รวมทั้งการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยใช้ห้องประชุมของ ส.ว. ไปก่อน
ขณะที่ห้องประชุมสุริยัน ซึ่งจะใช้รองรับการประชุุมของ ส.ส. รวมทั้ง ส.ว. มีพื้นที่รองรับสมาชิกผู้ทรงเกียรติได้ถึง 800 ที่นั่ง และมีที่นั่งของคณะรัฐมนตรี 59 ที่นั่ง ส่วนชั้นลอยซึ่งเป็นที่สำหรับประชาชนที่เข้ามาเยี่ยมชมสภา อีก 350 ที่นั่ง
ซึ่งคาดว่าห้องประชุมสุริยันจะเปิดให้ใช้ได้ภายในการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 22 พ.ค.-18 ก.ย. 2563 ซึ่งจะใช้รองรับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา
ล่าสุดเว็บไซต์รัฐสภาไทย ได้เผยแพร่เอกสารรายงานความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ประจำเดือน ธ.ค. 2562 ลงวันที่ 15 ม.ค. 2563 ซึ่งนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
รายงานดังกล่าวได้สรุปความก้าวหน้าการก่อสร้าง หลังจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณาอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการก่อสร้าง ครั้งที่ 4 จำนวน 382 วัน จากสาเหตุงบประมาณและการจัดจ้างผู้รับจ้างรายอื่น (งานนอกสัญญา) เข้ามาดำเนินการล่าช้าไปสิ้นสุด วันที่ 31 ธ.ค. 2563 ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่ขยายออกไป
ระยะเวลาตามสัญญารวม 2,764 วัน ดำเนินการมาแล้วถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2562 จำนวน 2,398 วัน คงเหลือระยะเวลาก่อสร้างอีก 366 วัน ซึ่งผลงานผู้รับจ้างทำได้แล้วร้อยละ 73.22
ขณะเดียวกัน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยังรายงานปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยระบุว่า แบบรูปและรายละเอียดที่ผู้ออกแบบ (สงบ 1051) ส่งมอบให้สำนักงานฯ นั้นมีจำนวนแบบและรายละเอียดมาก จึงทำให้แบบรูปและรายละเอียดขัดแย้งกัน หรือแบบไม่สมบูรณ์ เช่น งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรม งานระบบปรับอากาศ งานระบบสุขาภิบาล เป็นต้น
(ห้องประชุมสุริยัน ซึ่งคาดว่าจะใช้ได้ในการประชุมรัฐสภา สมัยสามัญปีที่ 2 เดือนพ.ค.นี้)
โดยแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น สำนักงานฯ ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาและผู้ควบคุม ตรวจสอบข้อมูลและรายละเอียดตามที่ผู้รับจ้างแจ้ง และประสานแจ้งข้อมูลดังกล่าวให้ผู้ออกแบบตรวจสอบหรือให้ข้อมูลแบบเพิ่มเติมเพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถทำงานก่อสร้างได้ โดยเสนอคณะกรรมการตรวจการจ้างฯ พิจารณา ในกรณีที่เป็นงานเปลี่ยนแปลงตามสัญญา ข้อ 19 หรือกรณีที่พิจารณาแล้วเป็นเรื่องความคลาดเคลื่อนของแบบที่ผู้รับจ้างจะต้องทำตามสัญญาข้อ 17
ส่วนความล่าช้าในการดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างงานท่อ สาย เต้ารับ และการจ้างที่ปรึกษาและจ้างผู้ควบคุมงานทำให้กระทบการทำงานของผู้รับจ้างงานด้าน ICT และผู้รับจ้างหลัก ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับงานนอกสัญญาหลัก เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2561 จำนวน 4.81 พันล้านบาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ โดนอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 - 2563
ปัจจุบันสำนักงานฯได้ดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างได้ผู้รับจ้างงาน ICT เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 ผู้รับจ้างงานสาธารณูปโภคสาธารณูปการฯ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562
