วันที่ 19 มิ.ย. ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ Wisconsin Madison สหรัฐอเมริกา บรรยายพิเศษหัวข้อ 'สมบูรณาญาสิทธิราชย์และมรดก' ในหลักสูตร วิชา ประวัติศาสตร์นอกขนบ รายวิชาย่อย สยามยุคกึ่งจักรวรรดิกึ่งอาณานิคม ซึ่งจัดโดย 'คณะก้าวหน้า'
ธงชัย ระบุว่า อุดมการณ์ราชาชาตินิยมต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์จริงจัง ซึ่งเรื่องนี้ในวงวิชาการมีการพูดบ้างแล้ว แต่ยังไม่แพร่หลายถึงข้างนอก โดยหวังว่าครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ และเป็นที่รับรู้ทั่วไป
ธงชัย กล่าวว่า ความหมายตามคำของคำว่า สมบูรณาญาสิทธิราชญ์ คือสภาวะความเป็นกษัตริย์ ที่มีอำนาจลงโทษสมบูรณ์ เป็นเจ้าชีวิต ที่มีอำนาจเหนืกฎหมายอย่างสมบูรณ์ คำนี้ปรากฏในช่วงครึ่งหลังทศวรรษ พ.ศ. 2460 แปลจากการใช้ทับศัพท์ว่าแอบโซลูตโมนากี ในเอกสารคำกราบบังคมทูลของกลุ่มเจ้านาย ร.ศ. 103 ก็มีใช้คำนี้แล้ว ความเข้าใจทั่วไปสมัยนั้นถือว่าสยามอยู่ในระบบนี้ตั้งแต่อยุธยา และคำนี้มักถูกใช้ในความหมายลบ เช่น ล้าหลัง อยุติธรรม เริ่มใช้แล้วตั้งแต่สมัย ร.5, 6, 7 กระทั่งหลัง เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ความหมายด้านลบนี้ก็ยังใช้อยู่ และก็ยังให้ความหมายว่าเป็นระบบการปกครองที่เป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หลายคน รวมทั้งคนที่เชียร์คณะราษฎรเองก็ให้ความเห็นว่ากษัตริย์ไทย ไม่มีอำนาจเด็ดขาดจริงๆ เป็นแต่ชื่อ หรือเป็นของหลอกเล่น เพราะสมัยก่อนเป็นระบบศักดินา
“ในช่วงที่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎรยังดำเนินอยู่ ฝ่ายเจ้าใช้คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในเชิงลบด้วย แต่ใช้ในเชิงว่าคณะราษฎรต่างหากที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หมายถึง Dictator หรือเผด็จการ ที่ก่อความอยุติธรรม กดขี่ข่มเหงราษฎร พร้อมกับได้แก้ตัวไว้ว่า สมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยมีมาแต่โบราณ เติบโตพัฒนามาจนลงตัว เพราะฉะนั้น ประชาชนรักกษัตริย์ เชื่อฟัง รับได้ รักระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่เป็นเพียงในนิตินัยเท่านั้น แต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของคณะราษฎรต่างหาก เป็นเผด็จการในทางพฤตินัย ทำให้ประชาชนเดือดร้อน
ต่อมาในช่วงที่มาร์กซิสม์มีอิทธิพลในสังคมไทย พ.ศ.2490-2500 จิตร ภูมิศักดิ์, อุดม สีสุวรรณ มาร์กซิสม์ไทยเหล่านี้ไม่นิยมใช้คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ใช้คำว่า ศักดินาแทน เพราะมีนัยความหมายในเชิงเศรษฐกิจในแง่การครอบครองปัจจัยการผลิต ในแง่การพูดถึงชนชั้น ไม่ใช่ระบอบปกครอง และมาร์กซิสม์ไทยก็ถือว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองของสยามมาแต่โบราณจนถึง 2475 เหมือนกัน” ธงชัย กล่าว
ธงชัย กล่าวว่า นับแต่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นต้นมา นักวิชาการเริ่มตั้งคำถามว่า ทำไมสังคมไทยไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่เดินหน้าสู่สมัยใหม่ ซึ่งถ้าการปฏิรูปสมัย ร.5 ทำให้สังคมไทยเป็นรัฐประชาชาติ เดินหน้าสู่ประเทศพัฒนาเหมือนประเทศอื่นๆ ทำไมเราไม่เป็น ทำให้เริ่มเกิดคำถามว่า หรือการปฏิรูปไม่ใช่ทำให้เกิดรัฐประชาชาติ ไม่ทำให้เจริญรุ่งเรือง และก็ย้อนไปจนศึกษาถึงว่า สยามไม่เสียเอกราชจริงเหรอ และคนที่ตั้งคำถามนี้ได้แก่ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ในงานชิ้นสำคัญเรื่องศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา ในปี พ.ศ.2522
แอนเดอร์สันเห็นว่า ที่ผ่านมานักวิชาการ ที่ค้นคว้าเกี่ยวกับเมืองไทย เราเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง ไม่อย่างนั้นทำไมเราอธิบาย 6 ตุลา 19 ไม่ได้จนกระทั่งมันเกิดขึ้น ซึ่งไม่ใช่ตนคนเดียว ที่เห็นว่าต้องตามหาความยุติธรรมให้กับ 6 ตุลา 19 ให้ได้ แอนเดอร์สันก็คิดเช่นกัน และก็แปลเป็นพลังทางวิชาการ ตั้งถามกับไทยศึกษาว่าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยอะไรผิดไปหรือเปล่า ตั้งถามกับคำว่าสยามไม่เคยเสียเอกราช การปฏิรูปสมัย ร.5 เพื่อความทันสมัยจริงเหรอ
กษัตริย์มีสายตายยาวไกลเป็นผู้สร้างความเจริญให้ทันสมัยให้กับรัฐประชาชาติไทยอย่างนั้นเหรอ เราต้องการกรอบการศึกษาอย่างใหม่เกี่ยวกับยุคสมัยดังกล่าว ซึ่งแอนเดอร์สัน เสนอว่า รัฐที่รวมศูนย์อำนาจของสยามที่เป็นผลจาการปฏิรูป ไม่ใช่รัฐประชาชาติ (Nation state) แต่ดูเหมือน Absolutist state ของยุโรป และงานของคนรุ่นต่อมาก็ได้ศึกษาต่อยอดคำถามที่ท้าทายทั้งชุดนี้ และยืนยันว่าความสงสัยของแอนเดอร์สันนั้นรับฟังได้
“ปี 2525 นักวิชาการไทยคนสำคัญ 2 คน คือ นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ สมเกียรติ วันทะนะ ใช้คำว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในความหมายแบบแอนเดอร์สัน หมายถึงว่าในรัชกาล 5-6-7 เท่านั้น ไม่รวมก่อนหน้านั้น และความหมายนี้จึงเริ่มได้รับการยอมรับ ทั้งที่ก่อนนั้น รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะรวมไปจนถึงอยุธยา ด้วยเหตุนี้ คนเหล่านี้จึงเห็นว่า การทึกทักว่าชาติไทยก่อนการปฏิรูปเป็นรัฐประชาชาติที่ยังไม่เจริญ หลังการปฏิรูปถึงเป็นรัฐประชาชาติที่เจริญทันสมัย พวกเขาไม่เห็นด้วยกับกับความคิดนี้ แต่ต่อยอดจาก แอนเดอร์สัน ที่กล่าวแต่เพียงว่า รัฐที่เป็นผลจากการปฏิรูปดูเหมือนเป็น National state คือ เป็นรัฐที่มีลักษณะเป็นชาติ แต่เขาไม่ได้บอกเป็นรัฐประชาชาติ” ธงชัย กล่าว
ธงชัย กล่าวอีกว่า รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของสยาม เรียกตัวเองว่าเป็นชาติ คือ ปฏิเสธไม่ได้ว่า คำว่าชาติในความหมายที่หมายถึงประเทศเริ่มใช้ในสังคมไทยตั้งแต่สมัย ร.5 แล้ว แต่คำถามที่ควรขบให้แตกมากกว่าคือเมื่อพูดถึงชาติ เขาหมายถึงอะไร แต่เนื่องจากสังคมไทยในเวลาต่อมา ก่อน พ.ศ.2525 ทึกทัก แปลคำว่าชาติเป็น Nation state เสมอ
เมื่อกลับไปอ่านเอกสารก็เลยจะบอกว่า ปฏิรูป ร.5 เป็น Nation state แล้ว ซึ่งยุคก่อนหน้านี้ก็เป็นแค่ Nation state ที่ไม่เจริญเท่านั้นเอง เราทึกทักว่าชาติเท่ากับรัฐประชาชาติ คนที่เชิดชูการปฏิรูปมักอธิบายทำนองนี้ว่ามีชาติแล้ว แต่ที่ต้องคิดคือชาติที่พูดกันนั้นหมายถึงอะไรกันแน่ เพราะชาติมิได้หมายถึงรัฐประชาชาติเพียงแบบเดียว สามารถมีชาติได้หลายแบบ ซึ่งแอนเดอร์สันได้อธิบายว่า รัฐสยามก่อนปฏิรูปก็ไม่ใช่รัฐชาติ แต่เป็นรัฐศักดินา ดังนั้น รัฐสยามช่วงนั้นจึงเกิดการเปลี่ยนผ่าน จากรัฐแบบศักดินาของเจ้าจักรวรรดิระดับภูมิภาคสู่รัฐสมัยใหม่ที่มีลักษณะเป็นชาติ คือเป็น National state นั่นคือสิ่งที่ต่อมาเรียกรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่คล้ายเป็น Absolutist state ในยุโรป ซึ่งในความหมายทั่วไปคือ รัฐที่ระบอบที่อำนาจรวมศูนย์ที่กษัตริย์ รัฐที่สถาปนาดินแดนแบบเป็นปึกแผ่น ไม่ใช่รัฐแบบฟิวดัล กษัตริย์เป็นผู้สถาปนากฎหมาย เป็นแหล่งที่มาของกฎหมาย จึงอยู่เหนือกฎหมาย รัฐในระยะเปลี่ยนผ่านจากรัฐฟิวดัลเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ คือ National state ไม่ใช่ Nation state ในความหมายรัฐประชาชาติ
“เพราะว่ารัฐประชาชาติ คือ รัฐที่ประชาชาชนมีความสัมพันธ์เท่าเทียมกันในแนวราบ และเห็นว่า ชุมชนที่เขาสังกัดอยู่นั้นมีความมุ่งหมาย หรือเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเดียวกัน ชุมชนนั้นจะนิยามด้วยดินแดน กฎหมาย รัฐบาล แต่ที่สำคัญคือประชาชน หรือประชาชาติที่เท่าเทียมกัน สมัครใจร่วมอยู่ในดินแดนนั้นและตั้งให้บางคน บางกลุ่มมีอำนาจปกครอง คือมีนัยยะที่มาจากข้างล่าง เพราะเกิดการปฏิวัติโดยชนชั้นกลาง เกิดการต่อสู้ ลดอำนาจสถาบันกษัตริย์ จนถึงโค่นสถาบันกษัตริย์ขึ้นมากมาย เพื่อจัดตั้งรัฐประชาชาติขึ้น ไม่ว่าจะยอมให้กษัตริย์ยังคงมีอยู่หรือไม่ก็ตาม นี่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชน ช่วงระหว่างรัฐศักดินาสู่รัฐประชาชาติ ระยะตรงกลางที่กินเวลายานนานพอสมควรในประวัติศาสตร์ยุโรป คือ Absolutist state คือการที่กษัตริย์มีอำนาจรวมศูนย์ พอเป็นรัฐประชาชาติ อำนาจรวมศูนย์ไม่ได้อยู่ที่กษัตริย์แล้ว” ธงชัย กล่าว