่ำยังต่างกันอย่างชัดเจน เช่น เพศหญิงที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยมีรายได้มากกว่าเพศหญิงที่จบระดับมัธยมศึกษาถึง 2.5 เท่า
เท่านั้นยังไม่พอ รายงานยังพบว่าอาชีพการงานที่ผู้สูงวัยทำส่วนมากจะเป็นงานนอกระบบซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐบาลอย่างสวัสดิการประกันสังคม ทำให้เกิดความไม่แน่นอนในรายได้และชีวิต
ต่อเนื่องมาจากความเปราะบางของผู้สูงอายุในตลาดแรงงาน ประเด็นถัดมาคือตลาดแรงงานของไทยเองก็อ่อนแอเช่นเดียวกัน
แม้ระดับการว่างงานในประเทศจะลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เข้าปี 2540 เป็นต้นมา แต่ระดับอัตราการเติบโตของการจ้างงานไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งนับตั้งแต่ปี 2556 - 2562 สัดส่วนดังกล่าวติดลบมาทุกปี เว้นแค่เพียงปี 2561 เท่านั้น
นอกจากนี้ แม้จะมีการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมที่เน้นเกษตรกรรมมาสู่ภาคบริการ แต่ก็ยังต้องนับว่าตัวเลขแรงงานในภาคเกษตรกรรมของไทยยังเยอะอยู่มาก
ขณะที่สัดส่วนของไทยสูงถึง 33% ในปี 2562 ตัวเลขเกษตรกรของประเทศในภูมิภาคเดียวกันอย่างฟิลิปปินส์และมาเลเซียอยู่ที่ 23% และ 10% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศอย่างเกาหลีใต้มีตัวเลขเกษตรกรเพียง 5% เท่านั้น
เมื่อกล่าวโดยสรุปนั้น แม้รายงานฉบับนี้ของธนาคารโลกจะเน้นไปที่ประชากรผู้สูงอายุในตลาดแรงงานเป็นหลัก แต่ก็ได้ข้อสังเกตที่ครอบคลุมทุกกลุ่มวัยเมื่อ ผู้เขียนชี้ว่า "ประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในทุกช่วงอายุต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกทั้งหมด" ส่วนสาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะประเทศไทยมีความมั่งคั่งต่ำกว่าชาติอื่น