สำหรับงานท่อ สาย เต้ารับ และงานจ้างที่ปรึกษาและผู้ควบคุมงาน สำนักงานฯ ยังอยู่ระหว่างการจัดจ้างยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดที่ต้องได้ผู้รับจ้างภายในเดือน ธ.ค. 2561มามากแล้ว ทำให้กระทบกับการทำงานของผู้รับจ้างหลักและยังกระทบผู้รับจ้างงาน ICT ด้วย ซึ่งหากการดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างส่วนที่เหลือยังล่าช้าออกไปจะส่งผลให้การก่อสร้างและกำหนดการแล้วเสร็จของโครงการต้องขยายออกไปอีก
นายสรศักดิ์ ยังชี้แจงผ่านรายงานดังกล่าวถึงแนวทางการแก้ไขเบื้องต้น ไว้ 2 ข้อ
1.สำนักงานฯได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาฯ ติดตามและเร่งรัดให้มีการพิจารณาดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างงานงานท่อสายสัญญาณฯ และงานจ้างที่ปรึกษาและจ้างผู้ควบคุมงาน สำหรับงานนอกสัญญาหลักให้ได้ผู้รับจ้างโดยเร็วที่สุด เพราะหากล่าช้าออกไปจะทำให้ส่งผลกระทบกับการก่อสร้างในภาพรวมทั้งโครงการ และยังกระทบกับพื้นที่ส่วนที่ผู้รับจ้างเร่งรัดการก่อสร้างอีกด้วย และจะเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างนำมาอ้างในการขอขยายระยะเวลาการก่อสร้างออกไป
2. สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการจัดจ้างผู้รับจ้างงานนอกสัญญาหลักส่วนที่เหลือ ดังนี้
-งานสายสัญญาณ (ท่อ สาย เต้ารับ) สำนักงานฯ ได้ดำเนินการเจรจาและจ้าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยวิธีเฉพาะเจาะจง ให้เป็นผู้รับจ้าง ซึ่งขณะนี้สำนักงานฯ อยู่ระหว่างประสานขอทำความตกลงงบประมาณในการจ้างกับสำนักงบประมาณ เพื่อที่สำนักงานฯ จะได้ลงนามสัญญาจ้างได้ ซึ่งคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน ก.พ. 2563
-ค่าจ้างควบคุมงานฯ สำนักงานฯ อยู่ระหว่างดำเนินการจ้าง
-งานจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการฯ สำนักงานฯ อยู่ระหว่างการจ้าง
ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2563 ขณะเข้าตรวจความคืบหน้าห้องประชุมสุริยัน ถึงการต่อสัญญาการก่อสร้างในรอบที่ 5 ว่า เป็นเรื่องของฝ่ายข้าราชการของรัฐสภา ส่วนตัวก็ได้ติดตามทุกสัปดาห์ แต่ทั้งนี้ต้องทำให้เสร็จตามสัญญา ไม่ควรจะเปลี่ยนแปลงอีก เพราะถ้าต่อสัญญาอีกครั้งจะถูกวิจารณ์อย่างหนัก แต่อาจจะมีบางส่วนที่ล่าช้า อย่างระบบร้อยสายที่ทางเลขาธิการสภาฯ รายงานว่าหาผู้รับเหมายาก
ทั้งนี้ นายชวน ยังย้ำว่าห้องประชุมสุริยันจะพยายามให้เสร็จก่อนเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญครั้งหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือน พ.ค.นี้ (ปีที่ 2 ครั้งที่ 1 วันที่ 22 พ.ค. 2563 - 18 ก.ย. 2563)
โครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย แม้จะมีการขยายสัญญามาก่อนหน้านี้ถึง 3 ครั้ง โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 25 พ.ย. 2558 จนล่วงเลยเข้าสู่การขยายสัญญาครั้งที่ 4 และหากนับไปถึงวันที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภาได้เห็นชอบให้ พื้นที่ราชพัสดุ ถนนทหาร(เกียกกาย) เขตดุสิต แปลงติดแม่น้ำเจ้าพระยา เนื้อที่ 119 ไร่ เป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ก็ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2551
นับรวมแล้วเป็นเวลาเกือบ 12 ปีแล้วที่ยังสร้างไม่เสร็จ และยังต้องลุ้นกันต่อไปว่า รัฐสภาแห่งใหม่นี้จะเสร็จสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2563 หรือไม่!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง