วันที่ 25 เมษายน 2567 นางสาวสกุณา สาระนันท์ สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย กล่าวบรรยายในหัวข้อ ‘Handicrafts in the Hands of Future Generations จะต้องพัฒนาศิลปหัตถกรรมอย่างไร ไทยจึงจะกลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ยั่งยืน’ ในงาน ‘USE LOOP REPEAT ชวนร่วมสร้างเทรนด์แฟชั่นรักษ์โลก สู่สังคมสีเขียว’ จัดโดย แพล็ตฟอร์ม Loopers ร่วมกับ Open House บริเวณชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เอมบาสซี ว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากประสบการณ์การทำงานผ้าครามของตนในระยะเวลากว่า 10 ปี เบื้องหลังภูมิปัญญาคือความเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งกุญแจสำคัญ ที่จะไขประตูสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นั่นคือการทำความเข้าใจภูมิปัญญา ในมุมของวิทยาศาสตร์ เพื่อค้นหาเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาเติม ให้งานมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพ และผสานวัฒนธรรมให้กลมกลืน
สส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ชี้ว่าการปลูกครามและการทำผ้าย้อมครามจากภูมิปัญญาชาวบ้านของจังหวัดสกลนครผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้คือตัวอย่างสำหรับการยกระดับหัตถกรรมไทยไปสู่การแข่งขันด้านสินค้าสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์คราม การตรวจสอบสภาพดินที่เหมาะสมทำให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้น กระบวนการเก็บเกี่ยวที่คำนึงถึงกระบวนการชีวเคมีทำให้ได้เม็ดสีที่มากขึ้น การศึกษาจุลินทรีย์ในหม้อย้อมทำให้ประหยัดเวลาในกระบวนการทำสี การพัฒนาเครื่องทอทำให้สามารถสร้างสรรค์ผ้าย้อมครามได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการเสริมคุณสมบัติกันยุง กันน้ำ เติมแคปซูลกลิ่นผ่านกระบวนการผลิต ซึ่งการผสานภูมิปัญญาเข้ากับนวัตกรรมและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ทำให้ชาวบ้านสามารถผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานคุณภาพที่สูงขึ้น แต่ต้นทุนต่ำลง ชาวบ้านจึงมีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดมากขึ้น
“หากสามารถพัฒนางานศิลปหัตกรรมไทยในทุกจังหวัด โดยยึดหลักคิดเพื่อความยั่งยืน ซึ่งสามารถสร้างคุณค่าให้กับสินค้าหัตกรรมได้ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ Funtional value คุณค่าประโยชน์การใช้สอย Emotional value คุณค่าด้านจิตใจ ความพึงพอใจในความสวยงาม การได้ช่วยเหลือชุมชน หรือได้ใช้สินค้าที่อนุรักษ์ธรรมชาติ และ Spiritual value คุณค่าทางจิตวิญญาณ ก็จะสามารถผลักดันสินค้าหัตถกรรมไทยให้เติบโตได้โดยยึดหลักความยั่งยืนเช่นเดียวกันกับครามสกล” นางสาวสกุณากล่าว
สส.สกลนคร กล่าวอีกว่า ตนเป็น สส. จังหวัดสกลนครซึ่งเป็นจังหวัดที่โดดเด้นด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชผัก สัตว์ แมลง เห็ด หรือจุลินทรีย์ ซึ่งถือเป็นสมบัติล้ำค่าของชาวสกลนคร ที่ได้ใช้ประโยชน์จากการดึงศักยภาพของพื้นที่มาใช้เพื่อเป็นแหล่งสร้างรายได้ โดยการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประกอบการให้ความรู้กับชาวบ้าน การพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนภายในจังหวัด เช่น การนำจุลินทรีย์จากจอมปลวกและหน่อกล้วยมาปรับเปลี่ยนดินลูกรังให้เป็นดินมีชีวิตที่สามารถเพาะปลูกพืชได้ เป็นต้น
ทั้งนี้สกุณาเชื่อมั่นว่าภารกิจการอนุรักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ภารกิจของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือภารกิจร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงฝ่ายการเมืองที่จะต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายระดับประเทศ ซึ่งพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนเพื่อความยั่งยืนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยการดึงศักยภาพของพื้นที่มาเปลี่ยนเป็นรายได้ การสร้างโอกาสให้ประชาชนฐานรากซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติจึงเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อประชาชนกลุ่มดังกล่าวสามารถสร้างรายได้จากการพึ่งพาธรรมชาติ ก็จะมีกำลังในการเฝ้ารักษาและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างรู้ค่า ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนในท้ายที่สุด