ผักบุ้ง - วลัญช์ภัทร์ มะยม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านโรคผิวหนัง อายุ 31 ปี และ Miss Trans Star Thailand 2019 ซึ่งจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประกวด Miss Trans Star International ที่ประเทศสเปน ในเดือนธันวาคมนี้ ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'วอยซ์ออนไลน์' ถึงความเข้าใจผิดในทางการแพทย์ 'นางงามสาวประเภทสองส่วนใหญ่ต้องอ๊องยาคุมหรือฮอร์โมน' ว่า ตนได้ยินคำนี้มานาน แต่ขอปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนไม่ได้มีผลต่อความคิดหรือสติปัญญาแน่นอน เพราะตนเองก็เทคฮอร์โมนอยู่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตามมีผลการวิจัยออกมาว่าการเทคฮอร์โมนมีผลข้างเคียงด้วย เช่น สรีระผู้ชายที่มีกล้ามเนื้อมัดใหญ่ แต่เมื่อเทคฮอร์โมนทำให้กล้ามเนื้อมัดเล็กลง ดังนั้นหากยังทำกิจวัตรเหมือนเดิม ที่ใช้แรงมากก็จะทำให้ผู้ที่เทคฮอร์โมนรู้สึกหมดแรงหรือเหนื่อยง่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ฮอร์โมนมีผลต่ออารมณ์ เช่น ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์เร็ว แต่ไม่มีผลต่อสมาธิหรือการให้ความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ IQ จะเกี่ยวกับการใช้หรือไม่ใช้มากกว่า ถ้าใช้มากก็จะพัฒนา แต่ถ้าไม่ใช้ก็จะฝ่อ เช่น ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนสมองดีก็มีอยู่มากมาย ซึึ่งสาวประเภทสองที่ตัดอัณฑะ หรืออวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเพศไปแล้ว และรับฮอร์โมนจากการเทคยา ก็จะเหมือนกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่มดลูกไม่ได้มีหน้าที่ในการผังตัวอ่อน หรือรังไข่ไม่มีหน้าที่ปฏิสนธิแล้ว และอวัยวะที่สร้างฮอร์โมนเหล่านี้เหล่านี้ฝ่อไป
วลัญช์ภัทร์ที่เทคฮอร์โมนมา 12 ปี ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เล่าว่า อาการอ๊อง หรือคิดอะไรไม่ออก โดยเฉพาะการตอบคำถามบนเวที น่าจะเกิดจากการที่ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่คิดจะพูดมานานๆ หรือไม่ได้ให้ความสนใจมาก่อน พอมีคนมาถามก็ต้องใช้เวลาคิดนานหน่อย แต่การเทคฮอร์โมนไม่ได้ทำให้ความรู้ช้าลงหรือนั่งเหม่อลอย
ส่วนการตอบคำถามบนเวทีอาจจะมาจากการตอบคำถามโดยห่วงสวย ไม่เป็นตัวเอง ประสบการณ์ในการตอบคำถาม หรือไม่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องที่จะพูดภายในระยะเวลาอันจำกัด บางครั้งเอาหัวมาต่อท้าย เอาหางขึ้นก่อนเพราะเร่งรีบคำตอบก็อาจจะดูตลก ทุกคนมีความคิดอยู่ในใจ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเรียบเรียงออกมาได้สวยหรือเปล่า ซึ่งเทคนิคของเธอในการตอบคำถามบนเวทีนางงาม คือการเป็นตัวของตัวเอง ตอบในสิ่งที่คิด นอกจากนี้ในเรื่องความขี้หลงขี้ลืม ก็ไม่ได้มาจากการเทคฮอร์โมน เธอคิดว่าเป็นเหมือนกันทุกคนทุกเพศทุกวัย ไม่ใช่แค่สาวประเภทสอง
