รายงานระบุว่า ภูเขาไฟรูอังในจังหวัดสุลาเวสีเหนือ ทีมีความสูง 725 เมตร ปะทุครั้งแรกเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (16 เม.ย.) เวลา 21.45 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้เกิดกลุ่มควันและเถ้าฝุ่นลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า หลังจากนั้น ภูเขาไฟรูอังเกิดการปะทุขึ้นอีก 4 ครั้งในวันพุธ (17 เม.ย.) ในขณะที่หน่วยงานด้านภูเขาไฟของอินโดนีเซีย ได้ประกาศยกระดับการแจ้งเตือนเป็นระดับ 4 หรือการประกาศเตือนขั้นสูงสุด
หน่วยงานด้านภูเขาไฟของอินโดนีเซียยังประกาศขยายเขตเตือนภัยรอบปล่องภูเขาไฟจากระยะทาง 4 กิโลเมตร เป็น 6 กิโลเมตร โดยจากรายงานเบื้องต้นระบุว่า ทางการอินโดนีเซียมีการอพยพประชาชนมากกว่า 800 คนจากเรืองไปยังเกาะตากูลันดังที่อยู่ใกล้เคียงกัน ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองมานาโด เมืองหลวงของจังหวัดไปทางเหนือมากกว่า 100 กิโลเมตร
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียกล่าวเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี (18 เม.ย.) ว่า ประชาชนจำนวนมากจะต้องอพยพเพิ่มเติม อันเป็นผลมาจากการประกาศขยายเขตกีดกันที่กว้างขึ้น และประชาชนจะได้รับการอพยพไปยังเมืองมานาโด “ประชาชนอย่างน้อย 11,615 คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงจะต้องอพยพไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย” อับดุล มูฮารี หัวหน้าศูนย์ข้อมูลภัยพิบัติ การสื่อสาร และข้อมูลของหน่วยงานภัยพิบัติ กล่าวกับหนังสือพิมพ์คอมปัส
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียยังกังวลว่า ส่วนหนึ่งของดินและหินจากภูเขาไฟอาจถล่มลงสู่ทะเลและทำให้เกิดสึนามิเหมือนที่เคยเกิดขึ้นระหว่างการปะทุครั้งก่อนในปี 2414 ทั้งนี้ มีการเผยแพร่ภาพวิดีโอแสดงให้เห็นธารลาวาสีแดงไหลลงมาตามภูเขา พร้อมกันกับแสงสะท้อนอยู่ในผืนน้ำเบื้องล่าง และมีเมฆเถ้าสีเทาเป็นลูกคลื่นอยู่เหนือปล่องภูเขาไฟ
ก่อนหน้านี้ มูฮัมหมัด วาฟิด หัวหน้าหน่วยงานทางธรณีวิทยาของอินโดนีเซีย กล่าวว่าการปะทุครั้งแรกของภูเขาไฟรูอัง ได้ส่งเถ้าถ่านลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร และการปะทุครั้งที่สองได้ดันให้เถ้าถ่านพุ่งสูงขึ้นถึง 2.5 กิโลเมตร
เจ้าหน้าที่การบินของอินโดนีเซีย ได้ประกาศปิดสนามบินนานาชาติซัม ราตูลังกี ในเมืองมานาโดจนถึงช่วงเย็นวันพฤหัสบดีเป็นอย่างน้อย “เนื่องจากเถ้าภูเขาไฟแพร่กระจายอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในการบิน”
นอกจากนี้ เที่ยวบินเข้าและออกจากสนามบินนานาชาติโคตาคินาบาลูในประเทศมาเลเซีย ยังหยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้โคตาคินาบาลูตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเกาะบอร์เนียวของมาเลเซีย ห่างจากภูเขาไฟรูอังออกไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 1,100 กิโลเมตร
หน่วยงานด้านภูเขาไฟอินโดนีเซียกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวบริเวณภูเขาไฟรูอังมีเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหว 2 ครั้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ อินโดนีเซียซึ่งตั้งอยู่ตามแนว 'วงแหวนแห่งไฟ' ซึ่งเป็นแนวรอยเลื่อนเปลือกโลกรูปเกือกม้ารอบมหาสมุทรแปซิฟิก มีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ 120 ลูก
ก่อนหน้านี้ในปี 2561 การระเบิดของภูเขาไฟอานัก กรากะตัวในอินโดนีเซีย ทำให้เกิดสึนามิตามแนวชายฝั่งสุมาตราและชวา หลังจากที่ภูเขาบางส่วนตกลงสู่มหาสมุทร ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าหลายร้อยคน
ที่มา: