การเลี้ยงลูกด้วยความคาดหวังแบบเดิมๆ อาจไม่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันอีกต่อไป เมื่ออินเทอร์เน็ตทำให้เด็กๆ พบว่าพวกเขามีทางเลือกมากมาย จึงเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะกำหนดให้ลูกๆ เป็นอะไร เพราะเด็กคงไม่ทำตามความฝันของพ่อแม่ง่ายๆ
นายแพทย์ ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ นักจิตวิทยาผู้เปิด ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ ในจังหวัดเชียงราย มองว่า การตั้งความหวังเกิดจากปัญหา 2 ข้อคือ พ่อแม่ไม่วางใจการเลือกอนาคตของลูก และไม่มั่นใจว่าลูกจะสามารถไปถึงอนาคตนั้นได้หรือเปล่า
วันเด็กจะเป็นของเด็กสักมากน้อยเพียงไร เมื่อเด็กยังเป็นของผู้ใหญ่ และไม่มีสิทธิเลือกทางของตัวเอง ทั้งด้วยกรอบของพ่อแม่ และค่านิยมในสังคม บีบให้เด็กต้องแข่งขันกันตั้งแต่ก่อนวัยเรียน เพื่อกลายเป็นผู้ชนะ มากกว่าเป็นเด็กธรรมดาที่มีความสุข และความภาคภูมิใจที่ได้เลือกใช้ชีวิตตามความตั้งใจของตัวเอง
ทั้งที่ในวัยเด็กของพวกเขา พ่อแม่ทุกคนหวังเพียงให้ลูกเติบโตมาแข็งแรงมีความสุข แต่เมื่อเด็กโตขึ้น ความคาดหวังกลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าที่จะหวังให้เขาเป็นเพียงเด็กธรรมดาที่มีความสุข ความคาดหวังต่อเด็กที่มากเกินไป และการเปรียบเทียบลูกของตัวเองกับคนอื่นมากเกินไปคือ 2 เรื่องที่นายแพทย์ประเสริฐมองว่า ‘เป็นปัญหาในสังคมไทย’
“ความคาดหวังแล้วก็การเปรียบเทียบจะกดดันเด็กไทยเยอะ ทำให้เด็กไทยมีความทุกข์โดยไม่จำเป็น แล้วก็ขัดขวางพัฒนาการด้วย แทนที่เด็กจะได้พัฒนาการอย่างมีเสรีภาพได้เติบโตตามศักยภาพแล้วก็จังหวะก้าวของตัวเอง แต่ว่าถูกความคาดหวังที่สูง แล้วก็การชอบเปรียบเทียบกันและกันอยู่เรื่อยๆ คอยขัดขวางพัฒนาการ”
ทั้งนี้ เด็กธรรมดาในความหมายของนายแพทย์ประเสริฐมีคุณสมบัติอยู่ 3 ข้อเท่านั้นคือ ช่วยเหลือตนเองได้ เอาตัวรอดได้ และมีอนาคตใช้ได้
สำหรับการช่วยเหลือตัวเองได้มีอยู่ 4 ระดับ เริ่มจากตัวเองแล้วจึงขยายออกไปสู่สังคม
ขั้นที่หนึ่งคือ ดูแลร่างกายตัวเองได้ สามารถแปรงฟัน อาบน้ำได้ด้วยตัวเอง
ขั้นที่สองคือ การดูแลพื้นที่รอบร่างกายตัวเอง เช่น เก็บของเล่นเป็น เก็บที่นอนเป็น ทำความสะอาดบ้านในบริเวณที่ตัวเองทำรกได้
ขั้นที่สามคือ พื้นที่ที่ขยายออกไป ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านได้ หากโตขึ้นก็ทำความสะอาดหอพักตัวเองได้
ขั้นที่สี่คือ พื้นที่สาธารณะ รู้จักอยู่ในกติกาสังคม ไม่งอแงในร้านอาหาร ไม่วิ่งเล่นในที่ๆ ห้ามวิ่งเล่น ไม่ส่งเสียงดัง ไม่ขับรถตัดเลน ไม่ทิ้งขยะบนถนน
นิยามสั้นๆ ของการเอาตัวรอดได้ คือการเข้าหาอบายมุขยาก ออกง่าย เนื่องจากในโลกสมัยใหม่เด็กมีตัวเลือกมาก และเลี่ยงยาก การเอาตัวรอดได้มีความหมายเพียงแค่ว่า เข้าอบายมุขยาก ออกง่าย หรือลุ่มหลงอะไรชั่วครั้งชั่วคราว ถอนตัวได้ หากพรุ่งนี้มีสอบก็รู้ตัวว่าควรสนุกได้ถึงกี่โมง