อย่างไรก็ตามเธอมีคำแนะนำให้กับคนที่ต้องการเทคฮอร์โมน ว่าต้องตรวจสุขภาพและระดับฮอร์โมนเป็นประจำ และยังไม่ต้องรีบเทคตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะการเทคฮอร์โมนจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านมในชาย ซึ่งรุนแรงกว่าผู้หญิง การเทคฮอร์โมนจะไปยับยั้งโครงสร้างบางอย่างของร่างกาย อวัยวะภายใน เลือดแข็งตัวเร็วขึ้น มีความหนืดมากขึ้น เวลานั่งเครื่องบินนานๆ อาจทำให้ลิ่มเลือดไปอุดตันที่สมอง เพราะประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่มาดูแลคนข้ามเพศโดยตรง มีแต่มูลนิธิฟ้าสีรุ้งที่ให้บริการตรวจฮอร์โมนและให้คำปรึกษา ส่วนใครจะใช้ฮอร์โมนเมื่อไหร่และใช้ในปริมาณไหน ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อดูปัจจัยในร่างกายของตนเอง และถ้ามีเต้านมต้องตรวจมะเร็งเต้านมเป็นประจำ
ทั้งนี้เธอยังย้ำว่า การกินยาคุม ยิ่งกินยิ่งสวย หรือกินย้อนแผงจะสวยขึ้นไม่เป็นความจริง เพราะทุกเม็ดเหมือนกัน คือ เป็นยาสเตียรอยด์ ถ้าสะสมในร่างกายเยอะก็จะกดภูมิคุ้มกัน ในความเป็นจริงยาคุมหรือฮอร์โมนควรจะกินเพื่อกดภูมิที่ตนไม่ต้องการเช่น กดฮอร์โมนเพศชายเท่านั้น และถ้าใครที่คิดจะเริ่มกิน เธอแนะนำว่ารอให้บรรลุนิติภาวะและดูแลตนเองได้ อายุ 21 ปีก็ยังไม่สาย หรือถ้าต้องการต้านฮอร์โมนเพศชาย เริ่มตอนอายุ 16 ปี ก็ยังทัน
"อยากให้เราแต่งชาย พูดครับ มันคือการหลอกลวงคนไข้มากกว่า เราไม่ได้เป็นแบบนั้น"
ผักบุ้งเล่าต่อว่า ตัวเองเป็นลูกชายคนที่สองของครอบครัว ถูกคาดหวังความเป็นชายจากพ่อและแม่ จนตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เริ่มไว้ผมยาวและเทคฮอร์โมนจนดูมีหน้าอก ได้ตัดสินใจพูดความจริงกับแม่ด้วยการส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์ว่าต้องการเป็นผู้หญิง แม้แม่จะรับได้ แต่อุปสรรคสำคัญในชีวิตที่ต้องเจอคือการเลือกปฏิบัติของอาจารย์ในคณะเนื่องจากก่อนจบต้องขึ้นวอร์ดวิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ซึ่งอาจารย์เรียกร้องให้แต่งกายในชุดผู้ชายขณะที่ไปตรวจคนไข้
เธอเลือกปฏิเสธการเรียกร้องของอาจารย์เพื่อแสดงความจริงใจ แต่นั่นก็ทำให้เธอได้เกรด F วิชานี้ถึง 3 ครั้ง และเรียนจบช้ากว่าเพื่อน 1 ปี โดยอาจารย์อ้างว่า "ความรู้ไม่เพียงพอและต้องให้เกียรติคนไข้ที่เป็นผู้หญิง" ถึงขั้นเรียกเธอไปตักเตือนและบอกว่า ถ้าไม่เปลี่ยนชุดเป็นผู้ชายจะเอาป้ายแขนคอว่า "นักศึกษาชาย" ก่อนขึ้นวอร์ด จนเธอรู้สึกท้อว่าทำไมเราเกิดมาเป็นแบบนี้ เราตั้งใจเรียน แต่ทำไมผลที่ได้คือต้องซ้ำชั้นกับรุ่นน้องถึง 2 ครั้ง จนสุดท้ายมีอาจารย์ที่เป็น LGBT เข้าใจและช่วยเหลือเธอจนจบการศึกษา เพราะเห็นว่าเธอทำงานได้ และมีความรู้ความสามารถ ซึ่งวิชาอื่นๆ หลังจากได้เกรด F วิชานี้ก็ได้เกรด A เกือบทุกตัว
หลังจากเรียนจบเธอได้ทำหนังสือเพื่อขออนุญาตแต่งกายด้วยชุดผู้หญิงไปสอบใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งถือเป็นคนแรก เพราะที่ผ่านมาไม่มีนักศึกษาแพทย์ที่เป็นสาวประเภทสอง นักศึกษาแพทย์ LGBT บางคนก็ต้องแต่งชาย แล้วค่อยมาเปลี่ยนเป็นผู้หญิงหลังจบการศึกษา
"ฉันรู้ว่าฉันคือผู้หญิงและจะไม่มีใครมีสิทธิ์มาดูถูกฉัน เพราะฉันรู้ว่าฉันมีค่ามากพอ"
หลังจบการศึกษา ผักบุ้งเริ่มทำงานเป็นแพทย์เต็มตัว และไม่มีใครดูถูกหรือกลั่นแกล้งเธออีก
วลัญช์ภัทร์ บอกว่า ใช้ความสามารถและความจริงใจรักษาคนไข้ตลอดมา เพราะแม่ตัวเองก็มีอาชีพเป็นพยาบาลและได้ตามแม่ไปทำงานตั้งแต่เด็กๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ถ้าเเพทย์ใส่ใจและพูดจาดีกับคนไข้ จะทำให้คนไข้มีกำลังใจพร้อมต่อสู้่กับโรคที่กำลังเผชิญเป็นอย่างมาก
ความมืออาชีพ ความสามารถและการเอาใจใส่ของเธอ ส่งผลให้เธอเป็นที่รักและได้รับการยอมรับจากของคนไข้ โดยไม่มีใครตั้งคำถามเรื่องเพศสภาพ
หลังจากสะสมประสบการณ์ ณ โรงพยาบาลและคลินิกหลายแห่ง เธอสามารถรวบรวมตันทุนทั้งที่เป็นตัวเงินและความสามารถ เปิดคลินิกผิวหนังและเสริมความงามในชื่อ 'Lady Reborn Clinic'
และหลังจากที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เธอเลือกที่จะทำตามฝันอีกหนึ่งอย่างในชีวิต คือ การประกวด Miss Trans Star ซึ่งเป็นเวทีที่เน้นการรณรงค์เพื่อลดความรุนแรงต่อ LGBTQ โดยโครงการที่เธอทำและเตรียมนำเสนอต่อคนทั่วโลกในการประกวดที่ประเทศสเปน เดือนธันวาคมนี้ คือ โครงการช่วยเหลือเด็กไร้บ้าน ให้มีโอกาสได้รับการศึกษาและมีสุขภาวะที่ดี เพื่อเติบโตขึ้นมาเป็นอนาคตของประเทศชาติ
นอกเหนือจากนี้ 'วลัญช์ภัทร์' ยังมีความฝันที่หวังทำให้กลายเป็นจริง ด้วยการเปลี่ยนแปลง "คำนำหน้าชื่อ" ซึ่งทุกวันนี้เธอยังถูกใช้คำนำหน้าว่า 'นาย' ซึ่งทำให้รู้สึกเป็นตัวตลกทุกครั้งที่ถูกเรียกในที่สาธารณะ
เธอมองว่า สิ่งที่ร้องขอไม่ใช่สิทธิที่มากเกินกว่าพลเมืองทั่วไป แต่เป็นการเรียกร้องสิทธิที่ขาดหายไปของพลเมืองกลุ่มหนึ่งให้กลับคืนมาเท่านั้น