ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ ชี้ส่งออกไทยรอพุ่งหลังโควิด-19 สินค้าเกษตรอาหาร-ข้าวจะกลับมาเป็นดาวเด่นอีกครั้ง ขณะ"อาหารสำเร็จรูป-อุปกรณ์คอมพิวเตอร์- สินค้าไอที" อุปสงค์พุ่งในตลาดต่างประเทศ พร้อมประสานหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาขนส่งระหว่างประเทศ

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการส่งออกของไทยเดือนเม.ย.2563 ที่มีมูลค่า 18,948 ล้านเหรียญสหรัฐ และขยายตัวร้อยละ 2.12 แม้จะยังอยู่ในช่วงแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามน้ำมัน ว่าหากเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในโลก ถือว่าการส่งออกไทยสามารถพยุงตัวได้เป็นอย่างดี โดยสินค้าเกษตรอาหารและข้าวกลับมาเป็นดาวเด่นอีกครั้ง เพราะขยายตัวร้อยละ 4 และ 23.1 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม หากหักทองคำออกก็จะมีสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ไปได้ดี โดยขณะนี้มีคำสั่งซื้อสินค้าไทยหลายประเภทรออยู่ที่ต่างประเทศ แต่ติดปัญหาด้านการขนส่งระหว่างประเทศ ที่หากแก้ไขได้ก็จะช่วยผลักดันให้การส่งออกไทยในช่วงต่อ ๆ ไปดีขึ้น

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวถึงปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์ระหว่างประเทศว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาด้านต่าง ๆ มาเป็นระยะ นับแต่มีการล็อกดาวน์และปิดพรมแดนประเทศต่าง ๆ รวมทั้งไทย โดยปัญหาด้านการขนส่งทางบก ซึ่งเป็นจุดสำคัญในการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ผลไม้ ทุกภาคส่วนได้หารือกับประเทศเพื่อนบ้านและจัดทำพิธีสารในการเปิดด่านให้สินค้าจากไทยผ่านลาวและเวียดนามไปยังจีนเพิ่มขึ้น โดยด่านทางบกที่เปิดเพิ่มมี 2 ด่าน คือ ด่านตงซิง เมืองฝางเฉิงก่าง และด่านรถไฟผิงเสียง ทั้งนี้ ด่านรถไฟผิงเสียงมีปัญหาเล็กน้อยในเรื่องเที่ยวรถน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการ และด่านโหยวอี้กวนที่ผิงเสียงติดกับเวียดนามเริ่มลดความแออัดลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม การขนส่งทางบกไปจีนยังมีปัญหาอื่นที่ต้องแก้ไข ทั้งมาตรการกำกับดูแลพนักงานขับรถบรรทุกที่ประเทศต่าง ๆ อาจมีความเข้มงวดต่างกัน การเปิดปิดพรมแดนที่แต่ละประเทศอาจมีเวลาหรือมาตรการไม่เหมือนกัน และปัญหาทางปฏิบัติอื่น ทางภาคเอกชนไทยจึงได้ขอให้ภาครัฐช่วยผลักดันจีน ให้เปิดท่าเรือกวนเหล่ยในแม่น้ำโขงเพิ่มเติมอีกจุดหนึ่ง เพื่อนำเข้าผลไม้จากไทย แต่ยังมีอุปสรรคด้านความพร้อมของจุดตรวจมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและจะหารือกับจีนร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศต่อไป นอกจากการหารือ 2 ฝ่ายแล้ว ทางจังหวัดเชียงรายได้เสนอทางเลือกเพิ่มเติม คือ ใช้เส้นทางเรือผ่านลำน้ำโขง จากเชียงแสน จ.เชียงราย - ท่าเรือกวนเหล่ย ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง – แม่น้ำโขง โดยล่าสุดไทยได้มีหนังสือถึงกงสุลใหญ่ของจีนประจำเชียงใหม่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาผ่อนผันเปิดเส้นทางต่อไป

สำหรับการขนส่งทางอากาศ ที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องประเทศต่าง ๆ ระงับหรือชะลอการบินเข้าออกประเทศ ทำให้มีเที่ยวบินที่ขนส่งสินค้าลดลงอย่างมาก ส่งผลให้ราคาค่าขนส่งคาร์โก (cargo) เพิ่มขึ้น อีกทั้งนักบินยังต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการกักตัวจึงทำให้เที่ยวบินไม่สะดวกราบรื่น ซึ่งในจุดนี้ หน่วยงานราชการได้ซักซ้อมความเข้าใจระหว่างกันเรียบร้อยแล้วว่า นักบินขนส่งสินค้าสามารถบินเข้าออกได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หากมีกำหนดตารางเวลาการบินเข้าออกที่ชัดเจน มีเอกสารรับรองการตรวจสุขภาพ และพักอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น สำหรับเรื่องการขนส่งสินค้าทางเครื่องบินเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้หลายสายการบิน รวมถึงการบินไทยได้ปรับเครื่องบินโดยสารมาเป็นการขนส่งสินค้าแล้ว แต่มีเส้นทางบินค่อนข้างจำกัดไปยังเมืองที่เป็น hub หรือศูนย์กลางการขนส่ง ซึ่งการกระจายสินค้าไปยังเมืองอื่น ๆ ต่อ อาจจะต้องใช้รถยนต์ จึงทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม แต่ก็ถือว่าช่วยผ่อนคลายปัญหาไปได้บ้าง 

ผอ.สนค. กล่าวถึงปัญหาการขนส่งทางเรือ/ทะเล ว่า ปัญหาช่วงต้นเป็นเรื่องของการดูแลความปลอดเชื้อของตู้ขนส่งคอนเทนเนอร์และเรือเดินสมุทรที่ขนส่งสินค้า เพื่อไม่ให้สินค้าได้รับเชื้อ แต่ขณะนี้ปัญหาตรงนี้คลี่คลายไปมากแล้ว โดยจุดที่ยังต้องหาทางบรรเทาต่อไปคือ ประเด็นที่ปริมาณการค้าระหว่างประเทศลดลงไปอย่างมาก จากอุปสงค์ที่ลดลงในทุกประเทศจากโควิดและการล็อกดาวน์ ทำให้การขนส่งทางเรือ/ทะเลมีปริมาณลดลง ค่าระวางจึงแพงขึ้นเพราะตู้ว่าง ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งทางทะเลได้แก้ไขเบื้องต้นโดยการลดจำนวนตู้และเที่ยวเรือลง ทำให้สามารถส่งออกไปได้น้อย ซึ่งหากอุปสงค์กลับมามีมากขึ้น ก็น่าจะทำให้เที่ยวเรือและจำนวนตู้กลับมาในระดับใกล้ปกติต่อไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเอกสารและการปล่อยของล่าช้าในประเทศคู่ค้า เนื่องจากนโยบายล็อกดาวน์และให้ทำงานที่บ้านมากขึ้น ทำให้บางประเทศมีเจ้าหน้าที่ดูแลด่านต่าง ๆ ลดลง จึงใช้เวลามากขึ้นในการเคลียร์สินค้า รวมทั้งการรับส่งเอกสารทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าระหว่างประเทศ ก็พบปัญหาความล่าช้าเช่นเดียวกัน 

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า สินค้าไทยยังมีอุปสงค์อยู่มากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่ตอบรับโจทย์ new normal ที่การใช้ชีวิตและการทำงานของคนจะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19 เช่น อาหารสำเร็จรูปจะขายดียิ่งขึ้น อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สินค้าไอที และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องต่าง ๆ จะมารองรับการทำงานที่บ้าน ซึ่งประเทศไทยควรเร่งทำตลาดช่วงนี้ให้ลูกค้าติดใจมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นเร็ว ๆ นี้ เช่น การจัดงานชิมผลไม้ไทยในจีน ฮ่องกง และเกาหลี ที่ทูตพาณิชย์ในพื้นที่จัด พบว่าคนสนใจมาร่วมงานและสั่งซื้ออย่างมาก

นอกจากนี้ การสั่งซื้อของออนไลน์ก็เป็นอีกเทรนด์หนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำลังผลักดันทุกด้าน โดยเป็นนโยบายหลักในช่วงถัดไปของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จึงมั่นใจว่าหากปัญหาด้านการขนส่งต่าง ๆ คลี่คลายก็จะมีส่วนช่วยให้การส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเร็วและมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2563