ส่วนการมีอนาคตใช้ได้หมายถึง การมีทักษะชีวิตดี และมีความสามารถของสมองส่วนหน้าที่ดี สามารถจะมองเห็นอนาคตของตัวเอง กำหนดเป้าหมาย วางแผน ตัดสินใจ ลงมือทำได้ ล้มได้ แพ้ได้ เหนื่อยได้ ท้อใจได้ แล้วลุกขึ้นใหม่ ประเมิน ปรับแผน เปลี่ยนวิธีการ และก้าวต่อไปได้ โดยเด็กเป็นผู้เลือกด้วยตัวเอง
“สมัยนี้เป็นยุคไอที เราควรยอมรับได้แล้วว่า เราไม่สามารถใช้ความหวังดีอย่างเดียวครอบงำเด็กๆ ได้ เด็กๆ เห็นตัวเลือกเป็นแสนอยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วเด็กทุกคนก็มีสมอง มีสติปัญญา มีความเป็นตัวของตัวเอง เขาอยากเลือกเส้นทางเดินของเขาเอง ดังนั้น วิธีคิดของพ่อแม่ก็ควรเปลี่ยน การใช้ความคาดหวัง หรือการครอบงำ กำหนดให้เขาต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้อย่างเดียว แล้วถ้าเด็กทำไม่สำเร็จก็จะไม่มีทางไป
“ในทางตรงกันข้าม ถ้าส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาทักษะชีวิต มีความสามารถจะไปในอนาคตด้วยตัวเอง ไปในทิศทางที่ตัวเองกำหนด มีความสามารถปรับปรุง และแก้ไขตัวเอง สามารถเรียนรู้ ใฝ่รู้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่นมากจนเกินไป เช่นนี้เด็กจะมีศักยภาพเติบโตได้ดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้จุดเริ่มต้นของคนแต่ละคนไม่เท่ากัน หากการใช้ชีวิตประจำวันเป็นเรื่องยาก การที่เด็กจะมีทักษะชีวิต และค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรคงไม่ใช่เรื่องง่าย
บวกกับภายใต้ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ เด็กที่ไม่ถนัดด้านวิชาการอาจถูกทำให้กลายเป็นผู้แพ้ เมื่อไม่มีสนามอื่นให้ได้พัฒนา และแสดงศักยภาพที่อยู่นอกเหนือเกณฑ์การประเมินของโรงเรียน
นายแพทย์ประเสริฐกล่าวว่า การศึกษาทุกวันนี้มีเด็กเรียนไม่เก่งมากกว่าเด็กเรียนเก่ง และเด็กที่เรียนไม่เก่งจะไม่มีวันเรียนเก่ง เพราะความรู้หลายๆ อย่างไม่ได้อยู่ในโรงเรียน แต่อยู่ที่สถาบันกวดวิชา จึงยากที่จะเป็นผู้ชนะในระบบการศึกษาหากค่ากวดวิชาไม่มากพอ
“คนแพ้มีมากกว่าคนชนะแน่นอน คนแพ้ทั้งหมดถูกทำลายสิ่งที่เรียกว่า เซลฟ์เอสตีม (Self- Esteem) ความรัก ความภูมิใจ ความมั่นใจในตัวเอง นิยามที่ดีกว่าคือ ความสามารถที่จะลิขิตชีวิตของตัวเอง เด็กไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กที่เรียนไม่เก่ง ไม่มีความสามารถจะลิขิตชีวิตตัวเอง เขารู้อยู่ว่าพ่อแม่มีเงินเท่านี้ จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่ากวดวิชาคอร์สละ 5,000”
โครงการไฟ-ฟ้า คือหนึ่งความพยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส ปิติ ตัณฑเกษม ประธานบริหาร ทีเอ็มบี เผยว่า ศูนย์ไฟ-ฟ้า มีเป้าหมายให้เด็กในชุมชนที่ขาดโอกาสสามารถค้นพบศักยภาพของตัวเองได้ผ่านการเรียนรู้ทักษะต่างๆ เช่น เทควันโด คอมพิวเตอร์กราฟิก การเต้น การเล่นกีตาร์ หรือการทำอาหาร รวมถึงทักษะอื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ซัน-อภิวัฒน์ เอื้อบัณฑิต อายุ 19 ปี เรียนศูนย์ไฟ-ฟ้าประชาอุทิศตั้งแต่มัธยม โดยเลือกเรียนเทควันโดกับกีตาร์ เพราะชอบกีตาร์ที่เป็นเสียงดนตรีที่ให้ความสุขกับคนอื่น และเทควันโดก็มีความท้าทาย มีเสน่ห์ ซันเล่าว่าไม่เบื่อกับการเดินทางมาที่ศูนย์เกือบทุกวัน เพราะเมื่อมาเรียนสิ่งที่อยากเรียนแล้วรู้สึกเหมือนมีไฟในการใช้ชีวิตต่อ
“อยากให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มีอิสระในการเลือกสิ่งที่ต้องการจะเรียนมากยิ่งขึ้น เพราะผมเชื่อว่าการที่เยาวชนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองชอบ จะสามารถนำสิ่งที่ตัวเองชอบมาคืนสู่ชุมชนได้”
สำหรับบางคนการได้ทดลองเรียนทำให้พบว่า อะไรคือสิ่งที่ชอบ และเหมาะกับตัวเองจริงๆ จูเนียร์-ณัฐวรรณ แซ่ปึง อายุ 15 ปี เรียนที่ศูนย์ไฟ-ฟ้า สาขาถนนจันทน์ โดยในทีแรกเธอสนใจเรียนทั้งกีตาร์และการเต้น
“ตอนแรกไปเรียนกีตาร์ก็รู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง เรียนไปแล้วเหมือนรู้สึกว่ามันไม่เข้ากับตัวเองเลยลองเรียนเต้น แล้วรู้สึกโอเค ได้โชว์ ได้อยู่กับคนอื่น ส่วนไฟ-ฟ้าให้โอกาสเยอะเลย หนูมาเรียนเต้นได้ไม่กี่เดือนหนูก็มีเวทีเข้าประกวด จนได้รู้ว่าวงการเต้นมันไม่ใช่แคบเลย มันกว้างกว่าที่คิด แล้วเราก็ได้พัฒนาตัวเองต่อไปในข้างหน้า มีความสุขมาก”
ทั้งการไม่ไว้ใจในอนาคตที่เด็กเป็นผู้เลือก จึงถูกบังคับให้เรียนสิ่งที่ไม่ชอบ และการเข้าไม่ถึงโอกาส ต่างเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก ซึ่งข้อนี้นายแพทย์ประเสริฐย้ำว่า ไม่ว่าจะเด็กเรียนเก่ง หรือเด็กจากชนชั้นกลางก็พบปัญหาไม่ต่างกัน
“เรามีหน้าที่ส่งเสริมให้เด็กพัฒนาตัวเองด้วยศักยภาพ จังหวะก้าว และทางเลือกของเขาเอง ให้เขาเป็นผู้ประเมินตัวเอง ปรับปรุงแผนชีวิตตัวเอง นั่นเป็นวิธีที่ดีสุดสำหรับสมัยใหม่ เด็กเรียนเก่งก็ตาม จากชนชั้นกลางก็ตาม ก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน ไม่อยากเป็นหมอก็ถูกบังคับให้เป็นหมอ ความสามารถจะเป็นหมอไม่มีตั้งแต่แรก เซลฟ์เอสตีมก็ไม่พอ และถ้าคนเราเมื่อไม่มีเซลฟ์เอสตีมแล้วก็ไม่ต้องพูดเรื่องอื่น
“ดังนั้น การเต้นไม่ใช่ประเด็น ร้องเพลงไม่ใช่ประเด็น เทควันโดไม่ใช่ประเด็น ประเด็นคือโครงการทำให้เด็กมีเซลฟ์เอสตีม อย่างน้อยช่วงชีวิตหนึ่งตอนเป็นวัยรุ่น เขาลิขิตชีวิตตัวเองได้ ซึ่งมีค่ามากกว่าการได้เกรด 2 ที่โรงเรียนเยอะมาก”
ปัจจุบัน โครงการไฟ-ฟ้า ก่อตั้งมาเป็นเวลา 9 ปี โดยมี 4 ศูนย์ด้วยกันคือ ไฟ-ฟ้า ประดิพัทธ์, ไฟ-ฟ้าประชาอุททิศ, ไฟ-ฟ้า จันทน์ และไฟ-ฟ้า บางกอกน้อย และล่าสุดทางทีเอ็มบีมีการเปิดตัวแคมเปญ ‘เด็กธรรมดาคือสิ่งสวยงาม’ รับวันเด็กด้วยคลิปวิดีโอสื่อสารเรื่องราวของเด็กๆ จากศูนย์ไฟ-ฟ้า พร้อมเปิดไมโครไซต์เฉพาะกิจ www.myordinarychampion.org ให้ร่วมแบ่งปัน และชื่นชมความธรรมดาที่สวยงามของเด็กๆ ใกล้ตัว ด้วยความมุ่งหวังให้สังคมไทยไม่ชื่นชมเพียงเด็กเก่ง แต่มองสิ่งที่สังคมควรสนับสนุนคือความสุข ความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เด็กอาจไม่จำเป็นต้องเป็นที่หนึ่ง ได้เหรียญทอง หรือเป็นฮีโร่ เพราะเพียงแค่ให้เด็กได้รู้จักตัวเองก็เป็นความธรรมดาที่สวยงามอยู่แล้ว