ไม่พบผลการค้นหา
รำลึก 14 ปี 'นวมทอง ไพรวัลย์' ขับแท็กซี่พุ่งชนรถถัง 'คณะรัฐประหาร คมช.' จากเหตุการณ์ยึดอำนาจ 'ทักษิณ ชินวัตร' เมื่อ 19 ก.ย. 2549 ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาบนเวทีการต่อสู้ของกลุ่มนิสิตนักศึกษา

'ลุงไม่อยากจะอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ' ถ้อยคำ 'นวมทอง ไพรวัลย์' สะท้อนผ่านเจตจำนงลุกต้านคณะรัฐประหาร ลบคำสบประมาทกลุ่มคนยึดอำนาจ ผ่านโศกนาฏกรรมทางการเมือง

ครบรอบ 14 ปี 30 ก.ย. พ.ศ. 2549 หลังการรัฐประหารครั้งที่ 12 เหตุการณ์ 'นวมทอง ไพรวัลย์' หรือ 'ลุงนวมทอง' อดีตพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ขับรถแท็กซี่ รุ่นโคโรล่า สีม่วง ทะเบียน ทน 345 กรุงเทพมหานคร ของบริษัทสหกรณ์แหลมทองแท็กซี่ จำกัด พุ่งชนรถถังของคณะรัฐประหาร ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ด้วยอุดมการณ์ที่เด็ดเดี่ยวแม้ตัวตาย เพื่อต่อต้านการยึดอำนาจรัฐบาล 'ทักษิณ ชินวัตร' โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จนบาดเจ็บสาหัส 

ยามค่ำคืนวันที่ 31 ต.ค. ในปีเดียวกัน หรือ อีก 1 เดือนต่อมา เขาได้ตัดสินใจพลีชีพด้วยการแขวนคอ ที่บริเวณบริเวณสะพานลอย หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อลบคำปรามาสของ พ.อ.อัคร ทิพโรจน์ รองโฆษกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้" 

นอกจากนี้ชุดที่ 'นวมทอง' สวมใส่ได้สกรีนข้อความของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ที่ระบุว่า 

“อันประชา สามัคคี มีจัดตั้ง เป็นพลัง 

 แกร่งกล้า มหาศาล แสนอาวุธ แสนศัตรู 

 หมู่อันธพาล ไม่อาจต้าน แรงมหาประชาชน”


ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ
แฟลชม็อบ สนามหลวง 8370_3960613789008079797_n.jpg
  • ค่ำคืนชุมนุม 19 ก.ย. 2563

ผ่านไป 14 ปี ชื่อของ 'นวมทอง ไพรวัลย์' ยังไม่เลือนหาย ผู้คนต่างยังคงจัดงานรำลึกวีรชนผู้ต่อต้านอำนาจเผด็จการ ดอกกุหลาบและแสงเทียนยังคงส่องสว่าง

เมื่อค่ำคืนของวันที่ 19 ก.ย. 2563 บนท้องทุ่งสนามหลวง กลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมระดมพลลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายทหารผู้กุมอำนาจบริหารมาแล้วกว่า 6 ปี 

"ลุงไม่อยากอยู่แล้ว ลุงต้องการให้โลกรู้ต้องการสร้างประวัติศาสตร์ ว่าปฏิวัติครั้งนี้มีแท็กซี่ชนรถถังจนกระทั่งตัวตาย ลุงบอกตรงๆ ว่าลุงไม่อยากจะอยู่ใต้อำนาจเผด็จการ"

ในห้วงเวลาราวม 00.00 น. ขณะที่ผู้ชุมนุมต่างฟังคำปราศรัย ด้วยความเดือดดาลของแกนนำ ภาพของ 'นวมทอง' ได้ปรากฎขึ้นบนหน้าจอเบื้องหลังของผู้ปราศรัย ผ่านคลิปวิดีโอประกอบบทเพลง 'ความฝันอันสูงสุด'

เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์สัมภาษณ์ 'นวมทอง' โดย 'จอม เพชรประดับ' ผู้สื่อข่าว ITV ในขณะนั้น รวมถึงภาพเศษซากรถแท็กซี่ที่ย่อยยับ และรำลึกการต่อสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงตั้งแต่สมัย นปก. จนถึง นปช. ซึ่งหลายชีวิตได้ถูกคมกระสุนสังหารไปกว่า 100 ราย และบาดเจ็บกว่า 2,000 ราย 

ถือเป็นปรากฎการณ์สำคัญ นับตั้งแต่มีการรัฐประหาร 2 ครั้งในรอบ 14 ปี กลุ่มคนเสื้อแดงได้ถอยกลับที่ตั้งจากบาดแผลทั้งกายและใจ การด้อยค่าของความเป็นมุษย์ของผู้คนในสังคม

เรื่องราวการต่อสู้ได้ถูกนำมาพูดถึงอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นถ้อยคำจากแกนนำหรือการใช้ศิลปะและบทกวี เพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมที่ชะโลมด้วยรอยเลือดของผู้คน ได้ลางเลือนไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง